ตลอด 10 ปีมานี้ คนอำเภอเมือง Big 4 แห่งอีสาน เริ่มหายไป?

Big 4 แห่งอีสาน หรือ 4 จังหวัดในภาคอีสานที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด ประกอบไปด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี ซึ่งจังหวัดเหล่านี้โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมือง มีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคม สาธารณูปโภค สิ่งปลูกสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีการเชิดชูวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว หวังดึงดูดการลงทุนและสร้างโอกาสในการทำงาน 

โดยการพัฒนาเหล่านี้จะนำไปสู่การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ในพื้นที่อำเภอเมืองของจังหวัดใหญ่ในอีสาน โดยในด้านผู้คน ก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการขยายของตัวเมือง หรือที่คนมักพูดกันว่า “เมืองไหนคนมากแสดงว่าเจริญ”

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในเมืองใหญ่จะมีการกระจุกตัวของประชากรสูง แต่หากมาดูที่ข้อมูลของกรมการปกครอง ด้านสถิติการเคลื่อนย้ายประชากรออกในเขตพื้นที่อำเภอเมืองของกลุ่ม Big 4  ตั้งแต่ปี 2558 – 2568 จะพบตัวเลขที่สำคัญคือ “มีการย้ายออกมากกว่าการย้ายเข้ามาอยู่” 

โดยเพื่อความชัดเจนในเชิงการอธิบายการเคลื่อนย้ายประชากรในช่วง 10 ปีนี้ จะใช้วิธีวัดจาก อัตราการย้ายถิ่นสุทธิ (Net Migration Rate) คำนวณจาก (จำนวนผู้ย้ายเข้าช่วง 10 ปีนี้ – จำนวนผู้ย้ายออกช่วง 10 ปีนี้)/จำนวนประชากรเฉลี่ยตลอด 10 ปี และเพื่อสะท้อนแนวโน้มการเพิ่มขึ้น-ลดลงของจำนวนประชากรในช่วง 10 ปีนี้ เทียบกับประชากร 1,000 คน จะประเมินการเติบโตของจำนวนประชากรโดยวิธีอัตราการเติบโตของประชากรแบบทบต้น (CAGR) โดยได้ผลลัพธ์ในแต่ละจังหวัด ดังนี้

1. อำเภอเมืองขอนแก่น

ข้อมูลประชากรเบื้องต้น:

  • จำนวนประชากร: 199,258 คน
  • สัดส่วนประชากรต่อทั้งจังหวัด: 15%
  • ความหนาแน่นของประชากร: 209 คน/ตร.กม.

อำเภอเมืองขอนแก่นมีอัตราการย้ายถิ่นสุทธิเท่ากับ – 289 ต่อ 1,000 คนในช่วง 10 ปีนี้ หรือก็คือถ้าประชากรเมืองมี 1,000 คน ในปีแรก นั่นแปลว่าใน 10 ปี มีคน ย้ายออกสุทธิประมาณ 289 คน นอกจากนั้นยังมีการแนวโน้มประชากรที่ลดลงจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยเท่ากับ -2.5% ต่อปี  ซึ่งเมืองขอนแก่นมีแนวโน้มประชากรย้ายออกและลดลงมากที่สุดในบรรดากลุ่ม Big 4 

 

2. อำเภอเมืองอุบลราชธานี

ข้อมูลประชากรเบื้องต้น:

  • จำนวนประชากร: 166,791 คน
  • สัดส่วนประชากรต่อทั้งจังหวัด: 9%
  • ความหนาแน่นของประชากร: 411 คน/ตร.กม.

อำเภอเมืองอุบลราชธานีมีอัตราการย้ายถิ่นสุทธิเท่ากับ -245 ต่อ 1,000 คนในช่วง 10 ปีนี้ แสดงว่าเมืองกำลังสูญเสียประชากรจากการย้ายถิ่นฐานเป็นรองแค่เมืองขอนแก่น ประชากรเมืองมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย และมีแนวโน้มของจำนวนประชากรที่ลดลงเท่ากับ -0.12% ต่อปี

 

3. อำเภอเมืองอุดรธานี

ข้อมูลประชากรเบื้องต้น:

  • จำนวนประชากร: 300,655 คน
  • สัดส่วนประชากรต่อทั้งจังหวัด: 20%
  • ความหนาแน่นของประชากร: 275 คน/ตร.กม.

อำเภอเมืองอุดรธานีที่มีพื้นที่มากที่สุดในบรรดากลุ่ม Big 4 และมีสัดส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสูงที่สุด อย่างไรก็ตาม อำเภอเมืองอุดรธานีก็เป็นอีกจังหวัดที่มีการย้ายออกมากกว่าย้ายเข้า แต่ก็ดูรุนแรงน้อยกว่า 2 จังหวัดแรก โดยมีอัตราการย้ายถิ่นสุทธิเท่ากับ -128 ต่อ 1,000 คนในช่วง 10 ปี  และมีแนวโน้มของจำนวนประชากรที่ลดลงเท่ากับ -0.35% ต่อปี

 

4. อำเภอเมืองนครราชสีมา

ข้อมูลประชากรเบื้องต้น:

  • จำนวนประชากร: 342,119 คน
  • สัดส่วนประชากรต่อทั้งจังหวัด: 13%
  • ความหนาแน่นของประชากร:  453 คน/ตร.กม.

เป็นอำเภอเมืองที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด และมีความหนาแน่นของประชากรสูงสุด โดยมีอัตราการย้ายถิ่นสุทธิในช่วง 10 ปีนี้เท่ากับ -127 ต่อ 1,000 ยังคงเป็นค่าติดลบเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น แต่อำเภอเมืองนครราชสีมาดูจะมีปัญหาการสูญเสียประชากรน้อยกว่าอีก 3 จังหวัด จากอัตราการย้ายถิ่นสุทธิและแนวโน้มของจำนวนประชากรที่ดูนิ่ง

 

การที่มีการเคลื่อนย้ายของประชากรในลักษณะที่ย้ายออกมากกว่าย้ายเข้านั้น ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่ทุกหย่อมหญ้าในประเทศไทยกำลังเผชิญคือโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดที่ลดลงต่ำกว่าการตาย ซึ่งส่งผลให้แนวโน้มประชากรลดลง

 

นอกจากนั้นอาจสะท้อนลักษณะสำคัญของภาคอีสานที่เป็นมาตั้งแต่อดีต คือการไม่มีงานรองรับผู้คน ทั้งคนหนุ่มสาวและวัยทำงานต้องการเข้าไปในในเมืองใหญ่ซึ่งมีโอกาสทางการทำงานและรายได้ที่มากกว่า นอกจากนั้นภาคอีสานยังดูน่าดึงดูดที่จะลงทุนในด้านธุรกิจและย้ายเข้ามาอยู่น้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งจุดนี้ก็เป็นประเด็นที่จังหวัดใหญ่กำลังมุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนานวัตกรรม สร้างการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) เพื่อเป้าหมายในการสร้างคน สร้างโอกาสการทำงาน และสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

หมายเหตุ: อัตราการย้ายถิ่นสุทธิ(Net Migration Rate) คำนวณจาก จำนวนการย้ายเข้าช่วง10ปี -จำนวนการย้ายออกช่วง10ปี หารด้วยจำนวนประชากรเฉลี่ย เทียบต่อประชากร 1000 คน , แนวโน้มการเพิ่ม/ลดประชากรคำนวณจากการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรช่วง 10 ปี แบบ CAGR

ที่มา: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, เว็บไซต์จังหวัด, World Bank, UNData

พามาเบิ่ง👨‍👩‍👧‍👦กราฟพีระมิด ‘ประชากรอีสาน’ ต้อนรับ Gen BETA👶

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top