หนี้ครัวเรือนไทย เพิ่มขึ้นทั้งสัดส่วนของครัวเรือนและจำนวนหนี้ หวั่นอีสานครองแชมป์อีกปี

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน​ ปี 2564 (ในช่วง 6 เดือนแรก) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย และภาวะหนี้สินของครัวเรือน สรุปได้ดังนี้
.
1. ครัวเรือนทั่วประเทศ มีรายได้ทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 28,454 บาท
.
ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงาน 18,888 บาท (คิดเป็น 66.4%) ประกอบด้วย ค่าจ้างและเงินเดือน 12,052 บาท, กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจ 4,607 บาท และกำไรสุทธิจากการทำการเกษตร 2,229 บาท
.
รองลงมาเป็นรายได้ที่ไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งอยู่ในรูปสวัสดิการ/สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ได้รับมาโดยไม่ต้องซื้อ 4,879 บาท (17.1%), รายได้จากเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐหรือบุคคลอื่นนอกครัวเรือน 4,080 บาท (14.3%) และรายได้ไม่ประจำและจากทรัพย์สิน 607 บาท (2.2%)
.
เมื่อพิจารณารายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนปี 2554 ถึง 2564 จะพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 23,236 บาท ในปี 2554 เป็น 26,946 บาท ในปี 2560 และลดลงในปี 2562 เหลือจำนวน 26,018 บาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก่อนจะกลับมาเพิ่มขึ้นในปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่รัฐอุดหนุน ทั้งที่รัฐจ่ายเงินเข้าบัญชีให้แก่ประชาชน และการอุดหนุนในรูปแบบที่ไม่เป็นตัวเงินผ่านแอปพลิเคชัน คูปอง หรือในรูปแบบการลดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น
.
2. ครัวเรือนทั่วประเทศ มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 22,325 บาท
.
ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค 19,353 บาท (คิดเป็น 86.7%) ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคที่ครัวเรือนซื้อหรือจ่ายเงินเอง 14,676 บาท และค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคที่ครัวเรือนไม่ได้ซื้อหรือจ่ายเงินเอง ซึ่งรวมไปถึงโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง เราชนะ หรือแม้แต่การลดค่าสาธารณูปที่เป็นค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า เป็นต้น 4,678 บาท
.
ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/หวย ดอกเบี้ย เป็นต้น) 2,972 บาท (13.3%)
เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนปี 2554 ถึง 2564 จะพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 17,403 บาท ในปี 2554 เป็น 22,325 บาท ในปี 2564
.
3. ครัวเรือนไทยเกินครึ่ง (ร้อยละ 52.7) เป็นหนี้ โดยมีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 208,733 บาทต่อครัวเรือน
.
ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน จำนวน 157,234 บาท (75.3%) รองลงมาเป็นหนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่น ๆ 51,499 บาท (24.7%)
.
หนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน ประกอบด้วยหนี้เพื่อใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค 80,695 บาท หนี้เพื่อซื้อ/เช่าซื้อบ้านและ/หรือที่ดิน 72,822 บาท และหนี้เพื่อใช้ในการศึกษา 3,717 บาท
.
ในขณะที่หนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่น ๆ จะเป็นหนี้ที่ใช้ทำการเกษตร 31,063 บาท หนี้ที่ใช้ทำธุรกิจ 18,983 บาท และหนี้อื่น ๆ เช่น หนี้จากการค้ำประกัน หนี้ค่าปรับ/จ่ายค่าเสียหาย 1,454 บาท
.
เมื่อเปรียบเทียบร้อยละของครัวเรือนที่มีหนี้ ระหว่างปี 2554 ถึง 2564 จะพบว่า ในช่วงปี 2554 ถึง 2562 สัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้มีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 55.8 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 45.2 ในปี 2562 แต่ในปี 2564 กลับมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 52.7
.
และเมื่อพิจารณาจำนวนหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในช่วงเดียวกัน พบว่า มีทิศทางตรงข้ามกับสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้ กล่าวคือ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจาก 134,900 บาท ในปี 2554 เป็น 208,733 บาท ในปี 2564 ทั้งนี้ หนี้สินเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน หนี้ที่ใช้ทำการเกษตร และหนี้ที่ใช้ในการทำธุรกิจ เพิ่มขึ้นมากกว่าหนี้ประเภทอื่น ๆ
.
.
อย่างไรก็ตาม ปี 2564 ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลระดับภูมิภาคอย่างเป็นทางการ แต่หากลองเปรียบเทียบกับช่วงปี 2554 ถึง 2562 ที่แม้สัดส่วนครัวเรือนที่เป็นหนี้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ปี 2562 ครัวเรือนอีสานยังมีหนี้เป็นสัดส่วนสูงที่สุดอยู่ (ร้อยละ 61) โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ (ร้อยละ 45) ดังนั้นในปีนี้ จากทั้งสัดส่วนของครัวเรือนทั้งประเทศที่เป็นหนี้และจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้น ก็มีโอกาสที่อีสานจะครองแชมป์หนี้ครัวเรือนอีกเช่นกัน
.
สุดท้าย หากครัวเรือนในประเทศก่อหนี้จนไม่สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ย่อมส่งผลให้รัฐต้องเพิ่มสวัสดิการสังคม ซึ่งจะสร้างภาระทางการคลังของประเทศ และในที่สุดจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของการบริโภคและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งต่อประสิทธิผลของมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย
.
.
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ, ธนาคารแห่งประเทศไทย
.
#ISANInsightAndOutlook

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top