อีสานโพล เผย คนอีสานยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง คะแนนรัฐบาลโดยรวมยังค่อนข้างนิ่งมา 3 ไตรมาสติด วอนเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ

เศรษฐกิจครัวเรือนอีสานไตรมาส 1/2568 ยังแย่ต่อเนื่อง ไม่มีสัญญาณดีขึ้น จี้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง การอยู่รอดของผู้ประกอบการและเกษตรกร รายได้ครัวเรือนต่ำ และหนี้ครัวเรือนสูง เกินครึ่งยังไม่เอากาสิโนแม้จะมีเกณฑ์เงินฝาก 50 ล้านบาทควบคุม  อภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านได้ 6.3 เต็ม 10 รัฐบาลได้ 5.0

ตามที่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเผยผลสำรวจเรื่อง “ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 1/2568 และคาดการณ์ไตรมาส 2/2568” ผลสำรวจพบว่า

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 1/2568 (มกราคม–มีนาคม 2568) เท่ากับ 32.5 เต็ม 100 อยู่ในระดับแย่

ใกล้เคียงไตรมาสก่อนซึ่งมีค่า 32.8 ซึ่งดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไม่ควรต่ำกว่า 40.0 เป็นเวลานาน และคาดว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 2/2568 (เมษายน-มิถุนายน 2568) จะเท่ากับ 32.6 โดยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ประเมินคะแนนรัฐบาลด้านเศรษฐกิจได้ 30.6 เต็ม 100  และวอนให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง การอยู่รอดของผู้ประกอบการและเกษตรกร รายได้ครัวเรือนต่ำ และหนี้ครัวเรือนสูง ร้อยละ 50.9 ยังไม่เอาบ่อนกาสิโนแม้จะมีเกณฑ์เงินฝาก 50 ล้านบาทเพื่อควบคุมการเข้าเล่นพนันของคนไทย ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านได้คะแนน 6.3 เต็ม 10 รัฐบาลได้ 5.0

รศ. ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพลเปิดเผยว่าการสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนด้านต่างๆ และคำนวณดัชนีภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาส 1/2568 และคาดการณ์ไตรมาส 2/2568 พร้อมประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจและภาพรวม และมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับบ่อนกาสิโนและการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29 –  31 มีนาคม 2568 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,114 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

 

คนอีสานยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง คะแนนรัฐบาลโดยรวมยังค่อนข้างนิ่งมา 3 ไตรมาสติด

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับ รายได้และทรัพย์สินครัวเรือน โอกาสหางานใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ การหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ และการซื้อของมูลค่าสูง และทำการประมวลผลได้ดัชนีต่างๆ ซึ่งค่าดัชนีมีค่าระหว่าง 0 – 100 หากดัชนีอยู่ระหว่าง 0 – 19.9 คือ แย่มาก ระหว่าง 20.0 – 39.9 คือ แย่ ระหว่าง 40.0 – 59.9 คือ ปานกลาง/พอใช้ ระหว่าง 60.0 – 79.9 คือ ดี และ ระหว่าง 80.0 – 100 คือ ดีมาก รายละเอียดเป็นดังนี้

  • ดัชนีรายได้และทรัพย์สินครัวเรือนไตรมาส 1/2568 เท่ากับ 33.0 หมายความว่า รายได้และทรัพย์สินครัวเรือนอีสาน อยู่ในระดับแย่ ปรับตัวลดลง (-1.5) จากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 34.5 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะปรับลดลงอีกเล็กน้อยเป็น 32.3
  • ดัชนีโอกาสหางานใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ไตรมาส 1/2568 เท่ากับ 32.7 หมายความว่า โอกาสหางานใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ในอีสาน อยู่ในระดับแย่ และเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (+0.1) จากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 32.6 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็น 33.0
  • ดัชนีการหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ไตรมาส 1/2568 เท่ากับ 31.3 หมายความว่า การหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ของครัวเรือนอีสาน อยู่ในระดับแย่ ลดลงเล็กน้อย (-0.9) จากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 32.2 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 30.8 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไตรมาส 2/2568 ทั้งนี้ภาระหนี้ของครัวเรือนและการหมุนเงินใช้หนี้ยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจครัวเรือนอีสาน
  • ดัชนีการซื้อของมูลค่าสูงไตรมาส 1/2568 เท่ากับ 33.1 หมายความว่า ความมั่นใจของครัวเรือนอีสานในการซื้อของมูลค่าสูง อยู่ในระดับแย่  เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (+1.4) จากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 31.7 และคาดว่าไตรมาสถัดไปดัชนีจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเป็น 34.4
  • ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสานไตรมาส 1/2568 เท่ากับ 32.5 หมายความว่า ภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสานโดยรวม อยู่ในระดับแย่ และลดลงเล็กน้อย (-0.3) จากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่าดัชนี 32.8 และคาดว่าไตรมาส 2/2568 ดัชนีจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 32.6 ซึ่งรัฐบาลมีความท้าทายที่จะช่วยให้เศรษฐกิจครัวเรือนอีสานอยู่ในระดับปานกลาง หรือค่าดัชนีควรไม่ต่ำกว่า 40.0 เป็นระยะเวลายาวนาน

 

เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2568 พบว่า ได้คะแนน 30.6 เต็ม 100 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/2567 ซึ่งดัชนีเท่ากับ 30.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในระดับต่ำต่อทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล แม้จะมีนโยบายแจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ผลงานโดยรวมของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 1/2568พบว่า ได้คะแนน 31.0 เต็ม 100 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/2567 ซึ่งดัชนีเท่ากับ 30.7 ทั้งนี้รัฐบาลเคยได้คะแนนด้านเศรษฐกิจต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งได้คะแนนนเพียง 20.3 และได้คะแนนผลงานโดยรวมเพียง 19.3 จากการระบาดอย่างหนักของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตา

คนอีสานส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพมากที่สุดมากที่สุด

เมื่อสอบถามว่า ปัญหาเศรษฐกิจข้อใดที่ท่านเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหามากที่สุดเพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชน พบว่า

  1. ร้อยละ 27.3 ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง
  2. ร้อยละ 23.4 ต้องการให้รัฐบาลส่งเสริมผู้ประกอบการและเกษตรกรให้อยู่รอด
  3. ร้อยละ 20.6 ให้แก้ปัญหารายได้ครัวเรือนต่ำ
  4. ร้อยละ 20.1 ให้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง
  5. ร้อยละ 3.1 ปัญหาตลาดหุ้นไทยตกต่ำ
  6. ร้อยละ 2.7 ปัญหาขาดดุลการค้ากับจีนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากนักลงทุนจีน
  7. ร้อยละ 1.6 ปัญหาการลงทุนของเอกชนและต่างชาติต่ำ
  8. ร้อยละ 1.2 ปัญหาอื่นๆ

คนอีสานยังไม่เห็นด้วยกับบ่อนกาสิโนเหมือนเดิม ต่อให้ภาครัฐจำกัดเฉพาะ เศรษฐีมีเงิน 50 ล้านเข้าเล่นได้

เมื่อสอบถามว่า หลังจากปรับเกณฑ์ให้เฉพาะคนไทยที่มีเงินฝากเกิน 50 ล้านบาทถึงเข้ากาสิโนได้ ท่านมีท่าทีอย่างไรกับการให้มีบ่อนกาสิโนในไทย พบว่า เสียงเกินครึ่งมาเล็กน้อย หรือ ร้อยละ 50.9 ยังคงไม่เห็นด้วยเหมือนเดิม โดยร้อยละ 29.3 ยอมรับได้หากมีเกณฑ์เงินฝาก 50 ล้านบาทมาควบคุมการเข้าเล่นบ่อนของคนไทย และ ร้อยละ 14.6 เห็นด้วยให้ไทยมีบ่อนกาสิโนถึงแม้จะไม่มีเกณฑ์นี้มาช่วยควบคุม ขณะที่ร้อยละ 5.2 เป็นความเห็นอื่นๆ และไม่แน่ใจ

อีสานโพลเผยคนอีสาน ให้คะแนน ฝ่ายค้าน นำ ฝ่ายรัฐบาล ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ


เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ท่านให้คะแนนรัฐบาลและฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเท่าใด จากคะแนนเต็ม 10 โดย 0 คือแย่มาก และ 10 คือ ดีมาก  พบว่า ฝ่ายค้านได้คะแนน 6.3 เต็ม 10 ส่วนการชี้แจงของรัฐบาลได้คะแนน 5.0 เต็ม 10

 

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง

  • มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4%  ประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ 50.9 เพศชายร้อยละ 46.6 และอื่นๆ ร้อยละ 2.5
  • อายุ 18-24 ปี ร้อยละ 7.5 อายุ 25-30 ปี ร้อยละ 10.4 อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 22.5 อายุ 41-50 ปี ร้อยละ 23.4 อายุ 51- 60 ปี ร้อยละ 18.4 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 17.8
  • การศึกษา ประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 15.3 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 24.8 มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 19.5 ระดับอนุปริญญา/ปวส./สูงกว่า ม.ปลาย ร้อยละ 14.8 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 22.0 และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 3.6
  • ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 41.0 รองลงมารับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 13.9  ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.0  พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 9.5 งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.1 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 7.6 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 4.3 และ อื่นๆ ร้อยละ 1.6
  • ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือน รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 8.1 รายได้ระหว่าง 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 17.8 รายได้อยู่ระหว่าง 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 22.0 รายได้ระหว่าง 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 27.7 รายได้ระหว่าง 20,001-40,000 ร้อยละ 19.4 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไปร้อยละ 5.0

 

หมายเหตุ:
1) การวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน (Goal 8: Decent Work and Economic Growth) ตาม Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ
2) นอกเหนือจากผลสำรวจซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้วความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ที่มา :

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top