รักน้อยลง? เมื่อการแต่งงานลดฮวบ – หย่าร้างพุ่ง สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวยุคใหม่
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านโครงสร้างครอบครัว จากสถิติปี 2567 พบว่า ภาคอีสานมียอดการจดทะเบียนสมรสใน 20 จังหวัดของภาคอีสานมีเพียงประมาณ 66,567 คู่ ซึ่งถือเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี ขณะที่ยอดการหย่าร้างยังคงสูงถึงเกือบ 40,000 คู่ สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงลึกในพฤติกรรมของผู้คน ที่หันมาใช้ชีวิตแบบโสดมากขึ้น หรือเลือกจะอยู่ร่วมกันแบบไม่ผูกมัดตามกฎหมาย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเขตเมืองใหญ่เท่านั้น แต่กำลังค่อยๆ แทรกซึมสู่ชุมชนชนบททั่วอีสาน
หากลงไปดูในแต่ละจังหวัดจะเห็นแนวโน้มที่น่าตกใจ อย่างเช่น จังหวัดขอนแก่น ที่มียอดจดทะเบียนสมรสเพียง 6,142 คู่ ขณะที่การหย่าร้างอยู่ที่ 3,889 คู่ คิดเป็นอัตราการหย่าร้างกว่า 63% ของคู่ที่แต่งงานในปีเดียวกัน หรือจะในจังหวัดนครราชสีมาเอง ที่แม้จะมีคู่สมรสสูงถึง 9,499 คู่ แต่ก็มียอดหย่าถึง 5,876 คู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงในชีวิตคู่กำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักในยุคปัจจุบัน
ปัจจัยที่ทำให้คน “แต่งงานน้อยลง” ก็มีหลากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมามุ่งมั่นด้านการงาน การศึกษาหรือการออกไปทำงานนอกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือแม้กระทั่งต่างประเทศ ซึ่งก็ทำให้ความสัมพันธ์ระยะยาวถูกลดความสำคัญลง
นอกจากนี้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และภาระการเลี้ยงดูลูกยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้หลายคนเลี่ยงการแต่งงานหรือการมีครอบครัว อีกทั้งความคาดหวังต่อชีวิตคู่ในยุคนี้ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คนรุ่นใหม่ต้องการความเข้าใจและอิสรภาพมากกว่าความผูกพันทางกฎหมายแบบเดิมนั่นเอง
อีกทั้ง การหย่าร้างในภาคอีสานไม่ได้เกิดเฉพาะในเมืองใหญ่ แต่พบได้ในหลายจังหวัดชนบท ไม่ว่าจะเป็น ศรีสะเกษ ยโสธร หนองบัวลำภู หรืออำนาจเจริญ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอัตราการหย่าร้างเฉลี่ยสูงเมื่อเทียบกับจำนวนสมรส สาเหตุสำคัญ คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ความไม่เข้าใจในชีวิตคู่ และการเปลี่ยนแปลงทางค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่เลือกจะไม่ทน ในความสัมพันธ์ที่ไม่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตอีกต่อไป
อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจของการเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์นี้นั่นคือ เทรนด์ทางสังคมที่กำลังเติบโตอย่างชัดเจนในทั่วโลกและสังคมไทย ในรูปแบบ “การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนการมีลูก” หรือที่เรียกว่า “Pet Humanization” เทรนด์นี้สะท้อนชัดในกลุ่มคนวัยทำงานและผู้สูงอายุจำนวนมากเริ่มหันมาเลี้ยงสัตว์ อย่างเช่น สุนัขและแมว ด้วยความผูกพันในระดับสมาชิกในครอบครัวมากกว่าการมีลูกอย่างจริงจัง
ข้อมูลจาก The 1 Insight และ CRC VoiceShare ระบุว่า กว่า 65% ของคนไทยที่เลี้ยงสัตว์ มองว่าสัตว์เลี้ยงคือเสมือนลูกหรือสมาชิกในครอบครัว และกลุ่มผู้คนเหล่านี้ยินดีที่จะทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อแลกมาด้วยคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงที่ดี ไม่ว่าจะเป็นทั้งค่าอาหาร ค่ารักษา สปา โรงแรมสัตว์ หรือแม้แต่คลินิกเฉพาะทาง ทำให้ธุรกิจในกลุ่ม Pet Economy ในประเทศไทยเริ่มได้รับความสนใจและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
จากพฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนว่า คนรุ่นใหม่กำลังเคลื่อนตัวออกจากค่านิยมครอบครัวแบบเดิม ที่มีทั้งชาย-หญิง-ลูก และก้าวเข้าสู่รูปแบบ “แฟมิลี่ทางเลือก” หรือครอบครัวที่มีเฉพาะสัตว์เลี้ยง ซึ่งตอบโจทย์ทั้งอารมณ์ ความรัก ความผูกพัน และอิสระในชีวิตโดยไม่ต้องแบกรับภาระทางสังคมแบบครอบครัวดั้งเดิมอีกต่อไปนั่นเอง
อ้างอิงจาก:
– สำนักงานสถิติแห่งชาติ
– สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
– สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
– THAIRATH
– SPRiNG
– กรุงเทพธุรกิจ
– Bangkok Post
– The 1 Insight
– Euromonitor International
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #จดทะเบียนสมรส #จดทะเบียนหย่าร้าง #สมรส #หย่าร้าง #ชีวิตแบบโสด #การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนการมีลูก #PetHumanization #เลี้ยงสัตว์เป็นลูก