“อีหล่า มาร์เก็ต” ร้านค้ายุคใหม่ ฉีกทุกกฎร้านโชห่วยแบบเดิม ๆ

ประเทศไทยมีร้านค้าปลีกขนาดเล็กหรือร้านโชห่วยกว่า 400,000 ร้าน โดยกระจายตัวมากที่สุดในภาคอีสาน คิดเป็นสัดส่วนถึง 34% รองลงมาเป็น ภาคกลาง 22% ภาคเหนือ 16% ภาคใต้ 15% และกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 13% ตามลำดับ
.
ท่ามกลางการแข่งขันของร้านค้าประเภทต่าง ๆ ทั้งร้านที่อยู่มานาน ร้านที่จำต้องปิดตัวลง รวมไปถึงร้านใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นและต้องเผชิญความท้าทายอย่างหนัก ครั้งนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “อีหล่า มาร์เก็ต” ร้านโชวห่วยของคนรุ่นใหม่ ว่าเขามีแนวคิดอะไร ที่ทำให้สามารถฉีกกฎของร้านโชห่วยรูปแบบเดิม ๆ ได้
.
1. เข้าใจความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
จากการที่เป็นคนในพื้นที่ และได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้ามาตลอด ทำให้รู้ว่าควรปรับร้านยังไงให้ตรงใจผู้บริโภคในชุมชน เช่น ด้วยความที่อยากปรับให้ร้านดีขึ้น มีของครบทุกอย่าง จนพบว่าของบางอย่างไม่เหมาะกับการขายในชุมชน เคยเอาเนื้อหมูสดแพ็กมาขายเหมือนในห้าง แต่ปรากฏว่าลูกค้าซื้อเนื้อหมูสดแบบเอามีดปาดชั่งกิโลเหมือนเดิม
.
การทำความเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของชุมชน ทำให้ อีหล่า มาร์เก็ต ยึดคอนเซปต์เดิมเรื่อยมา ตั้งแต่วันแรกที่ขายจนถึงทุกวันนี้ คือ “ขายของตลาดสด แต่อยู่ในห้องแอร์ ระบบต้องเหมือนห้าง แต่การขายต้องเหมือนเดิม”
.
2. กล้าที่จะเปลี่ยน พร้อมที่จะปรับ เริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ
จากร้านโชห่วยในต่างจังหวัดที่ทุกคนคุ้นตา ด้วยภาพจำเรื่องการจัดวางที่แออัด ทับซ้อน มองดูไม่สบายตา ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่หันไปใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตแทน
.
การทำอะไรใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่ยากเสมอ แต่ด้วยความคิดของคนรุ่นใหม่ที่อยากปรับร้านให้โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เน้นความสด สะอาด ของสินค้า ร้านโปร่งโล่ง ติดเครื่องปรับอากาศ และจัดโซนสินค้าแยกประเภทชัดเจน สิ่งที่ดีพร้อมพัฒนา สิ่งที่ควรปรับพร้อมปรับปรุงแก้ไข
.
3. ไม่ได้ขายแค่สินค้า แต่ขายความเชื่อใจด้วย
ในวันที่ร้านค้า ร้านโชห่วยเกิดขึ้นตลอด ประกอบกับห้างร้านขนาดใหญ่ขยายตัวสู่ชุมชนมากขึ้น สิ่งที่เจ้าของร้านทำเพื่อรักษาฐานลูกค้าให้กับร้าน คือการสร้างความเชื่อใจ
.
โดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูกค้าเป็นอันดับแรก สินค้ากับคุณภาพสามารถหาซื้อได้ทั่วไป แต่ความรู้สึกดี ๆ มีให้กันไม่ได้ทุกที่ เมื่อร้านมีความซื่อสัตย์ ลูกค้าก็แวะเวียนกลับมาใช้บริการ เกิดการบอกต่อ ร้านได้ลูกค้า ลูกค้าได้ความสบายใจ ผลคือได้ทั้งสองฝ่าย เกิดเป็นการซื้อขายที่มีความสุข
.
4. สร้างรายได้หมุนเวียน และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
อีหล่า มาร์เก็ต คือร้านค้าในชุมชน ก่อตั้งโดยลูกหลานในชุมชน เพื่อคนในชุมชน นอกจากบริการสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนแล้ว ยังช่วยเหลือและดูแลชุมชนไปพร้อม ๆ กัน โดยให้ชาวบ้านนำสินค้าหรือผักที่ปลูกมาวางขายได้ เกิดการแลกเปลี่ยน สร้างรายได้หมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน
.
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ธุรกิจ โดยเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่าง ๆ เข้ามาเรียนรู้การทำธุรกิจค้าขายและการขายสินค้าเกษตร ให้กับน้อง ๆ ตั้งแต่นักเรียนชั้นอนุบาลไปจนถึงนักศึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และยังเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของกลุ่ม OTOP ของตำบลอีกด้วย
.
.
อ้างอิงจาก: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, KomChadLuek Online และ The Cloud
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top