ฮู้จัก Hometown Tax ของญี่ปุ่น สู่การประยุกต์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในอีสาน

👉Hometown Tax คืออะไร
.
Hometown Tax เป็นระบบการชำระภาษีให้บ้านเกิดของประเทศญี่ปุ่นที่ประกาศใช้เมื่อปี 2551 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยฟื้นฟู และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นในเขตเมืองกับเขตชนบท ผ่านการบริจาคเงินให้แก่ท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งผู้บริจาคสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ขณะเดียวกันก็ได้รับสินค้าท้องถิ่นเป็นของแทนคำขอบคุณ
.
👉Hometown Tax เกิดขึ้นได้อย่างไร
.
เมื่อก่อนประเทศญี่ปุ่นเคยเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่อย่างหนัก จากการที่ประชากรต่างพากันอพยพเข้าสู่เขตเมืองเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า ทำให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีรายได้ลดลง และไม่สามารถนำไปจัดทำบริการสาธารณะได้เพียงพอ
.
ประกอบกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ช่วยเหลือแบบปีต่อปี ทำให้ท้องถิ่นขาดการพัฒนาในระยะยาว และในกรณีมีเหตุฉุกเฉินก็ไม่สามารถช่วยได้ทันกาล การออกแบบนโยบาย Hometown Tax จึงเกิดขึ้น
.
👉ทำไม Hometown Tax ถึงได้รับความสนใจ
.
1. เป็นการสร้างทางเลือกให้แก่ผู้เสียภาษี สามารถแบ่งภาษีเงินได้ส่วนหนึ่งให้ท้องถิ่นอื่นได้ และสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือตอบแทนบ้านเกิดได้โดยตรง
.
2. ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมกับการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น
.
3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดทำและพัฒนาบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพได้ โดยไม่ต้องรอเงินอุดหนุนจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว
.
👉ทำไมประเทศไทยต้องสนใจ Hometown Tax
.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยก็มีความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ค่อนข้างสูง การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนได้รับโอกาสในการสร้างรายได้ ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพในด้านต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกัน
.
จากดัชนี Human Achievement Index (HAI) ที่สะท้อนความก้าวหน้า การพัฒนาคนในระดับจังหวัด ระดับภาค ผ่านตัวชี้วัด 8 ด้าน* พบว่า ในปี 2562 กรุงเทพฯ มีค่าดัชนี HAI สูงกว่าทุกภูมิภาค (อยู่ที่ 0.6821) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่คนกรุงเทพฯ มีความก้าวหน้าด้านรายได้มากที่สุด อีกทั้งมีโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ และการศึกษาที่มีคุณภาพสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ
.
ขณะที่ภาคอีสาน และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีค่าดัชนี HAI ต่ำสุด อยู่ที่ 0.5792 และ 0.5142 ตามลำดับ เนื่องจากมีความก้าวหน้าด้านรายได้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา หรือการคมนาคมที่มีคุณภาพต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อโอกาสในการสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ Hometown Tax จึงเป็นนโยบายที่น่าสนใจ
.
👉ประยุกต์ใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในอีสานได้ยังไง
.
จากบทเรียน Hometown Tax ของญี่ปุ่น จะเห็นว่ามีมิติที่ไทยอาจลองนำมาประยุกต์ใช้ได้ เช่น การสร้างแรงจูงใจให้คนอยากบริจาคเงินให้กับท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษี หรือให้ของสมนาคุณ (เป็นได้ทั้งสินค้าและบริการ) เช่น พืชผลทางการเกษตรที่ไม่สามารถส่งขายไปต่างประเทศได้เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 บัตรส่วนลดค่าที่พัก/ร้านอาหาร เป็นต้น อีกทั้งการระบุวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคน หรือพัฒนาบริการสาธารณะเพื่อคนทุกกลุ่ม
.
โดยในระยะแรกอาจทดลองใช้ในขอบเขตที่จำกัด (Sandbox) เพื่อให้ภาครัฐสามารถติดตามประสิทธิภาพของนโยบายได้ใกล้ชิด เข้าใจปัญหา และหาแนวทางแก้ไขก่อนขยายไปใช้กับพื้นที่อื่น ซึ่งภาคอีสานถือได้ว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบการพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เนื่องจากมีหลายจังหวัดที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวอยู่ท้ายตาราง (ต่ำสุด 10 อันดับแรก) อีกทั้งในบริบททางวัฒนธรรมก็สามารถต่อยอดการรับบริจาคที่บางท้องถิ่นมีการระดมเงินผ่านกองทุนต่าง ๆ (เช่น กองทุนผ้าป่า) อยู่แล้วได้
.
👉ตัวอย่างท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในการระดมเงินทุน และนำเงินบริจาคไปแก้ปัญหาได้ตรงจุด
.
เทศบาลตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ริเริ่มโครงการ กาฬสินธุ์แฮปปี้เนส โมเดล 2562 ‘คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’
.
จาก 64 ครัวเรือนผู้ยากไร้ ขาดแคลนที่อยู่อาศัยและรายได้ ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เทศบาลจึงได้ระดมเงินทุนผ่านการลงขันผ้าป่าแก้จน เพื่อสร้างบ้าน และจัดหาอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้ครัวเรือน เช่น เมล็ดพันธุ์ และพันธุ์สัตว์ ทำให้ทุกวันนี้ครัวเรือนดังกล่าวได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างอาชีพเกิดรายได้อย่างยั่งยืน
.
👉ข้อเสนอแนะ
.
ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมกันนำเอาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประยุกต์ใช้ระบบ e-Donation เชื่อมโยงโครงข่ายด้านบริการ โอนชำระเงินระหว่างผู้บริจาค ผู้รับบริจาค และภาครัฐ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ก็สามารถต่อยอดเป็นช่องทางระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เช่น สนับสนุนธุรกิจสมัยใหม่ (Startup) ได้ด้วย
.
.
หมายเหตุ *ตัวชี้วัดที่ถูกนำมาใช้เพื่อคำนวณดัชนี HAI ประกอบด้วย 1) ด้านสุขภาพ 2) การศึกษา 3) การงาน 4) รายได้ 5) ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม 6) ครอบครัวและชุมชน 7) การคมนาคมและการสื่อสาร และ 😎 การมีส่วนร่วมทางการเมือง
.
อ้างอิงจาก :
https://kku.world/pezph
https://kku.world/52nsa
https://kku.world/yqpjc
https://kku.world/l9o4b
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #HometownTax #ภาษี

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top