บริบทภาคการเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด
‘ข้าว’ ถือเป็นจิตวิญญาณของคนร้อยเอ็ด โดยพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดแห่งนี้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ด้วยพื้นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ ทำให้ร้อยเอ็ดสามารถปลูกข้าวได้หลากหลายสายพันธุ์ตลอดทั้งปี โดยร้อยเอ็ดมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 3.1 ล้านไร่ มีผลผลิตข้าวนาปีในปี 2567 ปริมาณ 9.9 แสนตัน มากเป็นอันดับ 6 ของภาค และมี ‘ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)ประจำจังหวัด มีความหอมและความเรียวสวยงามเป็นเอกลักษณ์ สามารถส่งออกสู่ตลาดนานาชาติ
บทบาทของโรงสีข้าวต่อเศรษฐกิจอีสานและจังหวัดร้อยเอ็ด
ในด้านของธุรกิจที่ควบคู่มากับชุมชนปลูกข้าว คงหนีไม่พ้น ‘ธุรกิจโรงสีข้าว’ ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานอันสำคัญ จากการที่ในภาคอีสานซึ่งมีการปลูกข้าวมาก จึงทำให้มีโรงสีข้าวกระจายอยู่ทั่วไป ตั้งแต่โรงสีข้าวขนาดเล็กในชุมชน จนไปถึงโรงสีขนาดใหญ่ที่ผลิตข้าวระดับประเทศและเป็นผู้ส่งออก ซึ่งบทบาทของโรงสีนั้นไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับแปรรูปผลผลิต แต่ยังถือว่าเป็น ‘จุดผ่านสำคัญ’ ของข้าว ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีแหล่งจำหน่ายข้าว สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนั้นธุรกิจโรงสียังก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่อีกด้วย
จากข้อมูลนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงสีข้าวที่ยังดำเนินการอยู่ในปี 2568 ในภาคอีสานมีทั้งสิ้น 336 ราย คิดเป็นสัดส่วน 32% ของประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนและจำนวนโรงสีมากที่สุดในประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก จากการที่มีทุนจดทะเบียนรวม 1.25 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียง 27% ของประเทศ และมีรายได้รวม 6.67 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียง 20% ของประเทศ โดย 3 จังหวัดที่มีธุรกิจโรงสีข้าวมากที่สุดในภาคอีสาน ได้แก่
- สุรินทร์ 51 ราย
- อุบลราชธานี 40 ราย
- นครราชสีมา 40 ราย
- ศรีสะเกษ 27 ราย
- อุดรธานี 27 ราย
โดยจังหวัดร้อยเอ็ด มีจำนวนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงสีข้าวอยู่ทั้งสิ้น 26 ราย เป็นอันดับ 6 ในอีสาน โดยคิดเป็นเพียง 8% ของนิติบุคคลประเภทเดียวกันในภาค และมีทุนจดทะเบียนรวม 0.13 หมื่นล้านบาท แม้ในด้านจำนวนนิติบุคคลจะไม่ได้ติด Top 5 ของภูมิภาค แต่เมื่อมองในด้านของรายได้รวมของธุรกิจแล้วนั้น จะพบว่าธุรกิจโรงสีในร้อยเอ็ดมีรายได้รวม ‘มากที่สุดในอีสาน’ กว่า 1.11 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ทั้งภูมิภาคถึง 17% ในส่วนของอันดับ 2 – 5 จังหวัดที่มีรายได้รวมสูงสุด ได้แก่
- ศรีสะเกษ 0.93 หมื่นล้านบาท
- สุรินทร์ 0.78 หมื่นล้านบาท
- นครราชสีมา 0.72 หมื่นล้านบาท
- อุบลราชธานี 0.59 หมื่นล้านบาท
โรงสีข้าวร้อยเอ็ด ใหญ่อันดับต้นๆของอีสาน ชูจุดแข็ง ‘ข้าวทุ่งกุลาฯ’
เหตุผลที่รายได้รวมของหมวดธุรกิจโรงสีข้าวของจังหวัดมากที่สุด แม้ไม่ได้มีจำนวนมากที่สุด เนื่องมาจากการที่มีโรงสีข้าว ‘รายใหญ่’ อยู่จำนวนมาก โดยดูได้จากอันดับนิติบุคคลที่ประกอบกิจการสีข้าวที่มีรายได้รวมในปี 2566 มากที่สุด 20 อันดับแรกในภาคอีสาน จะพบว่ามีนิติบุคคลจากจังหวัดร้อยเอ็ดติดอันดับมากถึง 7 ราย จากนิติบุคคลในจังหวัด 26 ราย
โดยนิติบุคคลประกอบกิจการโรงสีข้าวที่มีรายได้สูงที่สุดในร้อยเอ็ดและภาคอีสาน สูงเป็นอันดับ 18 ของประเทศ นั่นคือ บริษัท ‘เกษตรวิสัย ไรซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด’ ตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำอ้อม อำเภอเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ในปี 2566 มีรายได้รวมกว่า 2.69 พันล้านบาท มีกำไร 33 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่น้อยกว่าอีกหลายโรงสีในภูมิภาค แต่กลับสามารถสร้างรายได้ได้สูงที่สุด
โดยบริษัท เกษตรวิสัย ไรซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด นั้นเป็นโรงสีข้าวและฐานผู้ส่งออกข้าวไทย มีความเชี่ยวชาญในการผลิตข้าวหอมมะลิ โดยใช้ข้าวจากเกษตรกรบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ มีกำลังการผลิต 600 ตัน/วัน และมีความจุ 120,000 ตัน โดยมี ‘ข้าวตราเพชร ๑๐๑ เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ข้าวของบริษัทนั่นเอง
โรงสีของร้อยเอ็ดที่มีรายได้รองลงมาเป็นอันดับ 2 ของจังหวัด ได้แก่ ‘บริษัท ย่งฮวดอินเตอร์ไรซ์ จำกัด’ ตั้งอยู่ที่ตำบลเกษตรวิสัย อำเภอเกษตรวิสัย ซึ่งเป็นอำเภอเดียวกันกับบริษัทแรก มีรายได้ 1.61 พันล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 ของภาคอีสาน ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ข้าว ได้แก่ แบรนด์ ‘ดอกเกดฉลากสีทอง’ และ ‘ดอกเกดฉลากสีแดง’ เป็นต้น
การที่พื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคตั้งอยู่ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึง ‘คุณภาพ’ ของข้าวในจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่โรงสีที่มีรายได้มากที่สุดของอีสานรับซื้อข้าวจากเกษตรกรเพื่อแปรรูป เพื่อจำหน่ายและส่งออกไปในระดับนานาชาติ และรายได้รวมของอุตสาหกรรมที่มากที่สุดในอีสาน สะท้อนถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมโรงสีข้าวในจังหวัดร้อยเอ็ด
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าแม้ในร้อยเอ็ดจะมีจำนวนโรงสีน้อยกว่าอีก 5 จังหวัด แต่กลับสามารถสร้างรายได้ได้สูงที่สุด จึงเกิดคำถามที่ว่า ธุรกิจโรงสีในร้อยเอ็ด ถูกครอบครองโดยผู้เลนรายใหญ่ไม่กี่รายหรือไม่?
ตลาดโรงสีข้าวในร้อยเอ็ด กระจุกตัวเพียงไม่กี่รายจริงหรือไม่?
ในการหาคำตอบว่าตลาดโรงสีในร้อยเอ็ดนั้น มีความกระจุกตัวเพียงผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่รายหรือไม่นั้น จะวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ดัชนี HHI (Herfindahl-Hirschman Index) เป็นดัชนีที่ใช้วัดการกระจุกตัวอุตสาหกรรม คํานวณจากผลรวมของ กำลังสองของส่วนแบ่งตลาด (%) ของแต่ละราย โดยสามารถแบ่งเกณฑ์ได้ดังนี้
- ถ้าหากดัชนี HHI มีค่าน้อยกว่า 1,500 แปลว่า ตลาดมีการแข่งขันสูง
- ถ้าหากดัชนี HHI มีค่าตั้งแต่ 1,500 ถึง 2,500 แปลว่า ตลาดมีการแข่งขันในระดับปานกลาง
- ถ้าหากดัชนี HHI มีค่ามากกว่า 2,500 ขึ้นไป แปลว่า ตลาดมีการกระจุกตัวสูง
- ถ้าหากดัชนี HHI มีค่าเท่ากับ 10,000 ก็หมายความว่า เป็นการผูกขาดอย่างสมบูรณ์
จากหมวดธุรกิจการสีข้าวในจังหวัดร้อยเอ็ดจากจำนวน 26 ราย ได้ผลลัพธ์ของการคำนวณดัชนี HHI เท่ากับ 1220.98 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ว่า ‘ตลาดมีการแข่งขันสูง’ นั่นหมายความว่าว่าหมวดธุรกิจโรงสีข้าวในจังหวัดร้อยเอ็ดนั้น ไม่ได้มีผู้ประกอบการรายใดครองตลาดอย่างชัดเจน แม้ว่ารายใหญ่ที่สุดอย่างบริษัท เกษตรวิสัย ไรซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด นั้นจะมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 24% แต่ยังไม่ได้เป็นการครองตลาด โดยรวมแล้วธุรกิจโรงสีข้าวในร้อยเอ็ดนั้นยังมีพื้นที่แข่งขันในระดับจังหวัดได้
อย่างไรก็ตามการคำนวณดัชนี HHI ของธุรกิจโรงสีข้าวในร้อยเอ็ดนี้ ไม่ได้คำนึงถึงขนาด หรือ การตลาด หรือกลุ่มลูกค้าของแต่ละธุรกิจ ซึ่งแต่ละธุรกิจนั้นก็มีกลุ่มลูกค้าหรือตลาดที่แตกต่างกันออกไป หากแต่เป็นการวิเคราะห์ในบริบทของการกระจุกตัวของหมวดธุรกิจของจังหวัดในภาพรวมเท่านั้น
สรุปประเด็นสำคัญ
- โรงสี เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการทำนา ไม่ได้เป็นเพียงผู้รับแปรรูปข้าว แต่เป็น ‘จุดผ่านสำคัญ’สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ข้าว
- แม้ว่า ร้อยเอ็ด จะไม่ได้มีจำนวนโรงสีมากสุด แต่กลับมีรายได้จากหมวดธุรกิจโรงสีสูงที่สุดในอีสาน เป็นสัดส่วนกว่า 17%
- โรงสีหลายรายในร้อยเอ็ดสามารถสร้างรายได้สูงติดอันดับต้นๆของอีสาน พร้อมชูจุดแข็ง ‘ข้าวทุ่งกุลาร้องไห้’ ส่งออกไปต่างแดน
- แม้จะมีธุรกิจหลายรายที่รายได้สูงมาก แต่ผลของดัชนี HHI ชี้ว่าหมวดธุรกิจโรงสีข้าวในร้อยเอ็ด ไม่ได้มีผู้เล่นรายใดครองตลาด ผู้ประกอบการรายอื่นยังมีพื้นที่ในการแข่งขันภายในจังหวัดได้
อ้างอิงจาก
- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- สำนักงานสถิติจังหวัดร้อยเอ็ด
- สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
- ข้าวตราเพชร ๑๐๑
- สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
- Money Lab