ผลสำรวจแรงงานนอกระบบ ปี 2564 จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งประเทศ 37.7 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 19.6 ล้านคน (52%)
.
หากเปรียบเทียบแรงงานนอกระบบจากจำนวนผู้มีงานทำในภูมิภาค จะพบว่า ภาคอีสาน มีแรงงานนอกระบบมากที่สุด (75.2%) รองลงมาเป็นภาคเหนือ (68.5%) ภาคใต้ (52.3%) ภาคกลาง (37.7%) และกรุงเทพมหานคร (21.9%)
.
เมื่อมาดูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แรงงานนอกระบบของประเทศส่วนใหญ่ทํางานอยู่ในภาคเกษตร (58%) รองลงมา เป็นภาคการบริการและการค้า (32.2%) และภาคการผลิต (9.8%)
.
ทั้งนี้ แบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ปี 2563 พบว่า อีสานมีแรงงานในภาคเกษตร 6.5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53% ของผู้มีงานทำในภูมิภาค ดังนั้น สัดส่วนแรงงานเกษตรที่มากจึงสะท้อนแรงงานนอกระบบที่มากไปด้วย
.
โดยสิ่งหนึ่งที่แรงงานนอกระบบจะต้องเผชิญ คือ ถ้าไม่ได้สมัครเข้าประกันสังคม ก็จะไม่มีสวัสดิการคุ้มครองครอบคลุมในหลายกรณีเหมือนกับแรงงานในระบบ ซึ่งที่ผ่านมา แรงงานเกษตรในอีสานได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยเพียง 34 บาท/ชั่วโมง น้อยกว่าสาขาอื่น ๆ เป็นเท่าตัว การจะให้มาจ่ายเงินเพื่อซื้อสวัสดิการเหมือนแรงงานในระบบจึงเป็นเรื่องยาก
.
ยิ่งปัญหาของแรงงานนอกระบบ ปี 2564 ที่ส่วนใหญ่มีปัญหาจากการทำงาน (31.8%) โดยสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ เรื่องของค่าตอบแทน จึงอาจกล่าวได้ว่า “จริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะในภาคเกษตร ไม่อยากจ่ายเงินเพื่อซื้อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่พวกเขาไม่มีให้จ่ายต่างหาก” เงินที่ได้เมื่อหักค่ากินค่าอยู่ก็แทบไม่เหลือ ไหนจะความไม่แน่นอนของรายได้ รวมไปถึงปัญหาหนี้สิน ที่ทำให้ไม่สามารถจ่ายได้ต่อเนื่อง
.
ซึ่งถ้าถามเหตุผลที่ยังทำเกษตรอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าสู่วัยสูงอายุของแรงงาน และจำนวนมากก็มีการศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า ทำให้การปรับเปลี่ยนอาชีพทำได้ยาก
.
ดังนั้น ภาครัฐอาจต้องหาวิธีให้แรงงานในภาคเกษตรได้พัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่ทำอยู่ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าแบบที่ไม่ยากหรือเป็นภาระพวกเขาเกินไป โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นตัวชี้วัด ควบคู่ไปกับการดึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจและอยากพัฒนาการเกษตรของภูมิภาคและประเทศมาเป็นกำลังเสริมให้มากขึ้น ก่อนที่แรงงานเกษตร ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยจะหายไปหมด
.
.
ที่มา: รายงาน การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2564 จัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ
และแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร จัดทำโดยสำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย