หนองบัวลำภู ความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม ความเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในภาคอีสาน
หนองบัวลำภู ความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม ความเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในภาคอีสาน หากพูดถึงเศรษฐกิจ ย่อมมีทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ดี และไม่ดีแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมา อีสาน อินไซต์ นำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่ดีในหลายด้านของแต่ละจังหวัด แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ว่ายังมีคนจน กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย โดย รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 เปิดเผย จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน พัทลุง สตูล หนองบัวลำภู ตาก ประจวบครีรีขันธ์ ยะลา และตรัง วันนี้ ISAN Insight and Outlook สิพามาวิเคราะห์เบิ่ง สถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวของประชากร หนองบัวลำภู ดังนี้ 1. หนองบัวลำภู จังหวัดเล็กๆแห่งอีสานตอนบน มีประชากร 507,021 คน มีขนาดพื้นที่ ประมาณ 3,859 ตารางกิโลเมตร (2.4 ล้านไร่) ประกอบด้วย 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู อำเภอนากลาง อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอสุวรรคูหา อำเภอโนนสัง และอำเภอนาวัง มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่น ดังนี้ ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดอุดรธานี ทิศใต้ ติดกับจังหวัดขอนแก่น ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดอุดรธานี ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดเลย 2. แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดหนองบัวลำภูมีความโดดเด่นในเชิงธรรมะที่ผสานกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว ยกตัวอย่างเช่น ถ้ำเอราวัณ เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่อันเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อพระพุทธชัยศรีมุนีศรีโลกนาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง อีกหนึ่งสถานที่เชิงธรรมมะที่ถือว่าเป็น unseen ของจังหวัดที่ควรค่าแก่การไปเยือนเมื่อไปหนองบัวลำภูคือ ถ้ำผาเจาะ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ โดยถ้ำแห่งนี้มีทิวทัศน์ที่งดงามทั้งในถ้ำและนอกถ้ำ 3. ในด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ในปี 2565 จังหวัดหนองบัวลำภูมีขนาดเศรษฐกิจของจังหวัด(GPP) อยู่ที่ 31,696 ล้านบาท และรายได้ต่อหัวของจังหวัดอยู่ที่ 67,363 บาท โดยโครงสร้างเศรษฐกิจของหนองบัวลำภู เป็นดังนี้ – ภาคการบริการ คิดเป็น 42% ของ GPP – ภาคการผลิต คิดเป็น 22% ของ GPP – ภาคการเกษตร คิดเป็น 21% ของ GPP – ภาคการค้า คิดเป็น 15% ของ GPP ภาคการเกษตรเป็นส่วนที่สำคัญของหนองบัวลำภู จากการที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น 1,686,938 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของพื้นที่ทั้งหมด ตัวอย่างพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เช่น ข้าวนาปี …