พามาเบิ่ง ธุรกิจอีสานรายได้ปังไม่แพ้ใคร ธุรกิจเหล่านี้มีรายได้ในปี 2567 เท่าไหร่?

ภาคอีสานหนึ่งภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเป็นที่ตั้งของธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายแห่ง หลายบริษัทไม่เพียงเป็นที่รู้จักในระดับประเทศเท่านั้น หากแต่ยังขยายกิจการไปต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบของการตั้งสาขา หรือในรูปแบบของการทำการค้าก็ดี ซึ่งไม่เพียงแต่จะสรา้งชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือให้บริษัท แต่ยังรวมถึงการสร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถูกให้กับประเทศด้วยเช่นกัน

ในปี 2567 ที่ผ่านมา ภาคอีสานมีธุรกิจจดทะเบียนดำเนินกิจการอยู่มากกว่าหลายหมื่นราย แต่มีเพียง 6 บริษัทเท่านั้นที่สามารถสร้างรายได้แตะระดับหมื่นล้านบาทได้สำเร็จ ซึ่งน่าสนใจว่าในจำนวนนี้ถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 3 บริษัท เป็นธุรกิจค้าทองคำ โดยสามารถทำรายได้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงบทบาทของทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ผู้บริโภคยังคงให้ความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความผันผวนจากโรคระบาดและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาทองคำขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นทั้งเครื่องมือรักษามูลค่าทรัพย์สินและช่องทางในการเก็งกำไรของคนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา

หากพิจารณาธุรกิจที่มีรายได้มากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไปในภาคอีสาน จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทสำคัญของภาคการผลิตในฐานะหนึ่งในเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนธุรกิจที่มีรายได้มากกว่า 5,000 ล้านส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจภาคการผลิต แต่หากพิจารณาธุรกิจที่สามารถทำรายได้สูงสุดนั้นยังคงเป็นธุรกิจภาคการค้าและบริการ ได้แก่ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งนับเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีรายได้สูงที่สุดในภาคอีสาน ที่ยังคงขยายเครือข่ายสาขาครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความสำเร็จนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจการค้าในภูมิภาคที่สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ในภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมในภาคอีสาน รายได้รวมกว่า 70% ของภาคธุรกิจทั้งหมดมาจากกลุ่มการค้าและบริการ โดยเฉพาะในหมวดการขายส่ง-ขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นหมวดใหญ่ที่ครอบคลุมธุรกิจนับหมื่นรายทั่วภูมิภาค หากพิจารณาเชิงลึกภายในหมวดนี้ จะพบว่ากิจกรรมที่สร้างกำไรได้สูงสุด ได้แก่ “การขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านค้าเฉพาะ เช่น สถานีบริการน้ำมัน” และ “การขายยานยนต์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถกระบะ รถตู้ หรือรถขนาดเล็กประเภทต่าง ๆ” ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนรายได้และกำไรสูงที่สุดในหมวด แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้พลังงานและการขนส่งในชีวิตประจำวันของประชาชนที่ยังคงเติบโต แม้ว่าหากดูตัวเลขของยอดรถจดทะเบียนใหม่นั้นจะมีจำนวนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ขณะที่รายได้อีกกว่า 25% มาจากภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจอีสาน โดยกิจกรรมหลักที่สร้างรายได้สูงในกลุ่มนี้ ได้แก่ “การสีข้าว” และ “การผลิตสตาร์ชมันสำปะหลัง” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรมโดยตรง และสะท้อนถึงบทบาทของภาคอีสานในฐานะพื้นที่ผลิตวัตถุดิบสำคัญของประเทศ ทั้งในด้านข้าวและมันสำปะหลังที่มีบทบาททั้งในตลาดภายในและการส่งออก

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ภาคอีสานไม่ได้เป็นเพียง “พื้นที่ชนบท” ดังภาพจำในอดีตอีกต่อไป หากแต่กำลังกลายเป็น “ภูมิภาคเศรษฐกิจสำคัญ” ที่มีบทบาทอย่างชัดเจนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่ของมูลค่าทางธุรกิจ ความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และศักยภาพในการเติบโตในอนาคต ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ผสมผสานทั้งภาคการค้า ภาคการผลิต และภาคเกษตรกรรมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

การเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่ในอีสาน โดยเฉพาะในกลุ่มทองคำ พลังงาน ยานยนต์ และเกษตรแปรรูป ไม่เพียงแต่ตอกย้ำศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณชี้ว่า หากมีการวางแผนและสนับสนุนอย่างเหมาะสม ภาคอีสานอาจกลายเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

อ้างอิง

  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

พามาเบิ่ง🧐 ยักษ์ใหญ่แห่งที่ราบสูง ส่องบริษัทมหาชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสาน

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top