เทศกาล โปรโมชั่น ลดกระหน่ำ ประจำเดือนมาถึงแล้ว หลายๆ คนก็เริ่มเก็บคูปองแล้วกดตะกร้าสั่งสินค้ากันแล้ว และแน่นอนว่าจะต้องตั้งตารอสินค้า และเช็คสถานะพัสดุที่จัดส่งเป็นระยะๆ จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วทำไมสินค้าบางอย่างที่สั่งผ่านร้านค้าที่จัดส่งจากต่างประเทศนั้น ถึงส่งได้อย่างรวดเร็ว ว่องไว เหลือเกิน โดยปกติจะมีการแจ้งจัดส่งภายใน 7 วัน แต่เอาเข้าจริงกลับจัดส่งได้เร็วกว่านั้น หรือเร็วสุด 2 วันก็ถึงแล้ว นอกจากนั้นหลายๆ คนก็เริ่มตั้งข้อสังเกตแล้วว่าสินค้าที่จัดส่งมาหลายๆ ชิ้นจะต้องผ่าน “ที่ทำการ MUKDAHAN” หรือ ด่าน มุกดาหารอยู่เสมอ ดังเช่นภาพตัวอย่างด้านล่างที่แนบมานี้
ทำความรู้จักจุดผ่านแดนอีสาน-ประเทศเพื่อนบ้าน
สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ด่านที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุดกว่า 2 แสนล้านบาท/ปี
สะพานมิตรภาพ “ไทย-ลาว” ในภาคอีสานอยู่ที่ไหนบ้าง
.
.
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์)
มูลค่าการค้า 82,211 ล้านบาท
เปิดใช้งาน 2537
ความยาว 1,174 เมตร
ความกว้าง 12.7 เมตร
.
สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)
มูลค่าการค้า 270,093 ล้านบาท
เปิดใช้งาน 2549
ความยาว 1,600 เมตร
ความกว้าง 12 เมตร
.
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน)
มูลค่าการค้า 101,201 ล้านบาท
เปิดใช้งาน 2554
ความยาว 780 เมตร
ความกว้าง 13 เมตร
.
สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)
งบประมาณ 4,010 ล้านบาท
การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80 %
คาดเปิดใช้งาน 2567
ความยาว 1,350 เมตร
.
สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน)
งบประมาณ 5,097 ล้านบาท
เตรียมเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างในปี 2568
คาดเปิดใช้งาน 2571
ความยาว 1,607 เมตร
.
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทั้ง 6 แห่ง โดย 5 แห่งอยู่ในอีสานและ แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) อยู่ที่จังหวัดเชียงราย ภาคเหนือ
กล่าวได้ว่า การมาของแฟลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ ทำให้มูลค่าการค้า ด่าน มุกดาหาร เติบโตและมีมูลค่ามากที่สุดในอีสาน แต่เนื่องจากมูลค่าการค้าเปลี่ยนจากออฟไลน์ที่คนไทย-ลาว ค้าขายที่ สะพานมิตรภาพ เป็นการค้าออนไลน์ ทำให้การค้าที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้คนในท้องถิ่นมุกดาหารได้รับผลดีเท่าที่ควร
เปิดเส้นทาง ด่านส่งออกและนำเข้าสำคัญจาก ไทย-จีน
ส่วนที่ว่าทำไมจึงขึ้นเส้นทางที่มุกดาหารเป็นจังหวัดแรก เพราะเป็นจังหวัดที่มีเส้นทางขนส่งทางถนนเชื่อมต่อได้ยาวถึงประเทศจีน สินค้าที่ขนมาทางรถส่วนหนึ่งก็จะมาเส้นทางนี้ และกระจายต่อไปยัง จ.ขอนแก่น ได้ง่าย
- การขนส่งสินค้าผ่านทางบก (ทางรถยนต์และทางราง)
การขนส่งสินค้าผ่านทางบกมีข้อดีด้านระยะเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็ว สามารถขนส่งสินค้าตรงไปยังจุดหมายปลายทางแบบ Door to Door โดยไทยสามารถขนส่งทางบกข้ามพรมแดนผ่าน สปป.ลาว (ด่านบ่อเต็น) เมียนมาร์ (เมืองเชียงตุง/ด่านเมืองลา) และเวียดนาม (ด่านหล่างเซิน/ ด่านหูหงิ/ ด่านหม่องก๋อย) เพื่อส่งสินค้าเข้าสู่ประเทศจีน การขนส่งทางบกข้ามพรมแดนได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ช่วยขยายศักยภาพในการขนส่งและกระจายสินค้าไทยสู่ตลาดเป้่าหมาย เป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว ทั้งนี้ มณฑลยูนนานกับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีนมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ดังนั้น สินค้าไทยส่วนใหญ่จะถูกขนส่งทางบกไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์ หรือทางรถไฟไปยังตลาดจีนผ่านด่านใน 2 พื้นที่ดังกล่าว โดยส่วนใหญ่จะผ่านด่านบ่อหานของมณฑลยูนนาน และผ่านด่านตงชิงหรือด่านโหยวอี้กว่านของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
(ภาพจาก www.tradelogistics.go.th)
1.1 เส้นทางรถยนต์ ประกอบด้วย 5 เส้นทางหลัก ดังนี้
1.1.1 เส้นทางR3A
สินค้าไทยส่วนใหญ่ขนส่งทางบกเชื่อมเส้นทาง R3A (Road 3 Asia) ผ่านด่านบ่อหานในมณฑลยูนนานและกระจายไปยังมณฑลพื้นที่ตอนในของจีน เส้นทาง R3A เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นทางหลวงนานาชาติที่เชื่อมโยงระหว่าง ไทย – ลาว – จีน โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่ชายแดนมณฑลยูนนาน โดยเชื่อมต่อผ่านจุดสำคัญของทั้ง 3 ประเทศ ดังนี้ กรุงเทพฯ –> ด่านเชียงของ (จ.เชียงราย ประเทศไทย) –> ด่านห้วยทราย (แขวงบ่อแก้ว –เวียงคูคา–หลวงน้ำกา) –> ด่านบ่อเต็น (สปป.ลาว) –> มณฑลยูนนาน (ด่านบ่อหาน – เมืองเชียงรุ้ง/จิ่งหง – นครคุนหมิง) ด้วยระยะทางประมาณ 1,800 กิโลเมตร โดยเส้นทางประกอบด้วย 3
เส้นทางสำคัญใน 3 ประเทศ ได้แก่
- ไทย (ระยะทางจากกรุงเทพฯ – จังหวัดเชียงราย รวม 813 กิโลเมตร)
- ลาว (ระยะทางจากด่านห้วยทราย- ด่านบ่อเต็น รวม 247 กิโลเมตร)
- จีน (ระยะทางจากด่านบ่อหาน- นครคุนหมิง รวม 827 กิโลเมตร)
เส้นทาง R3A เป็นเส้นทางที่มีความสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการขนส่งสินค้าการเกษตร ทั้งยังมีส่วนในการส่งเสริมการลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศต่างๆ ตลอดเส้นทางอีกด้วย ตั้งแต่เส้นทาง R3A เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2551 ได้ช่วยพัฒนาสภาพการจราจรของประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทางให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การเดินทางจากนครคุนหมิงไปกรุงเทพฯ สั้นลงจากมากกว่า 40 ชั่วโมง เหลือประมาณ 20 ชั่วโมง ในปี 2565 การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3A มีมูลค่ามากกว่า 52 พันล้านหยวน โดยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2566 การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3A มีมูลค่าเกิน 2 หมื่นล้านหยวน สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ผัก ผลไม้สด ผลไม้แช่เย็น ผลไม้แปรรูป เครื่องปรุงรส สมุนไพร และสินค้าอุปโภคบริโภค
1.1.2 เส้นทาง R3B
เส้นทาง R3B เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่าง ไทย – เมียนมาร์ – จีน ใช้ระยะเวลาในการขนส่งประมาณ 3-5 วัน โดยเชื่อมต่อผ่านจุดสำคัญของทั้ง 3 ประเทศ ดังนี้ อำเภอ
แม่สาย (จ.เชียงราย ประเทศไทย) –> ด่านท่าขี้เหล็ก (ประเทศเมียนมาร์) –> เมืองเชียงตุง จุดข้ามแดนถาวร (ประเทศเมียนมาร์) –> เมืองเชียงรุ้ง มณฑลยูนนาน (ประเทศจีน) ซึ่งเส้นทางนี้จะไปรวมกับเส้นทาง R3A ที่เมืองเชียงรุ้ง และไปยังนครคุนหมิง มณฑลยูนนานต่อไป หลังจากนั้นจะมีการกระจายสินค้าไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การขนส่งสินค้าจะนิยมใช้เส้นทาง R3A เป็นหลัก โดยเส้นทาง R3B ไม่เป็นที่นิยมใช้นัก เนื่องจากต้นทุนการขนส่งค่อนข้างสูง
1.1.3 เส้นทาง R8
เส้นทาง R8 นับเป็นอีกเส้นทางที่สำคัญในการขนส่งสินค้าจากไทยสู่ตลาดจีน โดยเส้นทางนี้เชื่อม 4 ประเทศด้วยกัน เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ –> จังหวัดบึงกาฬ (ประเทศไทย) –> ด่านปากซัน (สปป.ลาว) –> ด่านเกาแจว (ประเทศเวียดนาม) –> กรุงฮานอย (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านหล่างเซิน (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านโหยวอี้กว่าน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (ประเทศจีน) ระยะทางรวม 1,597 กิโลเมตร ใช้เวลาในขนส่งราว 32 ชั่วโมง สินค้าที่ขนส่งผ่านเส้นทางนี้มีความหลากหลาย อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์การเกษตร สินค้าเวชภัณฑ์ เป็นต้น
1.1.4 เส้นทาง R9 เส้นทางสาย R9 เป็นอีกเส้นทางหลักที่สำคัญสำหรับการค้าระหว่างไทย – จีน โดยแบ่งเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่
– เส้นทางที่ 1 : ด่านมุกดาหาร (ประเทศไทย) –> ด่านสะหวันนะเขต (สปป.ลาว) –> ด่านลาวบาว (ประเทศเวียดนาม) –> กรุงฮานอย (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านหูหงิ (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านโหยวอี้กวน เมืองผิงเสียง (ประเทศจีน) –> นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง (ประเทศจีน) ด้วยระยะทางรวมประมาณ 1,590 กิโลเมตร การพัฒนาเส้นทาง R9 เส้นทางที่ 1 นี้ได้ช่วยลดระยะเวลาการขนส่งเมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าไทยทางเรือ ยกตัวอย่าง การขนส่งผลไม้ของไทยไปยังประเทศจีนก่อนหน้านี้ใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน แต่การขนส่งทางผ่านเส้นทาง R9 ทำให้ระยะเวลาการขนส่งสั้นลงเหลือเพียง 2-3 วัน ซึ่งมีความสำคัญต่อธุรกิจการส่งออกผลไม้เป็นอย่างมาก เนื่องจากระยะเวลาขนส่งมีผลต่ออายุและการรักษาความสดของผลไม้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
– เส้นทางที่ 2 : ด่านมุกดาหาร (ประเทศไทย) –> ด่านสะหวันนะเขต (สปป.ลาว) –> ด่านลาวบาว (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านหม่องก๋อย (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านตงชิง (เมืองฝางเชิงก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน) ที่เป็นเส้นทางใหม่ในการขนส่งผลไม้ไทยสู่จีน หลังจากนั้น จะไปสิ้นสุดที่นครหนางหนิงเพื่อกระจายสินค้าไปยังมณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลหูหนาน กรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้
1.1.5 เส้นทาง R12 ทางหลวง R12 เป็นเส้นทางเชื่อมต่อไทย – ลาว – เวียดนาม – จีน ถือเป็นระยะทางสั้นที่สุดและสะดวกที่สุดที่เชื่อมระหว่างจีนกับอาเซียน ปัจจุบัน เส้นทางนี้ได้รับการกำหนดอย่างเป็นทางการจากจีนให้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการขนส่งสินค้าเข้าสู่กลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นข้อต่อสำคัญในยุทธศาสตร์ “มุ่งลงใต้” จากจีนไปยังสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ยังกลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับสินค้าไทยในการส่งออกไปยังตลาดจีนโดยผ่านเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วง
เส้นทาง R12 มีระยะทางรวมประมาณ 1,700 กิโลเมตร โดยใช้เวลาในการขนส่งสินค้าประมาณ 2 วัน มีข้อได้เปรียบด้านระยะเวลาที่สั้นและต้นทุนการขนส่งต่ำ ทั้งนี้ เส้นทาง R12 สามารถแยกได้เป็น 2 เส้นทาง ดังนี้
– เส้นทางที่ 1 : ด่านนครพนม (ประเทศไทย) –> ด่านท่าแขก (สปป.ลาว) –> ด่านนำพาว (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านจาลอ (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านหูหงิ (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านโหยวอี้กว่าน (เมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน)
– เส้นทางที่ 2 : ด่านนครพนม (ประเทศไทย) –> ด่านท่าแขก (สปป.ลาว) –> ด่านนำพาว (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านจาลอ (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านหม่องก๋าย (ประเทศเวียดนาม) –> ด่านตงซิน (เมืองฝางเชิงก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน)
ทั้งนี้ จากข้อมูลในช่วงปี 2561-2563 ของด่านตรวจพืชนครพนม ระบุว่า ปริมาณการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปยังประเทศจีนผ่านเส้นทาง R12 ในปี 2561 อยู่ที่ 134,191.71 ตัน ปี 2562 ที่ 517,778.71 ตัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 1,414.34 (YoY) สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของเส้นทางขนส่ง R12 สำหรับการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ในปี 2563 ปริมาณการส่งออกผลไม้สด อยู่ที่ 357,042.97 ตัน ลดลงร้อยละ 31.04 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
1.2 เส้นทางรถไฟลาว– จีน (ทางราง)
เส้นทางรถไฟระหว่างลาว – จีน ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ในฐานะเป็นโครงการสำคัญของนโยบายข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ถือเป็นโครงการรถไฟในต่างประเทศโครงการแรกที่จีนไปลงทุนและดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งดำเนินการร่วมกับ สปป.ลาว และเป็นเส้นทางรถไฟในต่างประเทศที่เชื่อมต่อโดยตรงกับเครือข่ายทางรถไฟภายในประเทศของจีน โดยเส้นทางรถไฟระหว่างลาว-จีน ได้ใช้มาตรฐานทางเทคนิคของจีนและใช้อุปกรณ์การก่อสร้างของจีนตลอดทั้งสาย
เส้นทางรถไฟลาว – จีน สามารถลำเลียงสินค้าและผู้โดยสารจากจีนตอนใต้ผ่านสปป.ลาว โดยเส้นทางนี้จะเชื่อมจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาที่เมืองบ่อเต็น สปป.ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อประเทศไทยได้ที่สถานีรถไฟหนองคาย ที่อยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์เพียง 24 กิโลเมตร
ทางรถไฟสายลาว – จีน สามารถลำเลียงสินค้าจากทั่วประเทศของไทย โดยลำเลียงสินค้าจากกรุงเทพฯ แหลมฉบัง หรือสถานีต้นทางอื่นๆ ไปยังจังหวัดหนองคาย แล้วผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ไปสู่ท่าบกท่านาแล้ง สปป.ลาว เพื่อที่จะเปลี่ยนถ่ายรางรถไฟ (จากรางความกว้าง 1 เมตร เป็นรางมาตรฐานที่มีความกว้าง 1.435 เมตร) แล้วจึงใช้เส้นทางรถไฟสายลาว – จีนเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทร์ ไปยังจุดหมายปลายทางที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน และกระจายสินค้าที่ลำเลียงมาไปยังเมืองต่างๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็นนครเฉิงตู นครอู่ฮั่น นครซีอาน เป็นต้น อีกทั้ง เส้นทางรถไฟสายนี้ยังสามารถเชื่อมโยงกับการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ โดยผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปได้อีกด้วย
เส้นทางรถไฟลาว-จีน มีความสำคัญต่อการขนส่งผลไม้ไทยเข้าสู่จีน โดยก่อนหน้านี้ การขนส่งผลไม้ไทยจะใช้ 2 ช่องทางหลัก คือ ทางเรือ และทางบก ซึ่งหากเลือกใช้วิธีการขนส่งผลไม้ทางเรือไปยังท่าเรือของจีนก่อน แล้วค่อยจัดส่งผลไม้ไปยังนครเฉิงตู – นครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนในของจีน จะใช้เวลาประมาณ 10 วัน ซึ่งมีผลต่อความสดใหม่และอายุของสินค้า เพราะผลไม้สามารถเน่าเสียง่าย ขณะเดียวกัน หากเลือกใช้วิธีการขนส่งผลไม้ทางบก แม้ว่าจะใช้ระยะเวลาที่เร็วกว่า แต่ต้นทุนการขนส่งจะเพิ่มสูงขึ้น และผลไม้อาจเกิดความเสียหายได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ระบบการขนส่งผลไม้ไทยไปยังนครเฉิงตู – นครฉงชิ่งได้พัฒนาและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยสามารถขนส่งผ่านระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain Logistics) ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพสินค้าตลอดเส้นทางการขนส่งของรถไฟลาว-จีน โดยใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดตามสถานะการขนส่งผลไม้ได้แบบเรียลไทม์
ตั้งแต่เส้นทางรถไฟระหว่างลาว-จีน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ได้กลายเป็นช่องทางในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนและประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 เป็นวันครบรอบ 2 ปีของการเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน มีจำนวนการขนส่งผู้โดยสารทั้งสิ้น 24.2 ล้านคน มีปริมาณการส่งสินค้ารวม 29.1 ล้านตัน และมีการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนมากกว่า 6 ล้านตัน โดยการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟสายลาว – จีน ได้ให้บริการครอบคลุมไปยัง 12 ประเทศภายใต่้โครงการ BRI ได้แก่ ลาว ไทย เวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย กัมพูชา บังคลาเทศ สิงคโปร์ ติมอร์ตะวันออก อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ ณ ปัจจุบัน มีมากกว่า 2,700 ชนิด อาทิ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร วัสดุบรรจุภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง: ระบบรางทำให้คนจีนเข้าสู่อีสานมากขึ้น พามาเบิ่ง เส้นทางมังกร: การเดินทางของคนจีนสู่อีสาน 2024
ทั้งนี้ การพัฒนาเส้นทาง R9 เส้นทางที่ 1 ช่วยลดระยะเวลาการขนส่งมากหากเทียบกับทางเรือ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน แต่การขนส่งทางผ่านเส้นทาง R9 ทำให้ระยะเวลาการขนส่งสั้นลงเหลือเพียง 2-3 วัน
อนาคตจะยิ่งเร็วกว่านี้ เมื่อระบบรางเชื่อมต่อกันตลอดทั้งสาย ทั้งภายใน-ต่างประเทศ
สรุปสินค้า จีน-ไทย ทำไมถึงเร็ว
- ระบบขนส่งทางรถยนต์ ที่มีประสิทธิภาพ และการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ ผ่าน
- เส้นทาง R8 ด่านบึงกาฬ (ประเทศไทย) ขนส่งราว 32 ชั่วโมง เป็นสินค้าหลายกลุ่ม อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์การเกษตร สินค้าเวชภัณฑ์ เป็นต้น
- เส้นทาง R9 ด่านมุกดาหาร (ประเทศไทย) เป็นอีกเส้นทางหลักที่สำคัญสำหรับการค้าระหว่างไทย – จีน โดยเส้นทางที่ 1 ขนส่งราว 2-3 วัน เร็วจากทางเรือที่ขนส่ง 7-8 วัน
- เส้นทาง R12 ด่านนครพนม (ประเทศไทย) ขนส่งสินค้าประมาณ 2 วัน เป็นข้อต่อสำคัญในยุทธศาสตร์ “มุ่งลงใต้” จากจีนไปยังสิงคโปร์
- ระบบรางขนส่งทางรถไฟ ในฐานะเป็นโครงการสำคัญของนโยบายข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) หลักๆ คือการเดินทางของผู้คนข้ามพรมแดนที่มากขึ้น และรวดเร็วขึ้น
- สินค้าที่ฝากไว้ในโกดังย่านปลอดอากร (Free Zone) โดยสินค้าเหล่านี้ถูกขนส่งเพื่อรอพักไปยังประเทศที่ 3 โดยคลังสินค้าฟรีโซนจะตั้งอยู่ประเทศปลายทางอยู่แล้ว เช่น สินค้าจีนที่คนไทยสั่งซื้อ อาจอยู่ในโกดังไทย หรือโกดังเวียดนามอยู่แล้ว การฝากวางไว้ และถ้ายังไม่นำออกจากคลังสินค้าจะถือว่ายังไม่ถูกส่งออก เมื่อต้องการส่งออก ก็นำสินค้าที่รอในคลังมาผ่านพิธีการทางศุลกากร โดยสินค้าต้องจดแจ้งทุกอย่าง ว่าเป็นสินค้าอะไร เอามาทำอะไร มีจำนวนเท่าไหร่ ย้ายจากไหนไปไหน เมื่อมี order จึงนำเข้าผ่านศุลกากรตามจำนวนที่ได้รับ order เท่านั้น และที่สำคัญคือ สินค้าจะปลอดภาษีหากมูลค่าไม่ถึง ฿1,500
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ