ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ คือไม้ยืนต้นทุกชนิดที่ปลูกหรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติรวมถึงไผ่ ซึ่งอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ที่มีการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ ในการสร้างมูลค่าให้กับผู้ปลูก ทั้งขายโดยตรงและแปรรูป นอกจากนี้ยังสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ด้วย
.
การส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นนั้น มีความจำเป็นที่ต้องสร้างแรงจูงใจและต้องการกลไกทางการเงินเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมทั้งการปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายให้การปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถตัด จำหน่าย ทำไม้ได้อย่างสะดวก การให้องค์ความรู้ทางวิชาการในเรื่องการปลูก การเลือกพันธุ์ไม้ และพื้นที่ปลูกก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญ
.
ภาคเหนือ ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ สัก ประดู่ป่า พะยูง แดง และยางนา
.
ภาคอีสาน ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ ประดู่ป่า พะยูง ยางนา และสัก
.
ภาคใต้ ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ ไม้วงศ์ยาง จำปาป่า หลุมพอ สะเดาเทียม และกันเกรา
.
ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ไม้เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ ยางนา ประดู่ป่า พะยอม สักและกฤษณา
.
และไม้เศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้ทุกภาค ได้แก่ ตะเคียนทอง ไผ่ ยูคาลิปตัส และกระถินเทพา
.
.
การแยกประเภทไม้ตามประเภทการเจริญเติบโต โดยวัดจากเส้นผ่านศูนย์กลางและรอบตัดฟัน สามารถแยกได้ทั้งหมด 3 กลุ่ม ดังนี้
.
กลุ่มที่ 1 ไม้โตไว เป็นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบของเส้นผ่านศูนย์กลางโตไวเฉลี่ย 1.5 – 2 เซนติเมตร/ปี หลังจากนั้นอัตราการหยุดเจริญเติบโตจะหยุดอย่างรวดเร็ว รอบตัดฟันไม้ยู่จึงที่ 5 – 15 ปี เช่น สะเดาเทียม กระถินเทพา กระถินณรงค์ ยูคาลิปตัส เลี่ยน สะเดา ขี้เหล็ก โกงกาง สนทะเล สนประดิพัทธ์ รวมถึงไผ่ ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ไม้ประเภทนี้เนื้องานจึงเหมาะกับการใช้สร้างบ้านเรือน หรืองานก่อสร้างต่าง ๆ เครื่องเรือนท้องถิ่น หรือในอุตสาหกรรมเยื่อไม้ ชิ้นไม้สับ ราคาเฉลี่ยที่ 80 – 360 บาท/ต้น ขึ้นอยู่กับอายุของไม้
.
กลุ่มที่ 2 ไม้โตปานกลาง เป็นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบของเส้นผ่านศูนย์กลางโตไวเฉลี่ย 0.8 – 1.5 เซนติเมตร/ปี ซึ่งโตช้ากว่ากลุ่มที่ 1 แต่มีระยะการเจริญเติบโตนาน รอบตัดฟันไม้อยู่ที่ 15-20 ปี เช่น สัก ประดู่ ยางนา แดง สะตอ เป็นต้น การใช้งานจึงเหมาะกับการแปรรูปมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ หรืออุตสาหกรรมการแปรรูปไม้ ราคาเฉลี่ย 1,420 – 2,950 บาท/ต้น ขึ้นอยู่กับอายุของไม้
.
กลุ่มที่ 3 ไม้โตช้า เป็นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบของเส้นผ่านศูนย์กลางโตไวเฉลี่ย 0.8 เซนติเมตร/ปี รอบตัดฟันไม้จึงอยู่ที่ 20-30 ปี เช่น ไม้สัก พะยูง ชิงชัง เต็ง รัง มะค่าโมง ตะเคียนทอง เป็นต้น ระยะการเจริญเติบโตใกล้เคียงกับกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มไม้ที่ต้องใช้เวลาการเจริญเติบโตนาน จึงไม่เป็นที่นิยมปลูก แต่ได้ราคาสูงสุด เนื้อไม้มีความแข็งแรงกว่า สวยงามและทนทาน จึงเหมาะกับงานเฟอร์นิเจอร์ชั้นสูง และเป็นที่ต้องการมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ราคาเฉลี่ย 2,504 – 9,500 บาท/ต้น ขึ้นอยู่กับอายุของไม้
.
ทั้งนี้ทางภาครัฐและกรมป่าได้กําหนดให้มีการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 และป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 ซึ่งสามารถปลูกและตัดขายได้ เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นการสร้างอาชีพและยังสามารถนำมาเป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนาเกณฑ์การประเมินมูลค่าต้นไม้ที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับ
.
.
อ้างอิง:
http://forestinfo.forest.go.th/pfd/eBook_Detail.aspx?id=23
https://www.smeone.info/posts/view/335
https://www.dbd.go.th/news_view.php?nid=469420601
https://www.farmstory.co/articles/13