March 2022

เกิดอะไรขึ้น อีสานถึงมีแรงงานนอกระบบมากที่สุด

ผลสำรวจแรงงานนอกระบบ ปี 2564 จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งประเทศ 37.7 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 19.6 ล้านคน (52%) . หากเปรียบเทียบแรงงานนอกระบบจากจำนวนผู้มีงานทำในภูมิภาค จะพบว่า ภาคอีสาน มีแรงงานนอกระบบมากที่สุด (75.2%) รองลงมาเป็นภาคเหนือ (68.5%) ภาคใต้ (52.3%) ภาคกลาง (37.7%) และกรุงเทพมหานคร (21.9%) . เมื่อมาดูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แรงงานนอกระบบของประเทศส่วนใหญ่ทํางานอยู่ในภาคเกษตร (58%) รองลงมา เป็นภาคการบริการและการค้า (32.2%) และภาคการผลิต (9.8%) . ทั้งนี้ แบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ปี 2563 พบว่า อีสานมีแรงงานในภาคเกษตร 6.5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53% ของผู้มีงานทำในภูมิภาค ดังนั้น สัดส่วนแรงงานเกษตรที่มากจึงสะท้อนแรงงานนอกระบบที่มากไปด้วย . โดยสิ่งหนึ่งที่แรงงานนอกระบบจะต้องเผชิญ คือ ถ้าไม่ได้สมัครเข้าประกันสังคม ก็จะไม่มีสวัสดิการคุ้มครองครอบคลุมในหลายกรณีเหมือนกับแรงงานในระบบ ซึ่งที่ผ่านมา แรงงานเกษตรในอีสานได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยเพียง 34 บาท/ชั่วโมง น้อยกว่าสาขาอื่น ๆ เป็นเท่าตัว การจะให้มาจ่ายเงินเพื่อซื้อสวัสดิการเหมือนแรงงานในระบบจึงเป็นเรื่องยาก . ยิ่งปัญหาของแรงงานนอกระบบ ปี 2564 ที่ส่วนใหญ่มีปัญหาจากการทำงาน (31.8%) โดยสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ เรื่องของค่าตอบแทน จึงอาจกล่าวได้ว่า “จริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะในภาคเกษตร ไม่อยากจ่ายเงินเพื่อซื้อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่พวกเขาไม่มีให้จ่ายต่างหาก” เงินที่ได้เมื่อหักค่ากินค่าอยู่ก็แทบไม่เหลือ ไหนจะความไม่แน่นอนของรายได้ รวมไปถึงปัญหาหนี้สิน ที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายได้ต่อเนื่อง . ซึ่งถ้าถามเหตุผลที่ยังทำเกษตรอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าสู่วัยสูงอายุของแรงงาน และจำนวนมากก็มีการศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า ทำให้การปรับเปลี่ยนอาชีพทำได้ยาก . ดังนั้น ภาครัฐอาจต้องหาวิธีให้แรงงานในภาคเกษตรได้พัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่ทำอยู่ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าแบบที่ไม่ยากหรือเป็นภาระพวกเขาเกินไป โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นตัวชี้วัด ควบคู่ไปกับการดึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจและอยากพัฒนาการเกษตรของภูมิภาคและประเทศมาเป็นกำลังเสริมให้มากขึ้น ก่อนที่แรงงานเกษตร ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยจะหายไปหมด . . ที่มา: รายงาน การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2564 จัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร จัดทำโดยสำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องของ “วัวเนื้อ” กับข้อได้เปรียบจากการเลี้ยงเพื่อการส่งออกของอีสาน

 จำนวนโคเนื้อ . ในปี 2564 ประเทศไทยมีโคเนื้อกว่า 7.58 ล้านตัว โดยภูมิภาคที่เลี้ยงโคเนื้อมากที่สุด คือ ภาคอีสาน 3.97 ล้านตัว (52.32%) รองลงมาเป็น ภาคกลาง 1.31 ล้านตัว (17.26%) ภาคเหนือ 1.21 ล้านตัว (15.97%) และภาคใต้ 1.10 ล้านตัว (14.45%) ส่วนจังหวัดที่เลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในประเทศ ได้แก่ สุรินทร์ นครราชสีมา อุบลราชธานี บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ .  สถานการณ์การนำเข้า-ส่งออกโคเนื้อ . ก่อนอื่นต้องรู้ว่า การนำเข้า-ส่งออก สินค้าที่เกี่ยวข้องกับโคเนื้อ จะแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ ดังนี้ . 1. โคเนื้อมีชีวิต ประกอบด้วย โคมีชีวิตสำหรับทำพันธุ์ และโคมีชีวิตอื่น ๆ . 2. เนื้อโคและส่วนอื่นที่กินได้ ประกอบด้วย เนื้อโคสดแช่เย็น เนื้อโคสดแช่แข็ง และเครื่องในโคเนื้อและส่วนอื่นที่บริโภคได้ . 3. ผลิตภัณฑ์เนื้อโค เช่น เนื้อโคแปรรูป .  สำหรับการนำเข้า ปี 2564 ไทยนำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์มากที่สุด (93.82%) เป็นจำนวน 48,678 ตัน มูลค่า 5,628.40 ล้านบาท โดยประเทศที่ไทยนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น .  ส่วนการส่งออก ปี 2564 ไทยส่งออกโคเนื้อมีชีวิตมากที่สุด (99.43%) เป็นจำนวน 198,134 ตัว มูลค่า 3,527.24 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโคเนื้อมีชีวิตสำหรับทำพันธุ์ จำนวน 40,178 ตัว มูลค่า 621.95 ล้านบาท โดยประเทศที่ไทยส่งออกมากที่สุด ได้แก่ สปป. ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย . ทั้งนี้ การส่งออกโคเนื้อมีชีวิตไป สปป. ลาว จะเป็นการส่งออกไปจีนผ่าน สปป.ลาว เป็นหลัก เนื่องจากต้องถูกกักเพื่อตรวจสอบโรค โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย และลัมปีสกิน ที่กำลังระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไม่มีตัวเลขการส่งออกไปจีนที่เป็นตลาดใหญ่ของไทย . โดยจีนกำหนดคุณสมบัติโคที่จะรับซื้อว่า จะต้องเป็นลูกผสมอเมริกันบราห์มัน หรือลูกผสมยุโรปทุกสายพันธุ์ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350 – 400 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ส่งออกวันละ …

เรื่องของ “วัวเนื้อ” กับข้อได้เปรียบจากการเลี้ยงเพื่อการส่งออกของอีสาน อ่านเพิ่มเติม »

นิคมกรีนอุดรฯ ศูนย์กลางการลงทุนใหม่ ความหวังที่จะได้ทำงานใกล้บ้านของชาวอีสาน

ปฎิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเท​​คโนโลยีก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าหลาย ๆ ด้าน ซึ่งหากมองในเชิงพื้นที่ ที่ใดมีความเจริญก้าวหน้า หรือได้รับการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา มีโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการทำงาน จะเป็นแรงดึงดูดให้คนย้ายถิ่นเข้าไปมากกว่าพื้นที่อื่น . เมื่อปี 2555 ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมสีเขียว” ในจังหวัดอุดรธานี ที่มีความได้เปรียบในแง่ของการขนส่งสินค้า กระจายสินค้าสู่หลายจังหวัดในประเทศไทย รวมถึงฝั่ง สปป. ลาว กลุ่มประเทศ CLMV และประเทศจีนตอนใต้ . โครงการพัฒนาบนพื้นที่ 2,170 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ 1,630 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 314 ไร่ และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 226 ไร่ . อุตสาหกรรมเป้าหมายในนิคม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย เช่น โรงงานผลิตถุงมือยาง อุปกรณ์การกีฬา และชิ้นส่วนรถยนต์, อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร, อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมส่งเสริมการผลิค, อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยยนต์ และศูนย์กระจายสินค้า ที่อยู่นอกเหนืออุตสาหกรรมกลุ่มอื่น ๆ . ภาพรวมความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการ ในด้านความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานก่อสร้างแล้วเสร็จ 80% พร้อมเปิดดำเนินการให้นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานในกลางปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีโรงงานเกิดขึ้นประมาณ 80-100 โรงงาน มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 15,000-20,000 ราย ในพื้นที่ และ 60,000 ราย รอบนิคมฯ มูลค่าการลงทุนประมาณ 100,000 ล้านบาท . ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนานิคมฯเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการ ทางนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีแผนการพัฒนาระบบ Logistics ของนิคมฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ . โดยระยะที่ 1 (2563-2565) จะทำเป็นอาคารคลังสินค้าให้เช่า การบริการรับและจ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ให้บริการเปิดตู้และบรรจุตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านแดน มีการขออนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากรและพร้อมให้ใช้บริการ การให้บริการ Tuck Terminal และการให้บริการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางรางโดยเชื่อมกับสถานีหนองตะไก้ . ส่วนระยะที่ 2 (2565-2568) จะพัฒนาระบบรางภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหนองอุตสาหกรรมตะไก้ และเป็นผู้ให้บริการขนส่งแบบ Freight Forwarder อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงภาคขนส่งระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี กับ ประเทศลาว กัมพูชา และจีนมากขึ้น . การเกิดขึ้นของนิคมฯ จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญเติบโตให้คนอีสานทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในภูมิภาค ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ในการมีช่องทางประกอบอาชีพในถิ่นเกิด โดยไม่ต้องอพยพไปทำงานที่อื่น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัด . …

นิคมกรีนอุดรฯ ศูนย์กลางการลงทุนใหม่ ความหวังที่จะได้ทำงานใกล้บ้านของชาวอีสาน อ่านเพิ่มเติม »

ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจแต่ละภาค มีอิหยังแหน่?

ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ คือไม้ยืนต้นทุกชนิดที่ปลูกหรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติรวมถึงไผ่ ซึ่งอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ที่มีการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ ในการสร้างมูลค่าให้กับผู้ปลูก ทั้งขายโดยตรงและแปรรูป นอกจากนี้ยังสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ด้วย . การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นนั้น มีความจำเป็นที่ต้องสร้างแรงจูงใจและต้องการกลไกทางการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมทั้งการปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายให้การปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถตัด จำหน่าย ทำไม้ได้อย่างสะดวก การให้องค์ความรู้ทางวิชาการในเรื่องการปลูก การเลือกพันธุ์ไม้ และพื้นที่ปลูกก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ . ภาคเหนือ ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ สัก ประดู่ป่า พะยูง แดง และยางนา . ภาคอีสาน ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ ประดู่ป่า พะยูง ยางนา และสัก . ภาคใต้ ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ ไม้วงศ์ยาง จำปาป่า หลุมพอ สะเดาเทียม และกันเกรา . ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ ยางนา ประดู่ป่า พะยอม สักและกฤษณา . และไม้เศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้ทุกภาค ได้แก่ ตะเคียนทอง ไผ่ ยูคาลิปตัส และกระถินเทพา . . การแยกประเภทไม้ตามประเภทการเจริญเติบโต โดยวัดจากเส้นผ่านศูนย์กลางและรอบตัดฟัน สามารถแยกได้ทั้งหมด 3 กลุ่ม ดังนี้ . กลุ่มที่ 1 ไม้โตไว เป็นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบของเส้นผ่านศูนย์กลางโตไวเฉลี่ย 1.5 – 2 เซนติเมตร/ปี หลังจากนั้นอัตราการหยุดเจริญเติบโตจะหยุดอย่างรวดเร็ว รอบตัดฟันไม้ยู่จึงที่ 5 – 15 ปี เช่น สะเดาเทียม กระถินเทพา กระถินณรงค์ ยูคาลิปตัส เลี่ยน สะเดา ขี้เหล็ก โกงกาง สนทะเล สนประดิพัทธ์ รวมถึงไผ่ ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ไม้ประเภทนี้เนื้องานจึงเหมาะกับการใช้สร้างบ้านเรือน หรืองานก่อสร้างต่าง ๆ เครื่องเรือนท้องถิ่น หรือในอุตสาหกรรมเยื่อไม้ ชิ้นไม้สับ ราคาเฉลี่ยที่ 80 – 360 บาท/ต้น ขึ้นอยู่กับอายุของไม้ . กลุ่มที่ 2 ไม้โตปานกลาง เป็นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบของเส้นผ่านศูนย์กลางโตไวเฉลี่ย 0.8 – 1.5 เซนติเมตร/ปี ซึ่งโตช้ากว่ากลุ่มที่ 1 แต่มีระยะการเจริญเติบโตนาน รอบตัดฟันไม้อยู่ที่ 15-20 ปี เช่น สัก ประดู่ ยางนา แดง สะตอ เป็นต้น …

ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจแต่ละภาค มีอิหยังแหน่? อ่านเพิ่มเติม »

สถานการณ์ ‘เงินเฟ้อ’ ภาคอีสานเป็นยังไง เมื่อของไทย เดือน ก.พ. 65 สูงสุดในรอบ 13 ปี

อัตราเงินเฟ้อของภาคอีสาน เดือน กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 4.55% (YoY) เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่สูงขึ้น 2.89% (YoY) . สาเหตุหลักยังคงมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และค่ากระแสไฟฟ้าผันแปร (Ft) จากฐานในปีที่ผ่านมาต่ำ (มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค) รวมไปถึงราคาเนื้อสุกร ที่สูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด . สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมีนาคม 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงานที่ยังสูง (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า) เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งถือเป็นต้นทุนการผลิตที่ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เริ่มปรับตัวลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว กลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกร ผักสด (พริกสด ขิง) และผลไม้ (ส้มเขียวหวาน มะม่วง) . . ที่มา: กระทรวงพาณิชย์

4 Megatrends กำหนดทิศทางการพัฒนาทักษะแรงงาน

กระแส Megatrends ในโลกยุคใหม่ ที่จะมากำหนดทิศทางการพัฒนาทักษะของแรงงาน ซึ่งภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1. การปรับใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ จากการสำรวจผู้ประกอบการท่ัวโลกโดย World Economic Forum (WEF) พบว่า เทคโนโลยีที่กิจการคาดว่าจะนำมาปรับใช้มากที่สุด (เกิน 80%) ในปี 2568 คือ Cloud Computing, Big Data และ Internet of things และจากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ทำให้องค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์มากข้ึน จึงคาดว่า ในอนาคตจะเกิดการเร่งตัวของการใช้เทคโนโลยี Encryption and cybersecurity 2. Green Economy หนุนการโตของ Green Jobs หากทั่วโลกหันมาใช้ ‘พลังงานทางเลือก’ ที่สามารถผลิตและหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแพร่หลาย จะผลักดันให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มอาชีพ เช่น Green Marketers, Innovation Manager และ Solar / Wind Energy Technician มากขึ้น ในทางกลับกัน ตำแหน่งงานในภาคธุรกิจที่ไม่สอดรับกับหลักการ Green Economy จะเป็นที่ต้องการลดลง 3. ESG กับการพัฒนาทุนมนุษย์ กระแสความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, and Governance : ESG) จะผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อมในการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human capital) สำหรับมาตรวัด (Metrics) ที่องค์กรควรให้ความสำคัญ เช่น การเข้าถึงการพัฒนาอย่างเท่าเทียม มีเครื่องมือรองรับสำหรับพนักงานที่มีศักยภาพสูง สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และการเปิดรับคำติชมจากพนักงาน 4. Multistage Life อายุยืนขึ้น ยิ่งต้องรู้หลายทักษะ ค่าเฉลี่ยอายุขัยประชากรโลกที่เพิ่มข้ึนจาก 72.8 ปี (ในปี 2563) เป็น 77 ปี (ในปี 2593) ทำให้เส้นแบ่งการเรียน-ทำงาน-เกษียณไม่ชัดเจน ยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดอาชีพ และทักษะใหม่ ๆ รวมไปถึงการที่หลายประเทศเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ผู้อยู่ในกำลังแรงงานจึงควรพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง โอกาสของธุรกิจ Corporate Training ● Customise โปรแกรมฝึกอบรมตามความต้องการของลูกค้า: โดยเน้นหลักสูตรที่ใช่ ในรูปแบบที่ชอบ เจาะกลุ่มทักษะที่สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ● เสริมพลังการให้บริการด้วย Partnership: โดยผนึกกำลังความเชี่ยวชาญกับพันธมิตรกลุ่มต่าง ๆ เพื่อยกระดับการฝึกอบรมให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด ● ต่อยอดธุรกิจกระจายกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย: …

4 Megatrends กำหนดทิศทางการพัฒนาทักษะแรงงาน อ่านเพิ่มเติม »

ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract farming)

ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract farming) ทางเลือกที่มั่นคงของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา เนื้อหมูมีการปรับราคาลงต่อเนื่องตามกลไกลตลาด โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดประเด็นราคาหมูแพงพุ่งสูงก่อนหน้านั้น เกิดจากปัญหาโรคระบาด ASF ที่ทำให้เกษตรกรไทยผู้เลี้ยงหมูได้รับผลกระทบ ต้องเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก สาเหตุดังกล่าว ทำให้เกษตรกรตระหนักได้ว่าวิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิมหรือเลี้ยงตามหลังบ้าน อาจไม่สามารถเลี้ยงหมูให้รอดปลอดภัยได้เมื่อโรคระบาด ASF มาเยือน เรื่องของเทคโนโลยีป้องกันโรคจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกฟาร์มต้องมี เพื่อช่วยลดปัญหาจากโรคระบาดและส่งเสริมให้สินค้าปศุสัตว์มีความปลอดภัย แต่สำหรับเกษตรกรที่คิดจะกลับเข้าสู่อาชีพอีกครั้ง อาจไม่ง่ายนักหากต้องจัดหา ลงทุน และทำอะไรทุกอย่างด้วยตัวเอง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของราคาขายหมูหน้าฟาร์ม ทำให้เกษตรกรยุคใหม่เสาะหาทางเลือกที่จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงทางรายได้ หนึ่งในทางเลือกนั้นน่าจะเป็น “ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง” ซึ่งเป็นการทำสัญญาข้อตกลงกันระหว่างเกษตรกรกับบริษัท ที่จะร่วมกันผลิตผลิตผลทางการเกษตรและมีผลตอบแทนตามที่ได้ตกลงกัน ซึ่งมี 2 แบบด้วยกัน คือ 1. แบบประกันรายได้ : เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย บริษัทจะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ ในการเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดให้ พร้อมเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทุกอย่างแทน ไม่ว่าจะเป็นกรณีสัตว์เกิดความเสียหายจากการป่วยตาย หรือภัยพิบัติ ทั้งยังรับความเสี่ยงต่อสภาวะ ตลาดและราคาสินค้าที่ผันผวนด้วย กล่าวง่าย ๆ คือการที่บริษัทนำทรัพย์สมบัติของบริษัท ทั้งตัวสัตว์ อาหารสัตว์ รวมไปถึงวัคซีน ไปฝากให้เกษตรกรช่วยเลี้ยงที่บ้าน (หรือโรงเรือน) ของเกษตรกร เมื่อสัตว์เติบโตตามที่ตกลงไว้ ก็จะมารับทรัพย์สินดังกล่าวกลับไป และให้ค่าฝากเลี้ยงตอบแทนแก่เกษตรกร ระบบนี้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ค่อนข้างแน่นอน 2. แบบประกันราคา : เหมาะสำหรับเกษตรกร รายกลางหรือเกษตรกรรายใหญ่ ระบบนี้เหมาะกับเกษตรกรที่ไม่ต้องการเสี่ยงหรือกังวลเรื่องการหาตลาดและเรื่องราคาที่ผันผวน แต่ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ และพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น โดยซื้อวัตถุดิบและทำสัญญาเรื่องการรับซื้อ ผลผลิตกับบริษัทในราคาตามที่ตกลงกันไว้ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรทำสัญญาตกลงซื้อขายในราคา 60 บาท/กก. ไว้กับบริษัท หากราคาหมูตกต่ำไปที่ 40-50 กว่าบาท/กก. เกษตรกรก็ยังคงขายได้ที่ 60 บาท/กก. แต่ถ้าวันใดที่ราคาตลาดขึ้นเป็น 90 บาท/กก. ก็ยังคงต้องขายในราคาที่เป็นไปตามสัญญาเช่นกัน ทำไมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง จึงสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากโรคระบาด เนื่องจากบริษัทได้นำเทคนิค วิธีการและระบบมาตรฐานในการป้องกันโรค ตลอดจนสัตวบาลและสัตวแพทย์ ช่วยกันถ่ายทอดความรู้พร้อมกับดูแลการเลี้ยง จึงช่วยให้หมูที่เกษตรกรกลุ่มนี้เลี้ยงมีความปลอดภัยและสามารถป้อนผลผลิตหมูสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นอีกทางเลือกที่ดีของเกษตรกรในยุคที่ต้องใช้ “เทคโนโลยี” ในการผลิตอาหารให้มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ระบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดมาแล้วกว่า 100 ปี และมีพัฒนาการเรื่อยมา กระทั่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้เกษตรกรไทยหลายรายได้อย่างยั่งยืน ความเห็นของเหล่าเกษตรกรภาคอีสานผู้อยู่ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง นายอดุลย์ วงษ์ภูเย็น เกษตรกรในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟ ใน จ.หนองคาย ได้เลี้ยงหมูภายใต้ระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2559 เล่าให้ฟังว่า เห็นการระบาดของโรคหมูในข่าวแล้วก็กลัวเหมือนกัน แต่ก็มั่นใจในมาตรฐานการป้องกันโรคที่บริษัทแนะนำ รวมถึงความเคร่งครัดของตนเอง ทำให้ฟาร์มของตนและเพื่อนบ้านไม่พบโรคดังกล่าวเลย ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งแบบประกันรายได้ที่ตนทำอยู่นี้ มีความมั่นคงปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพได้มาก หากจะแนะนำให้เลี้ยงหมู ก็จะแนะนำให้เลือกการเข้าระบบนี้ แม้ไม่มีความรู้ก็สามารถเลี้ยงหมูได้ด้วยเทคนิควิชาการต่าง ๆ ที่บริษัทมีให้ ด้านนางใบษร ทรายมูล อายุ 60 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูใน จ.ยโสธร กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า …

ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract farming) อ่านเพิ่มเติม »

Scroll to Top