“ดนตรีอีสาน” ศิลปะพื้นบ้านสืบสานความเป็นอมตะ

“ละพอแต่เปิดผ้าม่านกั้ง ผ้าม่านกั้ง! สาวหมอลำสิพาม่วนนน” ดนตรีที่คุ้นหูผสมผสานกับเนื้อร้องที่ใช้ภาษาอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คงบ่งบอกได้แน่ชัดว่าเพลงนี้แฝงไปด้วยศิลปะพื้นบ้านที่มีต้นกำเนิดมาจากภาคอีสาน ที่หากใครได้ฟังคงไม่เป็นอันนั่งติดอยู่กับพื้น ที่นอกจากจะช่วยปลดปล่อยอารมณ์ ให้รู้สึกสนุนสนาน ผ่อนคลาย ให้กับผู้ที่ได้ฟังแล้วนั้น ยังช่วยถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกของผู้แต่ง สะท้อนความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังเป็นภาษากลางที่เป็นตัวช่วยในการสื่อสารกันไปทั่วโลกได้ดีอีกภาษาหนึ่ง
.
ดนตรีอีสานก็เช่นกัน ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของท่วงทำนองที่เปล่งออกมาผ่านทางเครื่องดนตรี พิณ โหวต แคน โปงลาง เนื้อร้องหรือแม้แต่ลักษณะสำเนียงในการขับร้อง ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสนุกสนาน ความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร ความมีชีวิตชีวา ความคิดถึงห่วงหาอาวรณ์ ส่งผลให้สิ่งนี้แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน
.
รวมถึงการเล่าเรื่องราวหรือนิทานต่าง ๆ ให้น่าสนใจ สนุกสนาน ประกอบกับดนตรีทำนองอีสานที่สอดแทรกเสียงแคนเข้าไปเป็นจังหวะที่ผู้เล่าเป็นผู้ที่ชำนาญในการขับร้อง สามารถเรียกรูปแบบนี้ได้ว่า “หมอลำ” ชื่อที่หลายคนรู้จักกันดี
.
ในช่วงต้นหมอลำเป็นการเล่าเรื่องตามพงศาวดาร ประวัติศาสตร์ นิยายปรัมปรา เช่น เล่าเรื่องพื้นเพบ้านของตน พัฒนาต่อยอดจนสามารถแตกแขนงออกเป็นหมอลำหลายประเภท ทั้งลำกลอน ลำเพลิน ลำชิงชู้ ฯลฯ และเริ่มนำหมอลำเข้ามาเล่าเรื่องราวความทุกข์ การต่อต้านผู้ปกครอง ผ่านทำนองที่มีเนื้อหาไพเราะ ลึกซึ้ง คมคาย ทั้งนี้โอกาสที่จะมีการแสดงหมอลำ คือ งานบุญต่าง ๆ งานศพ งานรื่นเริงในหมู่บ้าน และงานฉลองช่วงออกพรรษา เป็นต้น
.
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ดนตรีอีสานยังคงอยู่ได้ คงหนีไม่พ้นการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยต่าง ๆ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก จนเกิดเป็นแนวเพลงไทยสากลหรือที่รู้จักกันในนาม “เพลงลูกทุ่ง”
.
เพลงลูกทุ่งเป็นการนำการร้องรำทำเพลงของไทยดั้งเดิม มาดัดแปลงใส่กับดนตรีที่ใช้กับวงสตริงคอมโบเล่น ผสมผสานด้วยท่วงทำนองเพลงสากลเพื่อให้เข้ากับทำนองเพลงพื้นบ้าน โดยเนื้อเพลงที่ใช้จะมีการสอดแทรกความเป็นท้องถิ่นพื้นบ้านลงไปในคำร้อง ทำนอง และการใช้ลูกเอื้อน ลูกเล่น ลีลาของการลำที่มีเฉพาะท้องถิ่น ทำให้เกิดเป็นลูกทุ่งในหลายภูมิภาคตามมา เช่น ลูกทุ่งปักใต้ ลูกทุ่งล้านนา ลูกทุ่งเพื่อชีวิต ลูกทุ่งหมอลำ และลูกทุ่งอีสาน
.
โดยภาษาที่เพลงแนวลูกทุ่งอีสานใช้ในการร้อง มีคำอีสานปะปนอยู่กับภาษากลาง ประกอบกับสำเนียงในการเอื้อนเสียง คงต้องยอมรับว่าแม้จะใช้เครื่องดนตรีสากลเป็นตัวบรรเลงควบคู่กัน แต่สำเนียงที่ปรากฏออกมาก็ยังคงความเป็นทำนองอีสานบ้านเฮาเช่นเดิม ทั้งนี้เพลงลูกทุ่งอีสานมีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง และได้นำเอา ทำนองลำ เครื่องดนตรีอีสาน มาใช้เข้ากับเพลง จนเป็นที่มาของ “ลูกทุ่งหมอลำ” ที่ช่วยให้ความบันเทิง ความสนุกสนานเป็นมหรสพในงานประเพณี งานรื่นเริง อีกทั้งยังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับศิลปิน นักร้อง นักประพันธ์ นักเรียบเรียง และนักดนตรี นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ช่วยผลักดัน ดนตรีอีสานให้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายเลยก็ว่าได้
.
เพลงลูกทุ่งหมอลำ จากลำนำสู่ความนิยมในวงกว้าง
.
อย่างที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้ว่า เพลงลูกทุ่งหมอลำมีส่วนสำคัญในการแพร่กระจาย ดนตรีอีสานให้ไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ เหตุเพราะเนื้อเพลงที่ฟังง่าย ฟังครั้งเดียวก็จำและร้องตามได้ ประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตามเมืองที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมเศรษฐกิจต่าง ๆ ส่งผลให้การเข้าไปอยู่ในแหล่งนั้น ๆ สามารถสร้างรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก่อให้เกิดการโยกย้ายแรงงานไปยังที่ที่มีความเจริญมากกว่า นักร้องอีสานที่เข้ามาในเมืองจึงมีโอกาสในการทำผลงานเพลงในค่ายใหญ่มากขึ้นโดยสิ่งหนึ่งที่ติดตัวมาพร้อมกับกระเป๋าเดินทาง เพื่อปลอบโยนหัวใจในวันที่เหนื่อยที่ท้อสิ้นหวังให้สู้ต่อไป คือ ดนตรี
.
สิ่งนี้เองที่เป็นตัวนำพาให้ ศิลปะและวัฒนธรรมของภาคอีสาน แพร่กระจายเข้ามาสู่ภาคกลาง ได้เร็วยิ่งขึ้น จนก่อให้เกิดศิลปินหมอลำทางลำทางภาคอีสานที่โด่งดังเกิดขึ้นมากมาย เช่น หมอลำบุญเพ็ง ไผ่ผิวไชย ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีหมอลำและเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี พ.ศ. 2540 หรือหากเป็นแนวเพลงลูกทุ่งอีสาน ศิลปินที่โด่งดังก็อย่างเช่น ศิริพร อำไพพงษ์, ไมค์ ภิรมย์พร, จินตหรา พูนลาภ, ต่าย อรทัย, ตั๊กแตน ชลดา และ ไผ่ พงศธร ที่ฟังง่ายและเพลงเป็นที่นิยมทั่วบ้านทั่วเมือง คงจะพิสูจน์ได้ว่า ดนตรีอีสาน เป็นที่นิยมในประเทศมากเพียงใด
.
ปัจจุบัน ดนตรีอีสานถูกดัดแปลงให้เข้ากับสิ่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาอยู่ตลอด มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบคำร้องให้เข้ากับเพลงสากล ฮิปฮอป ใส่เครื่องดนตรีอีสานผสมผสานกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น หรือแม้กระทั่งจังหวะทำนองที่นำมาเรียบเรียงจนเกิดเป็นแนวเพลงรูปแบบใหม่ เช่น การใส่การเอื้อนในท่อนแร็ปของเพลง การนำนักร้องลูกทุ่งมาร่วมร้องเพลงในเพลงร็อค ทำให้เกิดกลุ่มผู้ฟังกลุ่มใหม่ ที่นอกจากจะช่วยขยายวัฒนธรรมอีสานไทยให้ออกไปสู่สากลได้มากขึ้นแล้วนั่น ยังช่วยให้ดนตรีอีสาน “เป็นอมตะ” ไม่มีวันตายหรือสูญหายไปอีกด้วย
.
#ISANInsightAndOutlook
.
.
อ้างอิง
https://www.isangate.com/new/looktung-and-morlum.html
https://www.cea.or.th/…/single…/isan-music-never-die
https://www.isangate.com/…/15…/artist/521-boonpeng.html

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top