เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เวลา 13:08 น. บริเวณปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ ได้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายและเสียงทะเลาะดังสนั่นระหว่างคนไทยกับคนกัมพูชาที่ต่างอ้างสิทธิในพื้นที่ ซึ่งแม้เหตุการณ์จะไม่ลุกลามเป็นความรุนแรง แต่ได้สะท้อนถึงรอยร้าวที่ยังคงคุกรุ่นในดินแดนชายแดน
“ปราสาทตาเมือนธม” คือโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ในอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ไม่ไกลจากชายแดนไทย-กัมพูชา ตัวปราสาทสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ภายหลังการล่มสลายของขอมโบราณ ปราสาทหลายแห่งกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะตั้งอยู่บนพื้นที่สูง มองเห็นเส้นทางลำเลียงและแนวป้องกันทางธรรมชาติได้อย่างชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ ปราสาทหลายแห่ง อย่างเช่น ตาเมือนธม จึงไม่ได้เป็นเพียงมรดกทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นมรดกทางยุทธศาสตร์โดยปริยาย เป็นทั้งจุดควบคุมพรมแดน เขตทหาร และเป้าหมายของความขัดแย้งเชิงสัญลักษณ์ที่ดึงเอาเรื่องวัฒนธรรมมาเป็นฉากหน้าเพื่อต่อรองด้านอื่นที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า
พรมแดนไม่เคยนิ่ง จากข้อพิพาทไทย–กัมพูชา
หากย้อนไปในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย–กัมพูชา ความขัดแย้งหลักล้วนมีจุดร่วมอยู่ที่พรมแดนที่ยังไม่มีข้อยุติ และทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่ซ้อนทับกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีปราสาทพระวิหาร ที่ศาลโลกตัดสินให้ตกเป็นของกัมพูชาในปี 2505 และนำไปสู่ข้อพิพาทซ้ำซ้อนในปี 2551-2554 รวมถึงการปะทะระหว่างทหารที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและชาวบ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่หลายพันคน
ในกรณีปราสาทตาเมือนธม ความขัดแย้งเดิมสงบนิ่งหลังจากเหตุการณ์รุนแรงช่วงปี 2548-2554 แต่ในปัจจุบันกระแสของการทวงคืนวัฒนธรรมก็กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อกัมพูชามีการขึ้นทะเบียนโบราณสถานในพื้นที่ชายแดน ซึ่งไทยมองว่าเป็นการกระทำฝ่ายเดียว และไม่ยอมรับเขตแดนตามแผนที่ฝรั่งเศสยุคล่าอาณานิคม
ล่าสุดในปี 2568 กัมพูชาได้มีการจัดกิจกรรมบริเวณใกล้ปราสาท พร้อมมีป้ายเขียนภาษาเขมรและธงชาติกัมพูชาปรากฏอยู่ในพื้นที่ที่คนไทยถือว่าอยู่ฝั่งไทย จุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจของชาวบ้าน รวมถึงการปะทะด้วยวาจาอย่างรุนแรง
โบราณสถานชายแดน อย่างเช่นปราสาทตาเมือนธม หรือแม้แต่ปราสาทพระวิหาร ไม่เพียงมีค่าในเชิงวัฒนธรรม แต่ยังเป็นทรัพยากรเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ การค้าชายแดน และการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในอาเซียน โดยหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่เหล่านี้เคยถูกเสนอเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ และยกระดับชุมชนชายแดนให้พึ่งพาตนเองได้ผ่านการท่องเที่ยวและงานหัตถกรรม แต่แล้วความไม่แน่นอนของอธิปไตยทางวัฒนธรรม กลับกลายเป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้การลงทุนระยะยาวหยุดชะงัก ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมถึงช่างฝีมือท้องถิ่น
นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ชุมชนในพื้นที่ชายแดนยังเผชิญกับความไม่มั่นคงในชีวิต การค้าขายตามแนวชายแดนชะงักงัน วิถีชีวิตดั้งเดิมถูกรบกวน และความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่เคยแน่นแฟ้นระหว่างสองฝั่งต้องถดถอยลงอีกด้วย
หากภาครัฐสามารถเจรจาอย่างสงบ สร้างกลไกการบริหารจัดการร่วมในลักษณะแหล่งมรดกร่วมแบบพหุภาคี อย่างเช่นเดียวกับกรณี “เคบายา” ในอาเซียน หรือแม้แต่ “โขน-ละครโขล” ในปี 2561 ที่ต่างฝ่ายต่างขึ้นทะเบียนแต่ไม่ขัดแย้ง ก็จะเป็นประตูที่เปิดให้การท่องเที่ยวชายแดนกลายเป็นสันติภาพทางเศรษฐกิจแทนการปะทะทางการเมืองนั่นเอง
อ้างอิงจาก:
– Matichon
– True ID
– Thai PBS
– Spring News
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #ปราสาทตาเมือนธม #ไทยกัมพูชา #ช่องบก