ท่องเที่ยวอีสานฟื้นแรง‼️รายได้ครึ่งปีทะลุ 5.8 หมื่นล้าน เปิดโอกาสธุรกิจใหม่กลางแดนอีสาน
ในช่วงครึ่งปีแรกของ 2568 ภาคอีสานของเรา มีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งภูมิภาคพุ่งทะลุ 58,057 ล้านบาท เติบโตขึ้นเกือบ 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน โดยถือเป็นสัญญาณเชิงบวกอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจฐานรากของภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การพักผ่อน และการใช้จ่ายในระดับชุมชน
4 จังหวัดหลักกุมสัดส่วนรายได้กว่า 54%
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าพื้นที่ 4 จังหวัดหลักของอีสาน อย่างเช่น นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุดรธานี และอุบลราชธานี ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมั่นคง โดยสร้างรายได้รวมกันถึงกว่า 31,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 54.4% ของทั้งภูมิภาคเลยทีเดียว ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทในฐานะประตูเศรษฐกิจอีสานที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สายการบิน การคมนาคมทางถนน และระบบสาธารณูปโภคที่รองรับการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบนั่นเอง
นครราชสีมา ยังคงเป็นแชมป์ด้วยรายได้กว่า 11,197 ล้านบาท จากความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ทั้งวัฒนธรรม ธรรมชาติ และเมืองพักผ่อนปลายทางอย่างเขาใหญ่
ตามมาด้วย ขอนแก่น และ อุดรธานี ทำรายได้ไล่หลังมาติดๆ ด้วยบทบาทศูนย์กลางเศรษฐกิจตอนบนของอีสาน มีทั้งมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลชั้นนำ และธุรกิจ MICE (การจัดประชุม/สัมมนา)
และ อุบลราชธานี แม้จะอยู่ชายแดน แต่ก็เติบโตจากทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และศักยภาพของสนามบินที่เชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
หนองคาย ดาวรุ่งชายแดนลุ่มน้ำโขง
ในอันดับที่ 5 อย่าง หนองคาย กวาดได้กว่า 4,779 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากบทบาทของการเป็นเมืองหน้าด่านติด สปป.ลาวโดยเฉพาะสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่เปิดช่องทางให้การค้าชายแดนคึกคัก รวมถึงการเดินทางของนักท่องเที่ยวลาวและเวียดนาม ที่นิยมต่อรถเข้ามาชอปปิ้ง รักษาสุขภาพ หรือพักผ่อนในฝั่งไทย โดยเฉพาะที่จังหวัด อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬซึ่งมีศูนย์การค้า โรงพยาบาลเอกชน และคลินิกความงามครบครัน
พฤติกรรมการท่องเที่ยวลักษณะนี้ทำให้ธุรกิจบริการข้ามแดน อย่างเช่น ศัลยกรรม เช่าเหมารถ การจัดทัวร์รายวัน และธุรกิจร้านอาหาร-ร้านขายของฝาก ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงจำนวนมากเลยทีเดียว
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ “ค่าใช้จ่ายต่อคนในการท่องเที่ยว” ซึ่งชี้ให้เห็นพฤติกรรมและกำลังซื้อของนักเดินทาง โดยจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูง ได้แก่
– ขอนแก่น มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 3,190 บาท/คน
– อุดรธานี มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 2,753 บาท/คน
– หนองคาย มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 2,488 บาท/คน
– นครราชสีมา มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 2,445 บาท/คน
จากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ การศึกษา และการคมนาคม มักมีนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่านักท่องเที่ยวแบบประหยัด เพราะจุดหมายเหล่านี้ดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังจ่ายสูง ทั้งชาวไทยและเพื่อนบ้าน ทำให้ธุรกิจระดับกลางถึงบน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรู สปา คลินิกเวชกรรม ร้านอาหารพรีเมียม และบริการเช่ารถแบบ VIP มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
หากมองโอกาสธุรกิจไหนควรจับตา?
- บริการสุขภาพและความงามที่รองรับนักท่องเที่ยวลาว เวียดนาม และคนไทยในอีสานตอนบนที่มีความต้องการด้านบริการทางการแพทย์
- ที่พักระดับกลาง-สูงในเมืองรองที่ค่าใช้จ่ายต่อคนสูง อย่างเช่น อุดรธานี ขอนแก่น หนองคาย
- ธุรกิจโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน เช่น รถรับส่ง นักท่องเที่ยวจากด่านชายแดนไปยังเมืองหลัก
- ทัวร์และแพ็กเกจแบบรายวันเฉพาะทาง เช่น ทัวร์สายมู ทัวร์ชิม ทัวร์การแพทย์
- ศูนย์การค้าท้องถิ่นและคอมมูนิตี้มอลล์ ถือว่ามีโอกาสเติบโตในเมืองที่นักท่องเที่ยวมาพักระยะสั้นเพื่อชอปปิ้งหรือรับบริการเฉพาะด้าน
ตัวเลขจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ สะท้อนให้เห็นว่า ภาคอีสานไม่ใช่เพียงเส้นทางผ่านของนักท่องเที่ยวอีกต่อไป แต่กลายเป็นปลายทางที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านวัฒนธรรม บริการ และการลงทุน อีสานยุคใหม่นี้ไม่เพียงแค่รับนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่กลับพร้อมจะสร้างคุณค่าจากนักท่องเที่ยว ผ่านนวัตกรรม บริการ และความร่วมมือระดับภูมิภาค การเติบโตเกือบ 7% ในช่วงเวลา 6 เดือนนี้ ถือเป็นสัญญาณว่าการท่องเที่ยวภาคอีสาน กำลังกลายเป็นหนึ่งในภูมิภาคสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากฐานรากสู่ภาพรวมประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืนนั่นเอง
อ้างอิงจาก:
– กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
– MGR Online
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #เศรษฐกิจ #เศรษฐกิจอีสาน #นักท่องเที่ยว #รายได้จากการท่องเที่ยว #รายได้การท่องเที่ยว #เที่ยวอีสาน