ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract farming)

ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract farming)
ทางเลือกที่มั่นคงของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู

ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา เนื้อหมูมีการปรับราคาลงต่อเนื่องตามกลไกลตลาด โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดประเด็นราคาหมูแพงพุ่งสูงก่อนหน้านั้น เกิดจากปัญหาโรคระบาด ASF ที่ทำให้เกษตรกรไทยผู้เลี้ยงหมูได้รับผลกระทบ ต้องเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก

สาเหตุดังกล่าว ทำให้เกษตรกรตระหนักได้ว่าวิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิมหรือเลี้ยงตามหลังบ้าน อาจไม่สามารถเลี้ยงหมูให้รอดปลอดภัยได้เมื่อโรคระบาด ASF มาเยือน เรื่องของเทคโนโลยีป้องกันโรคจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกฟาร์มต้องมี เพื่อช่วยลดปัญหาจากโรคระบาดและส่งเสริมให้สินค้าปศุสัตว์มีความปลอดภัย

แต่สำหรับเกษตรกรที่คิดจะกลับเข้าสู่อาชีพอีกครั้ง อาจไม่ง่ายนักหากต้องจัดหา ลงทุน และทำอะไรทุกอย่างด้วยตัวเอง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของราคาขายหมูหน้าฟาร์ม ทำให้เกษตรกรยุคใหม่เสาะหาทางเลือกที่จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงทางรายได้

หนึ่งในทางเลือกนั้นน่าจะเป็น “ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง” ซึ่งเป็นการทำสัญญาข้อตกลงกันระหว่างเกษตรกรกับบริษัท ที่จะร่วมกันผลิตผลิตผลทางการเกษตรและมีผลตอบแทนตามที่ได้ตกลงกัน ซึ่งมี 2 แบบด้วยกัน คือ

1. แบบประกันรายได้ : เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย

บริษัทจะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ ในการเลี้ยงสัตว์ทั้งหมดให้ พร้อมเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทุกอย่างแทน ไม่ว่าจะเป็นกรณีสัตว์เกิดความเสียหายจากการป่วยตาย หรือภัยพิบัติ ทั้งยังรับความเสี่ยงต่อสภาวะ ตลาดและราคาสินค้าที่ผันผวนด้วย

กล่าวง่าย ๆ คือการที่บริษัทนำทรัพย์สมบัติของบริษัท ทั้งตัวสัตว์ อาหารสัตว์ รวมไปถึงวัคซีน ไปฝากให้เกษตรกรช่วยเลี้ยงที่บ้าน (หรือโรงเรือน) ของเกษตรกร เมื่อสัตว์เติบโตตามที่ตกลงไว้ ก็จะมารับทรัพย์สินดังกล่าวกลับไป และให้ค่าฝากเลี้ยงตอบแทนแก่เกษตรกร ระบบนี้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ค่อนข้างแน่นอน

2. แบบประกันราคา : เหมาะสำหรับเกษตรกร รายกลางหรือเกษตรกรรายใหญ่

ระบบนี้เหมาะกับเกษตรกรที่ไม่ต้องการเสี่ยงหรือกังวลเรื่องการหาตลาดและเรื่องราคาที่ผันผวน แต่ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ มีประสบการณ์ และพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น โดยซื้อวัตถุดิบและทำสัญญาเรื่องการรับซื้อ ผลผลิตกับบริษัทในราคาตามที่ตกลงกันไว้

ตัวอย่างเช่น เกษตรกรทำสัญญาตกลงซื้อขายในราคา 60 บาท/กก. ไว้กับบริษัท หากราคาหมูตกต่ำไปที่ 40-50 กว่าบาท/กก. เกษตรกรก็ยังคงขายได้ที่ 60 บาท/กก. แต่ถ้าวันใดที่ราคาตลาดขึ้นเป็น 90 บาท/กก. ก็ยังคงต้องขายในราคาที่เป็นไปตามสัญญาเช่นกัน

ทำไมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง จึงสามารถอยู่รอดปลอดภัยจากโรคระบาด

เนื่องจากบริษัทได้นำเทคนิค วิธีการและระบบมาตรฐานในการป้องกันโรค ตลอดจนสัตวบาลและสัตวแพทย์ ช่วยกันถ่ายทอดความรู้พร้อมกับดูแลการเลี้ยง จึงช่วยให้หมูที่เกษตรกรกลุ่มนี้เลี้ยงมีความปลอดภัยและสามารถป้อนผลผลิตหมูสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

จึงเป็นอีกทางเลือกที่ดีของเกษตรกรในยุคที่ต้องใช้ “เทคโนโลยี” ในการผลิตอาหารให้มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ระบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดมาแล้วกว่า 100 ปี และมีพัฒนาการเรื่อยมา กระทั่งพิสูจน์แล้วว่าช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้เกษตรกรไทยหลายรายได้อย่างยั่งยืน

ความเห็นของเหล่าเกษตรกรภาคอีสานผู้อยู่ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง

นายอดุลย์ วงษ์ภูเย็น เกษตรกรในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟ ใน จ.หนองคาย ได้เลี้ยงหมูภายใต้ระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2559 เล่าให้ฟังว่า เห็นการระบาดของโรคหมูในข่าวแล้วก็กลัวเหมือนกัน แต่ก็มั่นใจในมาตรฐานการป้องกันโรคที่บริษัทแนะนำ รวมถึงความเคร่งครัดของตนเอง ทำให้ฟาร์มของตนและเพื่อนบ้านไม่พบโรคดังกล่าวเลย

ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งแบบประกันรายได้ที่ตนทำอยู่นี้ มีความมั่นคงปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพได้มาก หากจะแนะนำให้เลี้ยงหมู ก็จะแนะนำให้เลือกการเข้าระบบนี้ แม้ไม่มีความรู้ก็สามารถเลี้ยงหมูได้ด้วยเทคนิควิชาการต่าง ๆ ที่บริษัทมีให้

ด้านนางใบษร ทรายมูล อายุ 60 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูใน จ.ยโสธร กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ระบบนี้ให้อาชีพที่มั่นคงแก่ตนเอง ตั้งแต่ปี 2557 เรียกว่า อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะเลี้ยงหมูในระบบนี้ มีรายได้ที่แน่นอน ซึ่งต่างกับการทำนาที่ขาดทุนทุกปี

มาตรฐานต่าง ๆ คำแนะนำการป้องกันโรค การมีสัตวบาลดูแล และการเข้าถึงสินเชื่อ ธกส. ล้วนเป็นสิ่งที่บริษัทช่วยได้มาก ถึงวันนี้ครบ 8 ปีก็สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้หมดแล้ว ประเด็นสำคัญคือ “ไม่เสี่ยง” ไม่ต้องลงทุนหมูหรืออาหารเอง และยังได้รับค่าแรงเป็นค่าตอบแทนซึ่งคุ้มค่าสำหรับตน

อย่างไรก็ตาม คอนแทรคฟาร์มมิ่ง เป็นระบบที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในภาคปศุสัตว์สัตว์และพืช อาทิ ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ด อ้อย ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวบาร์เลย์ สับปะรด ฯลฯ

โดยมีบริษัทเอกชนที่มีความรู้และความชำนาญด้านการผลิต มีเทคโนโลยี และเชี่ยวชาญด้านการตลาด เข้ามาบริหารงานและรับความเสี่ยงแทนเกษตรกร นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับเกษตรกรยุคนี้ ที่จะกระจายความเสี่ยงบางส่วนไว้ที่ผู้ประกอบการ ส่วนเกษตรกรที่มีความพร้อมในระดับที่สูงขึ้น อาจเลือกทำข้อตกลงในรูปแบบที่แตกต่างออกไปได้

อ้างอิง:
-https://www.thansettakij.com/economy/514618
-https://www.prachachat.net/economy/news-847665

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top