“การแก้ปัญหาความยากจน”“ความยากจนข้ามรุ่น”
ปัจจุบันมี 20 จังหวัดเป้าหมายซึ่งสามารถสอบทาน กำหนดกลุ่มคนจนเป้าหมายที่ถูกต้องและแม่นยำ สามารถส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเยี่ยวยาแก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในระดับครัวเรือน
บพท.ได้ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มขจัดความ ยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด ใน 4 ด้าน ได้แก่
1) การสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนระดับจังหวัด ด้วยข้อมูลจากกระบวนการวิจัย
2) ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนชี้เป้า ระดับพื้นที่ที่ครอบคลุม ปัญหาและฐานทุนรายครัวเรือนแบบเรียลไทม์ เป็นระบบข้อมูลที่ใช้กระบวนทาง สังคมแบบมีส่วนร่วมในการค้นหาและสอบทาน
3) ระบบส่งต่อความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนและติดตามผล สร้างกลกความร่วมมือการส่งต่อความช่วยเหลือ กับองค์กรและหน่วยงานระดับพื้นที่แบบตรงเป้า ซึ่งช่วยลดความซ้ำซ้อนการทำงาน และสามารถยกระดับ คุณภาพชีวิตและฐานะทางสังคมของครัวเรือนยากจนเป้าหมาย
4)สร้างโมเดลแก้จนมิติอาชีพเพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ และสร้างห่วงโซ่คุณค่าจากธุรกิจที่มีความสอดคล้องกับบริบทพื้นที่และศักยภาพครัวเรือนยากจน
รับรู้บริบทของ จังหวัดกาฬสินธุ์ กับอดีตเมืองที่เคยติดอันดับ Top3 ของจังหวัดที่จนที่สุดในประเทศ
ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ หลายคนมักจะนึกถึงจังหวัดที่เป็นเมืองรองในภาคอีสาน ที่เผชิญ ปัญหาความยากจน เรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 5 ปี โดยมีข้อมูลระบุว่า ปี 2562 จังหวัดกาฬสินธุ์ มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ
โดยข้อมูลสำคัญของ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ทุกคนควรรู้ก่อนจะไปเรียนรู้กระบวนการแก้ปัญหาความยากจนในระดับจังหวัดของที่นี่ คือ กาฬสินธุ์ตั้งอยู่ในภาคอีสานตอนกลางเชื่อมต่อกับสกลนคร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และขอนแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 6,946.75 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4 ล้าน 3 แสนไร่ แบ่งออกเป็น 18 อำเภอ 135 ตำบล 1,584 หมู่บ้าน มีประชากร 983,418 คน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ในวัยแรงงานช่วงอายุ 25 – 59 ปี ร้อยละ 27.7 ประชากรวัยเด็กร้อยละ 23.28 และประชากรวัยสูงอายุ ร้อยละ 22.15
แต่อย่างไรก็ดี กาฬสินธุ์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองเกษตรกรรมแห่งอีสานบ้านเรา เพราะจากข้อมูลโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2562 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP 58,517 ล้านบาท เป็นการผลิตภาคเกษตร 13,552 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.1 ของ และการผลิตภาคนอกเกษตร 45,065 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.9 เฉลี่ย 73,587 ต่อคนต่อปี
โดยข้อมูลด้านการเกษตรจากสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ 28 พฤษภาคม 2565 ระบุว่า ปี 2563 จังหวัดกาฬสินธุ์มีเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตร รวมทั้งสิ้น 2,832,890 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 65.25 ของพื้นที่ทั้งหมด และมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 274,107 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 88.10 ของครัวเรือนทั้งจังหวัด
มีพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ คือ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน รองลงมา คือ ยางพารา แตงโม ปาล์มน้ำมัน และพุทรา มีสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ คือ โคเนื้อ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ดไข่ กระบือ สุกร และโคนม
โดยในปี 2559-2563 มีการจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เฉลี่ย 5,917,134.738 กิโลกรัม มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทำรายได้ คือ กุ้งก้ามกรามและปลากระชัง
และในจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ยังมีสินค้า GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ซึ่งในปี 2562 สร้างรายได้ 982.13 ล้านบาท และข้าวเหนียวเขาวง นอกจากนี้สินค้า OTOP ยังสร้างรายได้ต่อเนื่อง มีมูลค่า 5,924.19 ล้านบาท ในปี 2563 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรังติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี และจากข้อมูลรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2562 จังหวัดกาฬสินธุ์มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดปัตตานี โดยมีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ร้อยละ 31.26
เปิดภารกิจ ฉุดคนกาฬสินธุ์ขึ้นจาก ปัญหาความยากจน ด้วยความร่วมมือของ บพท. ม.กาฬสินธุ์ & ภาคีเครือข่าย
และเพื่อขับเคลื่อนภารกิจพิชิต ปัญหาความยากจน ให้กับคนกาฬสินธุ์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงได้สานพลังความร่วมมือกับทีมวิจัย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคราชการ เอกชน ประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ เดินหน้าแก้ปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่แบบร่วมมือด้วยนวัตกรรมและการขับเคลื่อนระบบข้อมูลในจังหวัดกาฬสินธุ์
โดยในโอกาสที่ได้ฟังบรรยายสรุป การทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่-โมเดลแก้จนจังหวัดกาฬสินธุ์ ณ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จาก ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เราได้อัปเดตข้อเท็จจริงจากการบริหารจัดการ เพื่อบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมนำสู่การแก้ปัญหาสำคัญของประเทศว่า
“ตั้งแต่ปี 2563 ที่ทาง บพท. ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาความเหลื่อมหล้ำในสังคมไทย ก็ได้รับการตั้งคำถามมาโดยตลอดว่าทำไมจึงไม่หมดไปสักที ซึ่งด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบตั้งแต่ก่อตั้งหน่วยงาน บพท. ขึ้นภายใต้การดูแลของกระทรวง อว. ก็มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ดังนั้นเราจึงละเลยเรื่องของฐานรากไม่ได้ และหมุดหมายที่ชัดเจนลำดับต้นๆ ของ บพท. คือการขจัดความยากจนและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็งและมั่นคง”
“ในขั้นแรกที่เราตั้งใจเข้ามาแก้ปัญหาความยากจนให้กับพี่น้องประชาชนไทย คือ การหาข้อมูลว่าเป้าหมายของคนไทยที่มีฐานะยากจน มีอยู่เท่าไร และอยู่ที่ใดบ้าง ซึ่งจากการอ้างอิงระบบข้อมูลของภาครัฐที่ทำไว้ได้ดีและมีประสิทธิภาพพอสมควร ทำให้เรารู้ถึงข้อมูลของครัวเรือนที่ยากจนของประเทศไทย โดยในปี 2562 มีการรายงานว่ามีคนยากจนอยู่ในประเทศไทยประมาณ 980,000 คน ในฐานะที่เราเป็นหน่วยงานวิชาการ ข้อมูลนี้นำสู่การตั้งคำถามว่า คนยากจนจำนวนนี้อยู่ที่ไหนกันบ้าง ยากจนจริงไหม อยู่ในสถานะอะไร โดยในปี 2563 เราได้พุ่งเป้าไปทำใน 4 จังหวัดยากจน พอมาในปี 2564 เราขยายไปทำใน 10 จังหวัด ในแบบ Critical Mass”
“และใน 10 จังหวัดยากจน เราพบว่า ประเทศไทยขาดข้อมูลชี้เป้าความยากจนรายพื้นที่ จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการเราพบความผิดพลาดที่ค่อนข้างสูง เราจึงได้คิดค้นโมเดลให้มหาวิทยาลัยไปทำงานร่วมกันกลไกภาครัฐ และภาครัฐก็มีการสั่งการให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. ซึ่งเมื่อพิจารณาไปถึงการปฏิบัติงานจริง ที่ผ่านมา ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของกลไกในแต่ละพื้นที่ การปรับใช้ข้อมูล ตลอดจนการมีส่วนร่วม”
“เพราะต้องยอมรับว่าในภาครัฐไทยในปัจจุบันไม่มีองค์กรเจ้าภาพที่จะมาแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเฉพาะ แต่จะมีองค์กรเจ้าภาพเรื่อง “โครงการแก้จน” อยู่เยอะมาก หลักๆ ก็มี กระทรวงมหาดไทย กระทรวง พม. และ กระทรวงการคลัง ตลอดจนมีองค์กรที่จัดตั้งมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ คือ กองทุนความเสมอภาคด้านการศึกษา โดยโฟกัสไปที่เยาวชนที่ยากจนเป็นหลัก”
“ดังนั้น เมื่อทาง บพท. ลงไปทำงาน เราตั้งสมมุติฐานเชิงวิชาการเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาความยากจนนี้ในประเด็นหลัก คือ สถานะของ “คนยากจน” ที่อยู่ในฐานข้อมูลของทางภาครัฐที่ได้มานี้เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดที่สุด”
“ด้วยเหตุนี้เราจึงขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ทั้ง 10 จังหวัดนำร่อง เพื่อทำข้อมูลชี้เป้าคนยากจนในแต่ละจังหวัด โดยใช้ความสามารถของมหาวิทยาลัยและทีมนักวิจัย ซึ่งในบริบทของจังหวัดกาฬสินธุ์ จากการค้นหาสอบทานข้อมูลคนจนและครัวเรือนยากจน ด้วยการบูรณาการระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ (PPPConeext) ที่ทาง บพท.ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และทาง ศจพ. จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่ามีคนยากจนตกหล่นจากระบบและไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการความช่วยเหลือจากนโยบายของภาครัฐจากฐานข้อมูล TPMAP, Kalasin Happiness Model จำนวน 11,875 ครัวเรือน หรือ 51,034 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 พ.ค. 2566)”
“และจากการทำข้อมูลชี้เป้าที่จัดทำขึ้นจากระบบสืบค้น สอบทานข้อมูลคนจนที่มีความแม่นยำนี้เอง ที่นำสู่การพัฒนาโมเดลแก้จนระดับพื้นที่ที่เหมาะสมกับศักยภาพของคนจนเป้าหมายที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เพื่อวางแผนการพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้คนจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระจายงานตามเป้าหมายที่วางไว้ไปยังหน่วยงานหรือองค์กรส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบนั้นได้ทันที”
“โดยที่ผ่านมา เราได้สร้าง โมเดลแก้จน หรือ Operating Model เพื่อสร้างอาชีพในแต่ละพื้นที่ ซึ่งโมเดลการทำงานนี้เราได้เรียนรู้มาจากต้นแบบความสำเร็จที่เกิดขึ้นในจีน ที่เรียกว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ สร้าง Value chain ในพื้นที่ และเอาคนจนเข้าไปอยู่ในฐานอาชีพที่มีความต้องการ ตรงตามบริบทของพื้นที่ ผ่านการพัฒนา Skillset จากต้นทุนของชาวบ้าน เช่น การปลูกผัก การเพาะเห็ดฟาง เป็นต้น และเมื่อเขามีอาชีพ มีรายได้สม่ำเสมอในครัวเรือน ครัวเรือนนั้นก็จะได้รับการยกระดับขึ้น ซึ่งนี่เป็นสมมุติฐานและพิสูจน์มาแล้วว่าทำได้จริง”
ม.กาฬสินธุ์ ต้นแบบมหาวิทยาลัยในพื้นที่ กำลังสำคัญผลกดันโมเดลแก้จน จ.กาฬสินธุ์ ให้มีประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม
ดังที่ ดร.กิตติ ได้เกริ่นมาตั้งแต่ตอนต้นว่าภารกิจการขจัดปัญหาความยากจนในพื้นที่ จำเป้นต้องอาศัยความสามารถของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำข้อมูลชี้เป้าคนยากจนในแต่ละจังหวัด และในกาฬสินธุ์ ก็มีมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด ที่มีทีมนักวิจัยซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีฐานอันแข็งแกร่งในการทำงานวิจัยชุมชนนั่นคือ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งในโอกาสนี้ รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ฉายภาพรวมการทำงานในการพัฒนาเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ว่า
“ในการทำภารกิจร่วมกับ บพท. เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุดให้กับชาวกาฬสินธุ์นั้น เรามีการแบ่งทีมทำงานเป็น 3 ทีม ทีมแรก เป็นทีมบริหารจัดการกลาง ที่คอยสั่งการตามการวางแผนการทำงานซึ่งมีตัวผมเป็นหัวหน้าทีม ทีมต่อมา คือ ทีมพัฒนาแพลตฟอร์มสารสนเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก และทีมที่สาม คือ ทีมปฏิบัติการ OM หรือ Operating Model ที่ทำเรื่องการบริหารจัดการนวัตกรรมแก้ไขปัญหาความยากจน”
“หลักการทำงานของ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ คือ เราไม่ได้ทำงานด้านการปัญหาความยากจนเพียงเพราะเป็นงานวิจัย แต่เราทำงานด้านการแก้จนเพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประเทศชาติพัฒนาขึ้น โดยทาง กระทรวง อว. ก็ได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายของมหาวิทยาลัย จากการผลิตบัณฑิต เป็นการพัฒนากำลังคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมได้ เพราะฉะนั้นการทำงานแก้จนจึงเชื่อมโยงไปกับทุกมิติ ไม่ใช่แค่ตอบ KPI ของงานวิจัยเท่านั้น”
“ที่ผ่านมา อาจารย์ของเราจึงออกสู่ท้องถิ่นเพื่อทำงานกับชุมชน ทำให้การเรียนการสอนของเราก็เปลี่ยนทิศทางไปที่ชุมชนท้องถิ่นด้วย เพราะฉะนั้นการจัดการเรียนการสอนกับการทำงานพัฒนาสังคม จึงเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น ที่ผ่านมาที่ อำเภอนามน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง ที่เราไปสร้างโมเดลแก้จน ก็ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนได้ข้อมูลว่ามีพื้นที่โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนร้างที่อยู่ในบริเวณวัดดงสวาง และสามารถนำมาทำเป็นโมเดลปลูกผักแก้จนของชาวบ้านได้”
“ดังนั้น วันนี้ถ้าให้ถอดบทเรียนความสำเร็จของการแก้ปัญหาความยากจนด้วยโมเดลแก้จนจะต้องประกอบด้วย
- กลไกความร่วมมือของภาคประชาสังคม ภาคีเครือข่าย โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นผู้ประสาน เพราะถ้ามหาวิทยาลัยไม่เป็นผู้ประสาน ต้องยอมรับว่าหน่วยอื่นก็จะมีกลไกการทำงานที่ทำให้ประสานงานกันได้ไม่ง่ายนัก
- กระบวนการแก้ปัญหาทุกมิติ ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาแค่มิติใดมิติหนึ่งแบบไซโล ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเจาะลึกลงไปอาจเจอปัญหาในหลายมิติที่ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขได้ง่าย อย่าง ปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว ซึ่งก็ต้องอาศัยการไปพูดคุยเพื่อดำเนินการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
- สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อสานต่อโมเดลแก้จนนี้ให้แก้ปัญหาความยากจนให้กับชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเปลี่ยนตัวผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำท้องถิ่น โมเดลนี้ก็ต้องดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
อ่านต่อบทความเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง