ปัจจุบัน Genderless Fashion หรือเทรนด์เสื้อผ้าไม่จำกัดเพศ ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ที่มีมุมมองทางความคิด รวมไปถึงพฤติกรรมการแสดงออกที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนอย่างชัดเจน
.
สำนักข่าว Nikkei MJ ได้รวบรวมผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของวัยรุ่นญี่ปุ่นในช่วงอายุ 16-26 ปี จำนวน 5,013 คน โดยหนึ่งในนั้นมีคำถามที่ว่า “คิดเห็นอย่างไรกับการแยกสินค้าหรือโซนจำหน่ายสินค้าของชาย/หญิง” น่าสนใจว่า มีผู้ที่รู้สึก “ไม่จำเป็น” ถึง 17.9% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยสำหรับวัยรุ่น Gen Z ที่มีแนวคิดแบบ Genderles
.
อีกทั้ง เมื่อนำคำถามเดียวกันนี้ไปถามกับคนเจนมิลเลนเนียลส์ หรือคนวัยทำงาน/วัยกลางคน ก็ยังพบว่า วัยรุ่น Gen Z สนใจในความ Genderless มากกว่าเจนมิลเลนเนียลส์ และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากแบรนด์สินค้ารายใหญ่ ๆ ที่วางขายสินค้าประเภทนี้ เช่น
.
Muji ได้นำสินค้า Genderless ออกมาวางจำหน่ายในชื่อ “Muji Labo” หลังพบว่า มีกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้ต้องการมีเสื้อผ้าจำนวนมาก แต่ต้องการเสื้อผ้าที่สามารถใช้งานได้ง่าย หยิบใส่ได้หลากหลายโอกาส ซึ่งหมายรวมถึงการไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศ ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าที่มาซื้อสินค้า Genderless ของ Muji ส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 20-30 ปี
.
4℃ แบรนด์เครื่องประดับสุดคลาสสิก ที่ออกสินค้า Genderless มาในชื่อ “4℃ HOMME+” เพื่อตีตลาดกลุ่มวัยรุ่น 20-35 ปี ให้มากขึ้น โดยยังคงแนวคิดที่ว่า “ต้องการใกล้ชิดกับผู้ที่สวมใส่โดยไม่คำนึงถึงเพศและอายุ และแสดงความฉลาดล้ำนำยุคหนึ่งก้าว”
.
GU แบรนด์เสื้อผ้าราคาย่อมเยา ที่มาพร้อมกับแนวคิด “Fashion with More Freedom” ล่าสุดได้เปิดตัวคอลเล็กชันที่ไม่คำนึงถึงเพศและอายุ โดยนำเสนอผ่านดารานางแบบและนักแสดง 5 คนที่มีเพศและวัยต่างกัน
.
เทรนด์สินค้าแฟชั่นในญี่ปุ่นที่หันไปนิยม Genderless มากขึ้น เป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะแนวโน้มของการบริโภคสินค้าจำพวกเสื้อผ้าและเครื่องประดับค่อนข้างใกล้เคียงกัน ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยลองหันมาให้ความสนใจสินค้าประเภทนี้ นอกจากจะตอบโจทย์ผู้บริโภคในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นตัวชี้วัดกระแสในอนาคตแล้ว ยังเป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีการจำกัดเพศด้วย
.
อย่างภาคอีสานเอง ถ้าหากพูดถึงเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ไม่จำกัดเพศ ยังถือว่ามีน้อย โดยเฉพาะที่เป็น Local Brand จะพบว่า การพัฒนาต่อยอดส่วนใหญ่มักเน้นไปที่รูปทรงและลวดลายที่แปลกใหม่ ทันสมัย แต่ลองคิดดูว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ฝ้ายคุณภาพสีไม่ฉูดฉาดอย่าง ผ้าย้อมคราม (สกลนคร) หรือผ้าหมักโคลน (มุกดาหาร) ถูกนำมาตัดเย็บและนำเสนอความเป็น Genderless จะน่าสนใจและสร้างแรงกระเพื่อมให้แวดวงแฟชั่นได้มากขนาดไหน
.
.
ที่มา: ข่าวเด่นฉบับที่ 13 [เสื้อผ้า และสินค้าสไตล์ Genderless ความนิยมในหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่นที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ] เผยแพร่โดยกระทรวงพาณิชย์
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน