หนี้ครัวเรือนไทย เพิ่มขึ้นทั้งสัดส่วนของครัวเรือนและจำนวนหนี้ หวั่นอีสานครองแชมป์อีกปี
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2564 (ในช่วง 6 เดือนแรก) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย และภาวะหนี้สินของครัวเรือน สรุปได้ดังนี้ . 1. ครัวเรือนทั่วประเทศ มีรายได้ทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 28,454 บาท . ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงาน 18,888 บาท (คิดเป็น 66.4%) ประกอบด้วย ค่าจ้างและเงินเดือน 12,052 บาท, กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจ 4,607 บาท และกำไรสุทธิจากการทำการเกษตร 2,229 บาท . รองลงมาเป็นรายได้ที่ไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งอยู่ในรูปสวัสดิการ/สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ได้รับมาโดยไม่ต้องซื้อ 4,879 บาท (17.1%), รายได้จากเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐหรือบุคคลอื่นนอกครัวเรือน 4,080 บาท (14.3%) และรายได้ไม่ประจำและจากทรัพย์สิน 607 บาท (2.2%) . เมื่อพิจารณารายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนปี 2554 ถึง 2564 จะพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 23,236 บาท ในปี 2554 เป็น 26,946 บาท ในปี 2560 และลดลงในปี 2562 เหลือจำนวน 26,018 บาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก่อนจะกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่รัฐอุดหนุน ทั้งที่รัฐจ่ายเงินเข้าบัญชีให้แก่ประชาชน และการอุดหนุนในรูปแบบที่ไม่เป็นตัวเงินผ่านแอปพลิเคชัน คูปอง หรือในรูปแบบการลดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น . 2. ครัวเรือนทั่วประเทศ มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 22,325 บาท . ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 19,353 บาท (คิดเป็น 86.7%) ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคที่ครัวเรือนซื้อหรือจ่ายเงินเอง 14,676 บาท และค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคที่ครัวเรือนไม่ได้ซื้อหรือจ่ายเงินเอง ซึ่งรวมไปถึงโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง เราชนะ หรือแม้แต่การลดค่าสาธารณูปที่เป็นค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า เป็นต้น 4,678 บาท . ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย เป็นต้น) 2,972 บาท (13.3%) เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนปี 2554 …