ปัญหาสินค้าจีนทะลัก นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน ที่ผู้คนเริ่มมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากก่อให้เกิดปัญหาในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การขาดดุลทางการค้าที่รุนแรง การนำเข้าสินค้าที่มากจนกระทบกับตลาดภายในประเทศ หรือการนำเข้าสินค้าที่ราคาถูกแต่คุณภาพต่ำ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค และเกิดการแข่งขันด้านราคาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีมาตรการป้องกันที่แน่นหนาและครอบคลุมมากเพียงพอที่จะป้องกันการสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคในประเทศจากการนำเข้าสินค้าที่มากเกินไป
เปิด เส้นทางขนส่งสินค้า ออนไลน์ ทำไมต้องผ่าน “มุกดาหาร” 2 วัน ส่งไว จีน-ไทย ไม่เกินจริง
การทะลักของสินค้าจีนที่ระบาดในประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มขึ้นเมื่อมี สงครามทางการค้าของจีนและสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2561 เริ่มจากนโยบายการขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สินค้าจีนจำนวนมากมีตลาดที่จะขายสินค้าน้อยลง และเริ่มนำสินค้ามาขายในประเทศใกล้เคียง รวมถึงประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้หลายประเทศเริ่มออกมาตอบโต้ด้วยมาตรการการค้า แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมากเกินไป
รูปภาพ 1 : แสดงถึงการค้าระหว่างประเทศของไทย – จีนปี 2563 ถึง 2567 (ม.ค.- ก.ย.)
ที่มา : กรมศุลกากร
เมื่อเปรียบเทียบการค้าของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีมูลค่าการค้ากับประเทศจีนมากที่สุด ในขณะเดียวกันในรูปที่ 1 ก็แสดงการขาดดุลทางการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่น่ากังวลถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของกระแสสินค้าอีกครั้ง หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่มีโดนัลด์ ทรัมป์นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง และมีนโยบายที่จะกีดกันการนำเข้าสินค้าจีนอย่างรุนแรง จนคาดการณ์ว่าจะเกิดสงครามทางการค้ารอบที่ 2 ขึ้น
จากสงครามทางการค้าครั้งแรกในปี พ.ศ.2561 นำมาซึ่งการเสาะหาตลาดที่จะระบายสินค้าแห่งใหม่ของประเทศจีน ซึ่งมองตรงมาที่ประเทศที่มีการพึ่งพาสินค้าและมีการนำเข้าสินค้นจากจีนมากที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งก็คือประเทศไทย ทำให้เกิดกระแสการนำเข้าสินค้าจีนสูงขึ้น และทำให้เกิดความกังวลถึงปัญหาสินค้าจีนทะลักเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีมาตรการป้องกันที่ชัดเจน ซึ่งอาจกระทบกับธุรกิจรวมถึงผู้ประกอบการและผู้บริโภคในประเทศได้
รูปภาพ 2 : แสดงสัดส่วนการนำเข้าสินค้าผ่านแดนด้าน สปป.ลาว จากจีนต่อการนำเข้าผ่านแดนทั้งหมด
ปี 2563 ถึง 2567 (ม.ค.- ก.ย.)
ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ
เส้นทางสำคัญในการส่งออกของสินค้าจีนมาไทยอีกทางหนึ่งคือ การส่งออกสินค้าผ่านแดนจากฝั่ง สปป.ลาว และเข้ามาที่ด่านการค้าชายแดนในภาคอีสาน ซึ่งมีด่านการค้าสำคัญคือ ด่านศุลการกรมุกดาหาร ด่านศุลกากรหนองคาย และด่านศุลการกรนครพนม
หลังจากเกิดสงครามการค้าในปี พ.ศ.2561 ประเทศไทยเริ่มมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสัดส่วนการนำเข้าผ่านแดนที่มายังภาคอีสานในรูปที่ 2 พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของสินค้าจากจีนอย่างมีมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นจาก 32 เปอร์เซ็นต์มาเป็น 84 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มด้านการพึ่งพาสินค้าจากจีนที่มีมากขึ้นและแสดงถึงมุมมองของประเทศจีนที่มีต่อประเทศไทยในด้านของการเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากเพียงพอที่จะรองรับสินค้าจากประเทศจีน
รูปภาพ 3 : แสดงถึง 5 อันดับสินค้านำเข้าจากจีนที่มีมูลค่ามากที่สุด ปี 2567 (ม.ค.- ก.ย.)
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)
รูปภาพ 4 : ส่วนแบ่งการตลาดและอัตราการเปลี่ยนแปลงของมูลค่า ของสสินค้านำเข้าจากประเทศจีน
5 อันดับแรก ปี 2567 (ม.ค.- ก.ย.)
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)
รูปที่ 3 และ 4 แสดงถึงสินค้าที่มีมูลค่ามากที่สุดที่ประเทศไทยได้มีการนำเข้าจากจีน ทั้งจากเส้นทางผ่านแดนฝั่ง สปป.ลาวและเส้นทางอื่นๆ ได้แก่ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูง รวมถึงกินส่วนแบ่งการตลาดของการนำเข้าสินค้าชนิดนั้นๆจากทุกประเทศมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อธุรกิจรวมถึงผู้ประกอบการในอีสาน ที่มีการผลิตหรือขายสินค้าที่ใกล้เคียงกับสินค้าที่มีการนำเข้าจากประเทศจีน เนื่องจากสินค้าที่มีการนำเข้าจากประเทศจีนมักจะกดราคาให้ต่ำ ทำให้ส่งผลโดยตรงทำให้การแข่งขันด้านราคากับผู้ประกอบการในพื้นที่มีมากขึ้น และเนื่องจากอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ในประเทศจีน อาจจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถสู้ราคาได้เนื่องจากการประหยัดต่อขนาด หรือ economies of scale ที่มากกว่า นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับผู้บริโภคได้ทั้งด้านที่ดีและไม่ค่อยดีนัก ในด้านที่ดีคือ ผู้บริโภคในพื้นที่จะมีสินค้าให้เลือกมากขึ้น และการแข่งขันด้านราคาจะทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีราคาถูกลง ในขณะเดียวกันข้อเสียเปรียบคือ เมื่อผู้ประกอบการในพื้นที่เริ่มสู้สินค้านำเข้าจากประเทศจีนไม่ไหว จะทำให้ผู้บริโภคสนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการในพื้นที่ได้น้อยลง รวมถึงคุณภาพสินค้าที่อาจไม่สูงนัก
ที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทะลักสินค้าจีนที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้ารอบแรกเท่านั้น และเมื่อสงครามทางการค้าครั้งที่สองที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่มขึ้นจาก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็น 60 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ อาจทำให้เกิดการทะลักของสินค้าที่มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน รวมถึงผลกระทบที่รุนแรงกับธุรกิจ ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภค ทั้งในภาคอีสานและทั่วประเทศที่จะรุนแรงขึ้นมากกว่าเดิมหากไม่ได้มีมาตรการป้องกันที่ชัดเจนและแน่นหนามากเพียงพอ