พามาเบิ่ง 4 จังหวัดภาคอีสาน
ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ
ภาครัฐประกาศแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อเรียกว่า “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ” โดยแบ่งไปตามพื้นต่าง ๆ และใช้จุดแข็งของแต่ละพื้นที่มาเป็นจุดขาย พ่วงด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอด โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเน้น Bio Economy ภาคเหนือเน้นเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภาคกลาง-ตะวันตกมุ่งพัฒนาไปสู่สินค้าเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง และอุตสาหกรรมสินค้าไฮเทค และภาคใต้ก้าวไปสู่การเป็นประตูเศรษฐกิจการค้า
“ระเบียงเศรษฐกิจ” พิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : NeEC ต่อกันด้วยระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย โดยมุ่งพัฒนาไปสู่การเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมหมุนเวียน-Bio Economy และการเกษตรอย่างยั่งยืน”
เนื่องจากมีพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่และเป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอ้อย มันสำปะหลัง และข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิ ที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดและมีคุณภาพดีที่สุดของประเทศ
ดังนั้นเมื่อนำไปผสมผสานเข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็จะช่วยทำให้เกิดการยกระดับการทำเกษตรกรรมเพื่อให้มีผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณมากขึ้นแต่ใช้ต้นทุนเท่าเดิมหรือลดลง ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มโอกาสส่งขายไปยังประเทศขนาดใหญ่และประเทศเพื่อนบ้านได้มากยิ่งขึ้น อันนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) ทั้งประเทศลาว เวียดนาม และจีน
อีกทั้ง เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) คือ พื้นที่เศรษฐกิจใหม่บริเวณชายแดน เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งแก้ปัญหาความมั่นคง โดยพื้นที่ SEZ ถูกจัดตั้งขึ้นในพื้นที่จังหวัดตามชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย โดยตั้งอยู่ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย กาญจนบุรี นราธิวาส หนองคาย นครพนม ตราด สงขลา ตาก สระแก้ว และมุกดาหาร
สำหรับยอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ของปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหารอีกด้วย
อ้างอิงจาก:
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กรุงเทพธุรกิจ, moneybuffalo, workpointtoday
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ได้ที่
Instagram : https://www.instagram.com/isan.insight.and.outlook/
Website : https://isaninsight.kku.ac.th
Youtube : https://youtube.com/@ISANInsightOutlook
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อีสานอินไซต์ #BCGEconomy #บีโอไอ #ระเบียงเศรษฐกิจ #NeEC #SEZ