ทำไมจังหวัดในภาคอีสาน ถึงมี GPP per Capita อยู่ท้ายตารางเรื่อยมา

👉เริ่มด้วย GPP คืออะไร ?
.
GPP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product) หมายถึง มูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ดำเนินการภายในจังหวัด รวมทั้งรายได้จากผลตอบแทนปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เช่น ค่าตอบแทนแรงงาน ค่าเช่าที่ดิน ดอกเบี้ย และกำไร โดยสามารถสะท้อนภาพรวมด้านเศรษฐกิจ และมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากกิจกรรมการผลิตทุกชนิดของจังหวัดนั้นได้
.
👉 แล้ว GPP per capita คืออะไร ?
.
GPP per capita หรือ ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว คือตัวเลขแสดงถึงความสามารถในการสร้างมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของจังหวัดเฉลี่ยต่อประชากร 1 คน ที่หากจังหวัดใดมีค่าเฉลี่ยสูง แสดงว่ามีศักยภาพสร้างรายได้ภายในจังหวัดมาก ในทางกลับกันจังหวัดใดมีค่าเฉลี่ยต่ำ แสดงว่ามีศักยภาพสร้างรายได้ภายในจังหวัดน้อย
.
ทั้งนี้ GPP per capita ไม่ใช่ตัวเลขรายได้ต่อหัวของประชากรสุทธิของจังหวัดนั้น ๆ เนื่องจากเป็นการนับเพียงด้านมูลค่าเพิ่ม
.
👉 จังหวัดที่มี GPP per capita สูงสุด ไม่ใช่กรุงเทพฯ
.
ปี 2563 แม้กรุงเทพฯ จะสามารถสร้าง GPP สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย ( 5.27 ล้านล้านบาท/ปี) แต่ด้วยจำนวนประชากรมากถึง 9 ล้านคน ทำให้มีค่าเฉลี่ย GPP per capita 5.86 แสนบาท/ปี อยู่ในอันดับ 2 รองจากจังหวัดระยอง (GPP 1.03 ล้านบาท/ปี และ GPP per capita 8.32 แสนบาท/ปี)
.
👉จังหวัดที่มี GPP per capita ต่ำสุด มักอยู่ในภาคอีสาน
.
เรียงจากลำดับต่ำสุด ปี 2563
1. นราธิวาส 55,417 บาท/ปี
2. หนองบัวลำภู 59,157 บาท/ปี
3. มุกดาหาร 61,345 บาท/ปี
4. แม่ฮ่องสอน 63,419 บาท/ปี
5. ยโสธร 65,254 บาท/ปี
6. บึงกาฬ 68,497 บาท/ปี
7. สกลนคร 69,009 บาท/ปี
8. ชัยภูมิ 69,375 บาท/ปี
9. สระแก้ว 71,924 บาท/ปี
10. อำนาจเจริญ 72,573 บาท/ปี
.
จาก 10 จังหวัดท้ายตาราง อยู่ในภาคอีสาน 7 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร บึงกาฬ สกลนคร ชัยภูมิ และอำนาจเจริญ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถ้าไปดูข้อมูลผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวย้อนหลังปีที่ผ่าน ๆ มา จะเห็นว่า 10 จังหวัดท้ายตาราง เป็นจังหวัดในภาคอีสานมากกว่าครึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น บางปีก็เป็นจังหวัดในภาคอีสานทั้งหมด
.
สาเหตุหนึ่งเป็นผลมาจาก ที่ผ่านมาหลายจังหวัดท้ายตารางมักมีผลผลิตหลักจากภาคเกษตร ซึ่งมีความไม่แน่นอนทั้งด้านปริมาณและราคาผลผลิต ส่วนการผลิตภาคนอกเกษตรต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลิตอุตสาหกรรมยังไม่ค่อยกระจายตัวมายังพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ศักยภาพของภาคเอกชนขาดความเข้มแข็ง ขนาดเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ
.
อย่างไรก็ตาม ค่าความแตกต่างระหว่างจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวสูงที่สุดและต่ำที่สุดในปี 2563 มีความแตกต่างกัน 15 เท่า ลดลงจาก 16.6 เท่าในปี 2562 แม้ดูจะเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวสูงที่สุดมีค่าเฉลี่ยลดลงด้วย
.
.
อ้างอิงจาก
https://kku.world/y2ql9
https://kku.world/oqfx7
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด #ผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top