ปัจจุบันเทรนด์การเลี้ยงสัตว์โดยให้ความอบอุ่นเปรียบเมือนคนในครอบครัวกำลังได้รับความนิยม ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Pet Humanization ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ได้มองว่าตัวเองคือเจ้าของแต่เป็น “พ่อแม่” ของสัตว์เลี้ยงมากกว่า
.
กระทรวงพาณิชย์ เผยผลประกอบการ “กลุ่มธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง” ตั้งแต่ปี 2561 – 2563 พุ่งแตะ 1 หมื่นล้านบาท/ปี และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการเลี้ยงแบบ Ownership ไปสู่ Pet Parents
.
ธุรกิจมีโอกาสเติบโตอีกมาก ขณะที่คู่แข่งในตลาดยังมีน้อย
.
ปัจจัยที่ทำให้ความต้องการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนครอบครัวเดี่ยวและคนโสดเพิ่มมากขึ้น คู่สมรสมีบุตรน้อยลง คนเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่บ้านจึงมองหาสัตว์เลี้ยงมาเป็นเพื่อน
.
การทำงานที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น ทำให้มีเวลาใส่ใจดูแลบ้านและสัตว์เลี้ยงเป็นพิเศษ ประกอบกับการหาข้อมูลความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทำได้ง่าย และสามารถซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกมากขึ้น
.
ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ตุลาคม 2564 ผู้ประกอบการในธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลและดำเนินกิจการอยู่ มีจำนวน 480 ราย ทุนจดทะเบียน 2,559 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 195 ราย คิดเป็น 40.62% ของทั้งประเทศ สำหรับภาคอีสานมีเพียง 32 ราย (6.67%) ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา ร้อยเอ็ด และอุดรธานี
.
.
5 ธุรกิจเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงที่กำลังได้รับความนิยม
.
1. ธุรกิจขายอาหารและขนม สำหรับสัตว์เลี้ยง
ที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด เนื่องจากมีอัตราการทำกำไรที่สูง ผู้คนเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงของตน โดยเฉพาะขนมเพื่อสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง ที่กำลังได้รับความนิยมที่ช่วยให้สุขภาพสัตว์เลี้ยงดีขึ้น อย่างไรก็ตามการขายอาหารสัตว์ของน้องหมา น้องแมวต้องขออนุญาตจากกรมปศุสัตว์เท่านั้น
.
2. ธุรกิจคาเฟ่สัตว์เลี้ยง
โมเดลคาเฟ่สัตว์เลี้ยง ได้กลายเป็นจุดขายหนึ่งในปัจจุบัน ที่นำความน่ารักของสัตว์มาเป็นตัวดึงดูดคนรักสัตว์เข้ามานั่งในร้าน เรียกว่าตอบโจทย์ได้ทั้งกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ และคนรักสัตว์แต่ไม่สามารถเลี้ยงเองได้
.
3. ธุรกิจอาบน้ำ – ตัดขนสัตว์
เพื่อตอบโจทย์เรื่องความสะอาดของสัตว์เลี้ยงสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา ซึ่งในปัจจุบันมีบริการอาบน้ำตัดขนสัตว์เลี้ยงแบบเดลิเวอรี่อีกด้วย หากต้องการประกอบธุรกิจนี้ปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต้องมีคือ ความรู้เรื่องสัตว์เลี้ยง เช่น สายพันธุ์ สภาพเส้นขน นิสัยและความดุร้าย เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ตัดแต่งขนให้เหมาะสมกับแต่ละสายพันธุ์ รวมถึงต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเรียนตัดขนอีกด้วย
.
4. ธุรกิจขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับสัตว์เลี้ยง
เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงดึงดูดใจบรรดาเจ้าของเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว และยังทำให้เจ้าของมีโอกาสได้แสดงอัตลักษณ์ของตนเองในฐานะพ่อแม่ของสัตว์เลี้ยง โซเชียลมีเดียยังมีส่วนช่วยผลักดันให้กระแสนิยมนี้เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการโพสต์ภาพสัตว์เลี้ยงในชุดและเครื่องประดับต่าง ๆ จนกลายเป็นไวรัล
.
5. ธุรกิจฝึกอบรมสัตว์เลี้ยง
การฝึกอบรมสัตว์เลี้ยงเป็นอีกธุรกิจที่มีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากการตระหนักถึงความจำเป็นในการทำให้สัตว์เลี้ยงเชื่อฟังคำสั่งเจ้าของ
.
ทั้งนี้การคาดการณ์ของ Modor Intelligence อัตราการเจริญเติบโตต่อปี (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ของตลาดอาหารสัตว์ในประเทศไทย ปี 2564-2569 จะเติบโตขึ้นร้อยละ 5.2 และจากสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย รายงานว่าตลาดอาหารสุนัขมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด ทั้งในด้านรายได้และขนาดการใช้จ่าย และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากความต้องการอาหารสัตว์ราคาแพง (Premium treats) ที่เพิ่มสูงขึ้น
.
.
อ้างอิง:
https://www.dbd.go.th/…/Statisic/2564/T26/T26_202110.pdf
https://www.okmd.or.th/okmd-kratooktomkit/4286/
https://www.bbc.com/thai/international-56461375
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน