ISAN Insight & Outlook สิพามาเจาะลึก ประวัติ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์
ISAN Insight & Outlook สิพามาเจาะลึก ประวัติ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ “ เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี ” แพรวา หรือ ผ้าไหมแพรวาเป็นผ้าทอมืออันเป็นการทอผ้าแพรวามีมาพร้อมกับวัฒนธรรมของชาวภูไท ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในบริเวณแคว้นสิบสองจุไทย (ดินแดนส่วนเหนือของลาว และ เวียดนาม ซึ่งติดต่อกับดินแดนภาคใต้ของจีน) อพยพเคลื่อนย้ายผ่านเวียดนาม ลาว แล้วข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพานทางภาคอีสานของไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร โดยยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย และการทอผ้าไหมที่มีภูมิปัญญาในการทอด้วยการเก็บลายจากการเก็บขิด และการจก ที่มีลวดลายโดดเด่น ที่มีภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก บรรพบุรุษและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ผ้าแพรวาจึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจาก กลุ่มภูไท ผ้าแพรวามีความหมายรวมกันว่า ผ้าทอเป็นผืนที่มีขนาดความยาว 1 วา หรือ 1 ช่วงแขน ใช้สำหรับคลุมไหล่หรือห่มสไบเฉียงที่เรียกว่าผ้าเบี่ยงของชาวผู้ไทย ซึ่งใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆ โดยประเพณีทางวัฒนธรรมของหญิงสาวชาวภูไทจะต้องยึดถือปฏิบัติคือ จะต้องตัดเย็บผ้าทอ 3 อย่างคือ เสื้อดำ ตำแพร (หมายถึงการทอผ้าแพรวา) ซิ่นไหม ผ้าแพรวานิยมทอด้วยไหมทั้งผืน มีสีสัน ลวดลาย ที่หลากหลายนับเป็นผ้าไทยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมสูง ในหมู่ผู้นิยมผ้าไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีการทอผ้าไหมแพรวาที่งดงามและมีชื่อเสียง ผ้าแพรวาได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จ พระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอคำม่วง เมื่อปี พ.ศ. 2520 ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวภูไท บ้านโพน แต่งตัวโดยใช้ผ้าแพรวาห่มตามแบบสไบเฉียง หรือเรียกว่า ผ้าเบี่ยง ได้ทรงสนพระทัยมากจึงโปรดให้มีการสนับสนุน และได้มีพระราชดำริให้ขยายหน้าผ้าให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะได้นำไปใช้เป็นผ้าผืนสำหรับตัดเสื้อผ้าได้ อีกทั้งพัฒนาลวดลายให้เหมาะสมตามความต้องการของตลาด การพัฒนาการทอผ้าแพรวาเกิดขึ้นเพราะพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถที่ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นความงาม และคุณค่าแห่งศิลปะชิ้นนี้ในครั้งนั้น – ลวดลายและกรรมวิธีการทอ ลวดลายผ้าแพรวานับเป็นผ้ามรดกของครอบครัว โดยในแต่ละครัวเรือน จะมี ผ้าแซ่ว ซึ่งเป็นผ้าไหมส่วนใหญ่ทอพื้นสีขาว ขนาดประมาณ 25 x 30 เซนติเมตร มีลวดลายต่าง ๆ เป็นต้นแบบลายดั้งเดิมแต่โบราณที่ทอไว้บนในผืนผ้าเป็นแม่แบบดั้งเดิมที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ บนผ้าแซ่วผืนหนึ่งๆมีอาจลวดลายมากถึงประมาณกว่าร้อยลาย การทอผ้าจะดูลวดลายจากต้นแบบในผ้าแซ่วโดยจะจัดวางลายใดตรงส่วนไหน หรือให้สีใดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ทอ เกิดเป็นเอกลักษณ์ของผ้าแพรวาจากการวางองค์ประกอบของลวดลายต้นแบบและการให้สีสรรของผู้ทอ ลวดลายของแพรวามีลักษณะคล้ายคลึงกับลายขิดอีสาน แตกต่างกันอยู่บ้างที่ ความหลากหลายของสีสันในแต่ละลวดลาย แต่มีลักษณะรวมกันคือ ลายหลักมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของลายผ้า ส่วนสีสันบนผ้าแพรวาแต่เดิมนิยมพื้นสีแดงคล้ำย้อมด้วยครั่ง มีลายจกสีเหลือง สีน้ำเงิน สีขาว และสีเขียวเข้มกระจายทั้งผืนผ้าสอดสลับในแต่ละลายแต่ละแถว ส่วนประกอบของผ้าแพรวา ผ้าแพรวา เป็นผ้าทอจากเส้นใยไหม ที่มีลักษณะลวดลายผสมกันระหว่างลายขิดและจกบนผืนผ้า ในกระบวนการขิดจะใช้วิธีเก็บลายขิดบนผ้าพื้นเรียบโดยใช้ไม้เก็บขิด คัดเก็บขิดยกลายโดยต้องนับจำนวนเส้นไหมแล้วใช้ไม้ลายขิดสานเป็นลายเก็บไว้ ในการทอเก็บลายจะแบ่งเป็นช่วง แต่ละช่วงเก็บลายไม่เหมือนกัน …
ISAN Insight & Outlook สิพามาเจาะลึก ประวัติ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ อ่านเพิ่มเติม »