เมื่อ “มีงานทำ” กลายเป็น “ว่างงาน” วิกฤตเงียบของบัณฑิตอีสาน สัญญาณอันตรายต่ออนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค
.
จากข้อมูลสัดส่วนคนว่างงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมกราคม ปี 2563 – 2568 เผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่จากเดิมมีสัดส่วนการว่างงานน้อยที่สุด กลับกลายเป็นกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดอย่างน่ากังวล
.
ย้อนกลับไปในปี 2563 กลุ่มผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีสัดส่วนการว่างงานเพียง 14.3% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้มีการศึกษาในระดับอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ได้พลิกผันอย่างน่าตกใจในช่วงเวลาเพียง 5 ปี เมื่อในเดือนมกราคม ปี 2568 สัดส่วนการว่างงานของกลุ่มอุดมศึกษาพุ่งทะยานขึ้นถึง 35.7% แซงหน้าทุกระดับการศึกษาอย่างชัดเจน ในขณะที่กลุ่มผู้มีการศึกษาต่ำกว่า (ประถมศึกษาและต่ำกว่าประถม, มัธยมต้น, มัธยมปลาย, ปวช./ปวส.) กลับมีสัดส่วนการว่างงานที่ลดลง
.
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ เป็นผลมาจากการเข้ามาของเทคโนโลยี หรือ AI กำลังเปลี่ยนแปลงลักษณะงานและความต้องการทักษะในตลาดแรงงานอย่างรวดเร็ว งานบางประเภทที่เคยต้องการแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญา อาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรือต้องการทักษะใหม่ที่ไม่ตรงกับหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบัน
.
นอกจากนี้ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างอุปทานและอุปสงค์ของแรงงานก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ระบบการศึกษาอาจยังไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและความรู้ที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะ “ปริญญาล้นตลาด”
.
ในขณะที่ตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะเฉพาะทางกลับขาดแคลน ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและผลกระทบจากปัจจัยภายนอก รวมถึงการขาดโอกาสและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวยในบางพื้นที่ของภาคอีสาน ก็เป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมปัญหา นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและทางเลือกในการทำงานของบัณฑิตจบใหม่ ที่อาจเลือกทำงานอิสระหรือทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น ก็อาจมีส่วนทำให้ตัวเลขผู้ว่างงานในระบบสูงขึ้น
.
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้มีทักษะที่จำเป็นในยุคตลาดแรงงานดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากตลาดแรงงานไทยยังต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกดิจิทัล (Digital revolution) ที่มาแรงมาเร็ว
.
ระดับการศึกษา | มกราคม 2563 | มกราคม ปี 2565 | มกราคม ปี 2567 | มกราคม ปี 2568 |
ประถมศึกษาและต่ำกว่าประถม | 32.5% | 20.2% | 12.8% | 8.1% |
มัธยมต้น | 37.2% | 19.3% | 23.2% | 1.5% |
มัธยมปลาย | 5.8% | 27.9% | 31.5% | 33.8% |
ปวช./ปวส. | 10.2% | 8.9% | 6.1% | 20.6% |
อุดมศึกษา | 14.3% | 23.5% | 26.4% | 35.7% |
ทักษะอะไรต้องมีสำหรับงานอนาคต⁉️
รายงาน Future of Jobs Report 2025 จาก World Economic Forum เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคต ระบุว่า การคิดเชิงวิเคราะห์ ยังคงเป็นทักษะหลักที่เป็นที่ต้องการมาก เป็นสิ่งจำเป็นในปี 2025 ตามมาคือทักษะด้านความยืดหยุ่น การปรับตัว และความเป็นผู้นำ
.
ส่วนทักษะที่มาแรง และเป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ AI และ Big Data ตามมาด้วยทักษะความรู้ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความรู้ด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็น การปรับตัวเก่ง การเรียนรู้เร็ว และไฝ่รู้ตลอดชีวิต จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2025 – 2030
.
ตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยอิทธิพลของ AI, Big Data และพลังงานหมุนเวียน ที่เข้ามาพลิกโฉมวิถีการทำงานในช่วงปี 2025 – 2030 งานบางประเภทจะหายไป ขณะที่อาชีพใหม่ ๆ จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม
.
.
ปรากฏการณ์บัณฑิตอีสานว่างงานจำนวนมากนี้ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคในหลายมิติ การสูญเสียศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด บัณฑิตจบใหม่ถือเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต การที่คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างเต็มที่ เท่ากับการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าและโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้น การชะลอการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและนวัตกรรมก็จะตามมา
.
ปัญหาทางสังคมและการย้ายถิ่นของแรงงานก็เป็นผลกระทบที่ไม่อาจมองข้าม ภาวะว่างงานที่ยืดเยื้ออาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคม เช่น ความเครียด หนี้สิน และการย้ายถิ่นของแรงงานที่มีการศึกษาไปยังภูมิภาคอื่นที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งเป็นการสูญเสีย “สมองไหล” ของภาคอีสาน นอกจากนี้ จำนวนผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นยังอาจสร้างภาระต่อระบบสวัสดิการสังคม และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอีกด้วย
.
.
อ้างอิงจาก:
– สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #ว่างงานบัณฑิตอีสาน #วิกฤตแรงงาน #ตลาดแรงงาน #เศรษฐกิจอีสาน #การศึกษา #การพัฒนาภูมิภาค #อนาคตอีสาน
พามาเบิ่ง อัตราการว่างงานในภาคอีสานในไตรมาส 3 ปี 2567 เป็นจังใด๋แหน่