สารพัดปัจจัยรุมเร้า เตรียมรับมือกับราคาสินค้าและค่าบริการที่อาจสูงขึ้นอีก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทุเลาลง เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวและมีผลต่อเนื่องให้ความต้องการบริโภคสูงขึ้น เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบจาก 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นมามากกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปีนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงระดับที่ภาครัฐต้องออกมาควบคุมไม่ให้น้ำมันกลุ่มดีเซลมีราคาสูงไปกว่าลิตรละ 30 บาท
.
จากการที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ออกมาเปิดเผยข้อมูล ว่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา (ก.ย. 63 – ก.ย. 64) ราคาสินค้าและค่าบริการขยับเพิ่มขึ้น 204 รายการ* เช่น
.
น้ำมันปาล์ม/ลิตร ราคาเฉลี่ยเดือนกันยายน เท่ากับ 47.03 บาท เพิ่มขึ้น 11.11 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
.
ข้าวราดแกง/จาน ราคาเฉลี่ยเดือนกันยายน เท่ากับ 36.77 บาท เพิ่มขึ้น 0.35 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
.
ไข่ไก่ เบอร์ 2 /ฟอง ราคาเฉลี่ยเดือนกันยายน เท่ากับ 3.79 บาท เพิ่มขึ้น 0.31 บาท จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
.
รวมไปถึงกลุ่มอาหารสดบางรายการ ที่ตอนสำรวจส่วนใหญ่จะมีราคาต่ำกว่าปีก่อน แต่จากผลกระทบของมหาอุทกภัยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ (ค่าขนส่งแพงขึ้น) ก็ย่อมทำให้ระดับราคาโดยเฉพาะผักและผลไม้ผันผวนไปจากที่คาดการณ์ไว้ได้
.
ภาคอีสานสามารถเช็กราคาผักและผลไม้ ได้จากตลาดศรีเมืองทอง (ตลาดกลาง) จ.ขอนแก่น https://web.facebook.com/simuangthong/
.
แน่นอนว่าราคาที่สูงขึ้นกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รัฐบาลจึงต้องหาวิธีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่การส่งออก การลงทุน (การเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้น) และการท่องเที่ยว (นโยบายเปิดประเทศที่จะเริ่ม 1 พฤศจิกายน นี้) แต่ยังต้องคำนึงถึงการบริโภคภายในประเทศด้วย
.
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ค่าไฟเตรียมปรับขึ้นอีก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยว่า ก๊าซ LNG เชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้า ปรับราคาขึ้นสูงสุดในรอบหลายปี แน่นอนว่าจะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยตรง
.
ดังนั้น ไตรมาส 4 / 2564 หากไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและค่าบริการอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มเติม นอกจากกำลังซื้อของผู้บริโภคจะลดลงแล้ว เงินเฟ้อก็มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอีก
.
.
* ราคาสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค การคำนวณดัชนีนี้เกิดจากการเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการ (จำนวน 430 รายการ) ที่จำเป็นต่อการครองชีพ กับราคาในปีฐาน และคำนวณอัตราการเปลี่ยนแปลงเป็นอัตราเงินเฟ้อโดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุด เดือนกันยายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัว1.68%
.
.
อ้างอิง:
https://siamrath.co.th/n/290603#
https://www.prachachat.net/economy/news-778804
https://www.price.moc.go.th/…/file…/indices_all.pdf

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top