“การลดลงของประชากรอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง มีรายได้สูง ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากร เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และอาจมีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจ”
วราวุธ ศิลปอาชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ปัญหาการลดลงของอัตราการเกิดใหม่ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นความท้าทายที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญและพยายามแก้ไขอย่างจริงจัง แม้ว่าผลกระทบในปัจจุบันอาจยังไม่ชัดเจน แต่ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า การหดตัวของประชากรวัยแรงงานจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจชะลอตัวลง และประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทำไมคนไทยถึงมีลูกน้อยลง
สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจไม่มีลูกหรือมีลูกน้อยลงนั้น เกิดจากทั้งวิถีชีวิตและทัศนคติที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีความหลากหลายทางเพศที่ทำให้รูปแบบครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ขยับตัวไม่ทัน ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้จึงไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้อย่างมีคุณภาพ กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ทำให้ตัดสินใจไม่อยากมีลูก เนื่องจากกังวลเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนจบปริญญาตรีสูงถึงประมาณ 5 แสน จนถึง 2 ล้านบาทต่อคน ทำให้หลายครอบครัวลังเลหรือชะลอการมีบุตร
10 ปีที่ผ่านมาการเกิดของคนไทยลดลงไปมากแค่ไหน
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีจำนวนการเกิดลดลงในทุกๆปี ซึ่งตรงกันข้ามกับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี การระบาดของโควิด-19 เป็นเสมือนสิ่งที่กระตุ้นให้ทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2564 เป็นปีที่คนไทยมีจำนวนการเกิดใหม่อยู่ที่ 544,570 คน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตนั้นมีสูงถึง 563,650 คน ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในทางกลับกันการระบาดของไวรัสทำให้ผู้คนพบเจอกันน้อยลงปฎิสัมพันธ์ของคนก็น้อยลงเช่นกัน เหลือแต่เพียงการติดต่อกันผ่านทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แม้จะผ่านพ้นช่วงการระบาดของโควิด-19 มาแล้วก็ตามแต่จำนวนการเสียชีวิตของคนไทยก็ไม่ได้มีการลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19ขนาดนั้น หนำซ้ำจำนวนการเกิดของคนไทยกลับลดลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่กำลังเกิดในปัจจุบันเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลัง และใกล้เข้ามามากขึ้นทุกวันๆ
รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถาบันฯ ได้ทำการสำรวจข้อมูลในปลายปี 2567 ในประชาชนไทยอายุ 28 ปีเป็นต้นไป จำนวน 1,000 กว่าคน พบว่า ร้อยละ 71 มองว่าการเกิดน้อยเป็นวิกฤตของประเทศ และมีเพียงร้อยละ 6 มีมองว่ายังไม่ใช่วิกฤต “ซึ่งข้อค้นพบนี้ทำให้เห็นว่าคนไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตนี้ ส่วนคำถามถึงแผนการมีบุตรในกลุ่มประชากรที่มีความพร้อม พบว่าร้อยละ 35.8 ตอบว่าจะมีลูกแน่นอน ร้อยละ 29.9 ตอบว่า อาจจะมีลูก ร้อยละ 14.6 ตอบว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.1 ตอบว่าจะไม่มีลูก และร้อยละ 6.6 ตอบว่าจะไม่มีลูกอย่างแน่นอน”จากชุดข้อมูลพบว่า มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่คิดจะมีลูก แม้จะน้อยแต่ก็ยังเป็นแนวโน้มในเชิงบวก ส่วนกลุ่มที่ตอบว่า “อาจจะมีลูก” นั้น เป็นกลุ่มสำคัญต่อนโยบายส่งเสริมการมีลูก ที่จะต้องไปพูดคุยอย่างชัดเจนให้ถึงสาเหตุของการตอบว่า อาจจะ เพราะหากมีการสนับสนุนที่ตรงจุดก็จะทำให้กลุ่มดังกล่าว มั่นใจที่จะมีลูกเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ประชากรที่จะมีลูกอย่างแน่นอนเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละกว่า 60
ภาพที่ 1: จำนวนการเกิด และเสียชีวิตของประชากรทั่วประเทศ พ.ศ. 2558 – 2567
ที่มา: กรมการปกครอง
ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอนาคตอันใกล้
ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการเกิดที่ลดลง อีกหนึ่งปัญหาที่ติดตามมาเป็นเงาตามตัวได้แก่ปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ จากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing กล่าวว่า ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ที่ไม่สามารถใช้แรงงานตนเองเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัว ซึ่งก็คือเด็กและผู้สูงอายุ มีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงานไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
- สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ขึ้นไป
- สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป
ในความเป็นจริง ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัย” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เพราะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีไม่กี่ปีข้างหน้า ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉายภาพสถานการณ์ประชากรไทย ว่า สัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นทุกวัน ขณะนี้มีคนอายุเกิน 60 ปีประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่อีกไม่กี่ปีจะเพิ่มเป็นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะมีอายุยืนยาวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคนที่อายุถึงร้อยปีก็จะเพิ่มขึ้นเร็วเช่นกัน ขณะเดียวกันจำนวนเด็กก็เกิดน้อยลงทุกขณะ เพราะมุมมองของคนเปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องการที่จะมีลูก ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แน่นอนว่าวิกฤตเด็กเกิดน้อย และ สังคมสูงวัย ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหา ขาดแคลน “วัยแรงงาน” รวมทั้งฐานะการคลังของภาครัฐทั้งรายได้และรายจ่าย
ภาพที่ 2 จำนวนประชากรไทยรายอายุปี พ.ศ. 2558 และ 2567
ที่มา: กรมการปกครอง
ภาคอีสานอัตราคนเกิดลดลงสูง และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประเทศ
หากพิจารณาแยกเป็นรายภาคจะพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั่วประเทศมีการเปลี่ยนแปลงจากอัตราการเกิดที่สูงการเสียชีวิตที่ต่ำ สลับกันเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูง การเกิดที่ต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง โดยในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมามีเพียงภาคเหนือเท่านั้นที่ยังคงมีอัตราการเกิดที่สูงกว่าการเสียชีวิต แต่ทั้งนี้ตัวเลขนี้ก็ไม่ได้หนีห่างกันมากนัก ขณะที่ภาคที่มีการลดลงของการเหิดใหม่มากที่สุดก็หนีไม่พ้นพรุงเทพฯและปริมณฑล เมืองหลวงและศูนย์กลางของประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่เลือกเข้าไปทำงาน แต่ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้คนส่วนใหญเลือกที่จะมีครอบครัวกันน้อยลง ครองโสดกันมากขึ้น หรืออยู่กันเป็นแฟนเท่านั้น การเลือกที่จะไม่มีลูกเพื่อเป็นการไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายและภาระให้กับตนเอง พร้อมกับความกังวลในสภาพสังคมปัจจุบันที่ไม่แน่ใจว่าตนเองจะเลี้ยงลูกได้ดีพอหรือไม่ ในทางกลับกันภูมิภาคที่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดได้แก่ภาคอีสาน โดยหากนับเป็นจำนวนประชากรจริงๆภาคอีสานมีการเกิดลดลงและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในประเทศ ด้วยจำนวนประชากรที่เยอะกว่าภาคอื่นๆ แต่การเพิ่มขึ้นและลดลงนี้เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างมากต่อผลที่จะตามมาในอนาคตว่ารัฐบาลจะมีมาตรการใดๆเข้ามาควบคุมและดูแลประชาชนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาระดับชาติที่จะส่งผลในระยะยาว ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องตรงจุดย่อมจะส่งผลเสียในอนาคตเป็นแน่
ภาพที่ 3 จำนวนการเกิดและเสียชีวิตเปรียบเทียบปี พ.ศ. 2558 และ 2567 แบ่งภูมิภาค
ที่มา: กรมการปกครอง
พามาเบิ่ง👨👩👧👦กราฟพีระมิด ‘ประชากรอีสาน’ ต้อนรับ Gen BETA👶
10 ปีที่ผ่านมาคนอีสานเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 22 คน เกิดใหม่วันละ 23 คน
หากพิจารณาเฉพาะภาคอีสาน จะพบว่าตัวเลขเฉลี่ยของอัตราการเกิดและการเสียชีวิตในแต่ละจังหวัดตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีความใกล้เคียงกันอย่างมาก ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคแตกต่างกันเพียง 1 เท่านั้น แม้ว่าโดยรวมแล้ว จำนวนการเกิดยังคงสูงกว่าการเสียชีวิต แต่เมื่อพิจารณาแนวโน้มระยะยาว ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณที่น่ากังวล เพราะหากในแต่ละวันมีเด็กเกิดใหม่ 23 คน และมีผู้เสียชีวิต 22 คน ส่วนต่างเพียง 1 อาจกลายเป็น -1 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งนี้ แม้จะมีแนวคิดว่า “ครอบครัวหนึ่งควรมีลูกอย่างน้อย 2 คนเพื่อทดแทนประชากรที่จากไป” แต่หากแนวโน้มยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป โครงสร้างประชากรของภาคอีสานอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤติเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ตารางที่ 1: จำนวนการเกิดและเสียชีวิตเฉลี่ย 10 ปี แบ่งรายจังหวัดในภาคอีสาน
จังหวัด | จำนวนการเกิดเฉลี่ยตลอด 10 ปี | จำนวนการเกิดเฉลี่ยรายวัน | จำนวนการเสียชีวิตเฉลี่ยตลอด 10 ปี | จำนวนการเสียชีวิตเฉลี่ยรายวัน |
เลย | 5,302 | 15 | 5,049 | 14 |
กาฬสินธุ์ | 6,461 | 18 | 7,706 | 21 |
ขอนแก่น | 15,006 | 41 | 15,104 | 41 |
ชัยภูมิ | 7,602 | 21 | 9,138 | 25 |
นครพนม | 4,995 | 14 | 5,128 | 14 |
นครราชสีมา | 21,332 | 58 | 20,583 | 56 |
บึงกาฬ | 3,436 | 9 | 2,663 | 7 |
บุรีรัมย์ | 12,002 | 33 | 11,117 | 30 |
มหาสารคาม | 5,795 | 16 | 7,511 | 21 |
มุกดาหาร | 3,219 | 9 | 2,436 | 7 |
ยโสธร | 3,555 | 10 | 4,260 | 12 |
ร้อยเอ็ด | 8,235 | 23 | 10,112 | 28 |
ศรีสะเกษ | 10,246 | 28 | 10,205 | 28 |
สกลนคร | 9,575 | 26 | 8,110 | 22 |
สุรินทร์ | 10,530 | 29 | 10,143 | 28 |
หนองคาย | 4,057 | 11 | 3,735 | 10 |
หนองบัวลำภู | 3,735 | 10 | 3,424 | 9 |
อำนาจเจริญ | 2,678 | 7 | 2,495 | 7 |
อุดรธานี | 12,641 | 35 | 11,622 | 32 |
อุบลราชธานี | 16,292 | 45 | 13,444 | 37 |
ภาคอีสาน | 8,335 | 23 | 8,199 | 22 |
ที่มา: กรมการปกครอง
เลี้ยงเด็ก 1 คน ใช้จ่าย 3 ล้าน หลายคนเลือก “ไม่มีลูก” สิพามาเบิ่ง คนอีสานเกิดน้อยกว่าตาย
นอกจากนี้ หากพิจารณาอัตราการเกิดของประชากรในภาคอีสานปี 2567 เทียบกับปี 2566 จะพบว่ามีการลดลงมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ โดยค่าเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคลดลงถึง 14% ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ลดลงเพียง 0.2% อย่างมีนัยสำคัญ จังหวัดที่มีอัตราการเกิดลดลงมากที่สุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด -18% รองลงมาคือ นครพนม และหนองบัวลำภู -17%
แนวโน้มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคอีสานเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศ โดยค่าเฉลี่ยของอัตราการเกิดทั่วประเทศในปี 2567 ลดลง 10.8% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งสะท้อนถึงความรุนแรงของภาวะอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนที่ไม่อาจมองข้ามได้ หากไม่มีมาตรการแก้ไขที่จริงจัง อาจนำไปสู่ผลกระทบในระยะยาวต่อโครงสร้างประชากรและการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีนโยบายและแนวทางรับมือที่ชัดเจนเพื่อชะลอหรือพลิกแนวโน้มการลดลงของอัตราการเกิด ก่อนที่ปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
ภาพที่ 4 อัตราการเกิดในภาคอีสานปี พ.ศ. 2567 รายจังหวัด
ที่มา: กรมการปกครอง
อ้างอิง
- กรมการปกครอง
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (https://www.m-society.go.th/ewtadmin/ewt/mso_web/ewt_news.php?nid=40981)
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/article-2023sep18.html)
- สำนักงานสถิติแห่งชาต (https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/infomotion/2023/20230428033913_25753.pdf)
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) (https://tdri.or.th/2024/07/population-crisis/)
- สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ (https://www.hfocus.org/content/2025/01/32820)