“มั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย ท่องเที่ยววิถีใหม่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
คำขวัญเชิงนโยบายนี้สะท้อนภาพการพัฒนาอย่างสมดุลของจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด ที่วางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม
.
“เมื่อกาฬสินธุ์กลายเป็นจุดสนใจของทุนต่างชาติ: ศักยภาพที่ยังรอการปลดล็อก”
แม้จะไม่ได้เป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวหรือศูนย์กลางเศรษฐกิจใหญ่ในภาคอีสาน แต่กาฬสินธุ์กำลังกลายเป็นพื้นที่ศักยภาพสูงที่ได้รับความสนใจจากการลงทุน โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ตัวอย่างชัดเจนคือ การที่กาฬสินธุ์มีมูลค่าการลงทุนจากประเทศจีนสูงเป็นอันดับ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นมูลค่าร่วมกว่า 828 ล้านบาท
การลงทุนจากจีนในด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรอาจเป็นจุดพลิกของเศรษฐกิจท้องถิ่น หากมีการยกระดับห่วงโซ่อุปทาน เช่น การพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ หรือ อุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย ก็สามารถเปลี่ยนจังหวัดนี้จากพื้นที่วัตถุดิบให้เป็นศูนย์กลางแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มได้ แต่ความเสี่ยงที่ตามมาคือการกระจุกตัวของประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการขาดความสามารถในการต่อรองของเกษตรกรรายย่อย หากไม่มีระบบกำกับดูแลหรือกลไกตรวจสอบร่วมระหว่างรัฐและชุมชน
.
.
โดยจังหวัดกาฬสินธุ์ก็มีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 774 ล้านบาท อย่างบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด ซึ่งทำธุรกิจการผลิตน้ำตาลบริสุทธิ์ โดยมีมูลค่าการลงทุนของชาวจีนมากกว่า
14.3 ล้านบาทเลยทีเดียว และนอกเหนือจากการลงทุนในน้ำตาลบริษุทธิ์ ก็จะมีดังนี้ตามภาพ
และเมื่อดูสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนชาวจีน จะพบว่า มีการลงทุนกระจุกตัวในพื้นที่ NeEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน) เป็นหลัก มีมูลค่ารวมกันทั้ง 4 จังหวัดมากกว่า 588 ล้านบาท หรือหรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% เลยทีเดียว ซึ่งในพื้นที่ NeEC เป็นเส้นเชื่อมระหว่างเขตขยายแนวทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับจีน โดยส่วนใหญ่นักลงทุนชาวจีนนิยมลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด และภาคการผลิตที่เกี่ยวกับยาง
.
.
กาฬสินธุ์จะสามารถ “มั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย” ได้อย่างไร?
ภาคเกษตรกรรมยังคงเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ ข้าว GAP และข้าว GIอย่างข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ ที่มีการรับรองมาตรฐาน ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร การรวมกลุ่มของเกษตรกร การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ และการเป็นที่รู้จักของแบรนด์ข้าวกาฬสินธุ์ในตลาดพรีเมียมคือจุดแข็งสำคัญ
แต่ยังมีข้อจำกัด เช่น การเข้าถึงตลาดของเกษตรกรรายย่อยยังจำกัด และยังขาดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ การสร้างแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระดับจังหวัดและการพัฒนาเครือข่ายระบบชลประทานขนาดเล็ก จะช่วยแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ และยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้าง “ตราสินค้าจังหวัด” ผ่านการเชื่อมโยงเกษตรปลอดภัยกับวัฒนธรรม เช่น ผ้าไหมแพรวา+ข้าวอินทรีย์+วิถีอีสาน ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากประสบการณ์มากกว่าการผลิตที่เพิ่มปริมาณ
.
.
ท่องเที่ยววิถีใหม่: ผสานวัฒนธรรมและความยั่งยืน
กาฬสินธุ์มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งแหล่งประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการพัฒนา “การท่องเที่ยววิถีใหม่” ที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยเฉพาะแนวคิด slow tourism และ soft power ท้องถิ่น เช่น การสาธิตการทอผ้าแพรวาโดยชาวบ้านดั้งเดิม หรือการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปทำอาหารอีสานที่ใช้วัตถุดิบปลอดภัยจากชุมชน
การวางแผนเชิงพื้นที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาคนในพื้นที่ให้สามารถทำหน้าที่เป็นไกด์ที่มีความเชี่ยวชาญในโซนท้องถิ่น จะช่วยสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ขณะเดียวกัน การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในการวิจัยพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ เช่น เส้นทางตามรอยไดโนเสาร์ หรือเส้นทางวิถีเกษตร จะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง
.
กาฬสินธุ์ ถิ่นน้ำดำ แดนไดโนเสาร์🦕 ก้าวข้ามจังหวัดที่ยากจนที่สุดในอีสาน ได้อย่างไร?
ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: โมเดลแก้จนและการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม
ท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายมิติ จังหวัดกาฬสินธุ์ยังเผชิญกับปัญหาโครงสร้างสำคัญ นั่นคือความยากจนเรื้อรังในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีความเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุที่ต้องเลี้ยงหลานที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ หรือผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ลำพัง ผู้พิการ หรือผู้ที่มีข้อจำกัดทางกายภาพและสังคมในการเข้าถึงโอกาส “โมเดลแก้จน” จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาแบบจำเพาะเป้าหมาย
.
โมเดลแก้จน เป็นแนวทางหรือระบบการดำเนินงานที่มุ่งจัดการปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบและตรงจุด โดยใช้ข้อมูลจริง วิเคราะห์สาเหตุเฉพาะของแต่ละครัวเรือน แล้วออกแบบการช่วยเหลือที่เหมาะสม ไม่ใช่เพียงระบบฐานข้อมูล แต่คือการจัดการแบบบูรณาการที่เหมาะสม
นับแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ในสมัยนั้น ได้วางนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนไว้อย่างชัดเจน เพราะในตอนนั้น กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศมาโดยตลอด แต่ในระบบข้อมูลมีทั้งคนที่จนจริงและคนที่จนไม่จริง ดังนั้น ตั้งแต่ตอนนั้น จึงมีการทำฐานข้อมูลคนจน โดยให้คนในชุมชนเองเป็นคนชี้เป้าว่าใครเป็นคนยากจนจริงๆ เพื่อมาต่อเชื่อมกับโครงการแก้ปัญหาความยากจนของทางจังหวัด และในตอนนั้น ก็มีการจัดตั้ง บพท. ขึ้น จึงมีการจัดคณะทำงาน ที่มีทั้ง จังหวัด มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ องตค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการดึง บพท. มาร่วมในการดำเนินโครงการนี้ด้วย เพื่อทำให้โครงการนี้เป็นระบบ จึงมีการทำข้อเสนอเพื่อขอรับเงินทุนสนับสนุนจาก บพท. ด้วย และปีนี้ก็เป็นปีที่ 5 แล้วที่ บพท. สนับสนุน มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ให้ดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง”
.
.
หลักการทำงานในตอนนั้น คือ การนำปัญหาในอดีตมาเป็นโจทย์ ซึ่งพบว่ามีการวางแผนแก้ปัญหาความ ยากจนแบบไม่ค่อยเป็นระบบเท่าที่ควร เมื่อได้ข่าวว่าพื้นที่ไหนลำบาก ประชาชนยากจน ก็แห่กันไปเอาของไปบริจาค ขณะที่ในบางครั้งข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนลงไปช่วยเหลือก็ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลว่าคนนี้ ครัวเรือนนี้ มีการลงไปช่วยเหลือหรือยัง ช่วยเรื่องอะไรบ้าง ข้อมูลที่ได้จึงไม่ค่อยแม่นยำ ขณะที่ แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต่างคนต่างลงมาในพื้นที่ แล้วดำเนินการ ไม่มีความร่วมมือ ไม่มีการปรึกษากัน ทำให้การช่วยเหลือก็ไม่ค่อยยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ ทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จึงจัดทำข้อมูล KHM ขึ้นมา ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการเก็บข้อมูลความยากจนในทุกด้าน โดย บพท. มีหลักการชัดเจนว่าต้องการที่จะแก้ไขความยากจนจากข้อมูลที่ผ่านการสังเคราะห์อย่างถูกต้องแม่นยำมาเป็นตัวช่วยตัดสินใจในบริบทของจังหวัดกาฬสินธุ์ จากการค้นหาสอบทานข้อมูลคนจนและครัวเรือนยากจน ด้วยการบูรณาการระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (PPPConeext) ที่ทาง บพท. ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และทาง ศจพ. จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่ามีคนยากจนตกหล่นจากระบบและไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการความช่วยเหลือจากนโยบายของภาครัฐจากฐานข้อมูล TPMAP, Kalasin Happiness Model จำนวน 11,875 ครัวเรือน หรือ 51,034 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พ.ค. 2566)
.
ยกตัวอย่างเช่น โมเดลปลูกผักที่มุ่งเน้นการปลูกผักแปลงรวม ที่มีห้างหุ้นส่วนจำกัดผักสดนามน เข้ามาเป็นกลไกเชื่อมโยงกับเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนระดับอำเภอและชุมชนภายใต้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร จ.กาฬสินธุ์ สนับสนุนการตรวจรับรองมาตรฐาน ซึ่งโมเดลนี้มีส่วนช่วยเหลือครัวเรือนยากจนให้มีรายได้ดี มีงาน มีอาชีพอย่างยั่งยืน โดยโมเดลปลูกตัวนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับอำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งอำเภอนามนเป็นจังหวัดนำร่องในโครงการตัวนี้นั่นคือกลุ่มเป้าหมายหลักส่วนกลุ่มเป้าหมายรองคือหน่วยงานและภาคีเครือข่ายการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่อำเภอนามน
.
นอกเหนือจากโมเดลปลูกผักปลอดภัยแปลงรวมที่ถูกนำมาปรับใช้อย่างเป้นรูปธรรมแล้ว นักวิจัยมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ยังได้เผยแพร่งานวิจัยที่สามารถนำไปใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสร้างอาชีพใหม่แก้จนได้จริง นั่นคือ เตาเผาถ่านไร้ควัน ซึ่งเป็นผลงานการคิดค้นโดย ผศ.โกศล เรืองแสน อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อเผาถ่านจากเหง้ามันสำปะหลัง นวัตกรรมที่สอดคล้องตามเทรนด์ BCG เพราะเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่าง เหง้ามันสำปะหลัง มาเผาเป็นถ่าน ที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยนวัตกรรมทั้ง เตาเผาถ่านไร้ควัน และถ่านจากเหง้ามันสำปะหลัง ก็เป็นองค์ความรู้ที่พร้อมนำไปปรับใช้และถ่ายทอดให้กับชาวบ้าน ณ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมภูสิงห์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนอย่างยั่งยืน
.
ก้าวต่อไปของกาฬสินธุ์: จุดเชื่อมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ปัจจุบันกาฬสินธุ์ มีวิสัยทัศน์ในการยกระดับสังคมที่ชัดเจน โมเดลแก้จนที่ยังสามารถที่จะช่วยผู้คนในท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ ซึ่งตัวโครงการนี้จะเป็นผู้จัดหาแหล่งอาชีพให้กับชาวบ้านในพื่นที่ที่ไม่มีอาชีพและหาหน่วยงานมาสนับสนุนในอาชีพๆนั้นๆที่ทางโครงการได้จัดหามาให้
กาฬสินธุ์ยังคงมีโอกาสอื่นนอกเหนือจากการเกษตรและค้าขาย คือการท่องเที่ยวคึกคักขึ้นมากขึ้นตลอดช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กาฬสินธุ์ อาจจะยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างที่ยังไม่แข็งแรงพอ ซึ่งหากสามารถปรับปรุงช่องว่างในส่วนนี้ได้ จะส่งผลให้การดำเนินโครงการตามที่วิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดวางได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว