สถานการณ์ขยะมูลฝอยของไทย เมื่อรัฐเล็งยกเลิกใช้กล่องโฟม แก้ว-หลอดพลาสติก ภายในปี 65

ในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาขยะพลาสติกกำลังถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง และผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ โดยปี 2562 ประเทศไทยได้ทำการแบนพลาสติกไปแล้ว 3 ชนิด ได้แก่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ๊อกโซ่ และไมโครบีดจากพลาสติก
.
และภายในปี 2565 ไทยก็จะแบนพลาสติกอีก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว (ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน), กล่องโฟมบรรจุอาหาร, แก้วพลาสติก (ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน) และหลอดพลาสติก
.
รวมไปถึง เรื่องของการนำพลาสติกเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% ของกลุ่มถุงพลาสติกหูหิ้ว, บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว, ขวดพลาสติกทุกชนิด, ฝาขวด, แก้วพลาสติก, ถาด/กล่องอาหาร และช้อน ส้อม มีดพลาสติก
.
ในระยะเวลาอีกไม่ถึงปีนี้ อีสานอินไซต์จึงอยากพาทุกคนไปดูว่า ที่ผ่านมามาตรการลดและเลิกใช้พลาสติกของภาครัฐได้ผลมากน้อยแค่ไหน จากเป้าที่ว่า จะลดปริมาณขยะพลาสติกลง 0.78 ล้านตันต่อปี
.
โดยเทียบเคียงจากข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอย (ไม่ใช่ขยะพลาสติกทั้งหมด) ซึ่งปี 2562 ปริมาณขยะมูลฝอยทั้งประเทศ 28.71 ล้านตัน (+0.78 ล้านตัน)
ส่วนปี 2563 ปริมาณขยะมูลฝอยทั้งประเทศ 25.37 ล้านตัน (-3.34 ล้านตัน) ที่แม้จะต้องใช้เวลาอีก 1 ปีให้หลังจึงเห็นผลแต่ก็ถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะในจำนวนนี้เป็นขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 33% ของปริมาณขยะที่ก่อ อีกทั้งสถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องยังลดลงจากปี 2562 จำนวน 366 แห่ง
.
เช่นเดียวกับภาคอีสาน ที่ปี 2562 ปริมาณขยะมูลฝอย 7.82 ล้านตัน (+0.04 ล้านตัน)
ส่วนปี 2563 ปริมาณขยะมูลฝอย 6.49 ล้านตัน (-1.33 ล้านตัน) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากถึง 46.5% ของปริมาณขยะที่ก่อ ถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าทุกภูมิภาค รวมถึงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องก็ลดลงเช่นกัน โดยลดจากปี 2562 ประมาณ 205 แห่ง
.
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขดังกล่าวจะไม่สามารถสะท้อนผลของนโยบายได้ชัดเจน แต่การแบนพลาสติกบางประเภท ก็เพื่อเปิดโอกาสให้วัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าได้เข้ามาแทนที่ และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ให้หันมาพกอุปกรณ์ส่วนตัวที่ใช้ซ้ำกันมากขึ้น
.
แน่นอนว่าเป็นโอกาสของภาคธุรกิจให้รีบปรับตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลาสติกที่ช่วงแรกต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงกว่าปกติ ดังนั้นภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วงผลักดันอีกแรง เช่น การมี Roadmap ที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุทางเลือกอย่างไร จะมีมาตรการทางภาษีมาช่วยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมีรายละเอียดเพื่อให้การแบนมีผลจริงในทางปฏิบัติยิ่งขึ้น ส่วนธุรกิจอื่น ๆ เช่น จัดจำหน่ายถุงผ้า แก้วน้ำ-กล่องอาหารแบบใช้ซ้ำ ก็คงต้องมาแข่งขันกันอีกว่า ประโยชน์ใช้สอย ลวดลาย หรือฟังก์ชั่นของใครจะครองใจผู้บริโภคยุคใหม่ได้มากกว่ากัน
.
.
ที่มา: https://thaimsw.pcd.go.th/report1.php?year=2563
https://www.mangozero.com/thai-boycott-plastic-watse-4-type/
https://web.facebook.com/…/a.19480371…/2723449774633912/

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top