หากจะกล่าวถึง สายน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนในดินแดนอีสาน ก็คงหมายถึง น้ำโขง น้ำชี น้ำมูล แม่น้ำสายดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็น 3 ลุ่มน้ำหลักในอีสาน โดยเฉพาะ“ลุ่มน้ำชี” ซึ่งมีพื้นที่กว่า 49,000 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 27 ลุ่มน้ำสาขา มีพื้นที่ต้นน้ำอยู่ใน จ.ชัยภูมิ และเป็นหนึ่งในแม่น้ำสำคัญที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำมูล และส่งสู่แม่น้ำโขงที่ จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำชี มาจากภาษาอีสาน ซึ่งคำว่า “ซี” ซึ่งหมายถึงการเจาะทะลุเป็นรู โดยลักษณะต้นกำเนิดของน้ำชีนั้น มีสายน้ำที่ไหลผ่านลอดใต้เทือกเขาหินปูน ที่เรียกว่า “ซีดั้น” และไหลทะลุลอดผ่านมาอีกฝั่งหนึ่งของเทือกเขา เรียกว่า “ซีผุด” จึงทำให้เรียกลำน้ำสายนี้ ตามลักษณะพิเศษที่ลำน้ำไหลซีลอดผ่านใต้เทือกเขานั้นว่า “ลำน้ำซี” ในภาษาถิ่น หรือ ลำนำชี ในภาษากลาง นั่นเอง
แม่น้ำชี มีต้นกำเนิดอยู่ในพื้นที่เขตอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ไหลผ่าน 9 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และไหลไปรวมกับแม่น้ำมูลที่บ้านวังยาง ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีความยาวกว่า 765 กิโลเมตร แม่น้ำชี จึงถูกยกให้เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีลำน้ำสาขาหลัก 5 ลำน้ำ ซึ่งประกอบไปด้วย ลำน้ำพรม ลำน้ำพอง ลำน้ำเซิน ลำน้ำปาว และลำน้ำยัง ลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 49,130 ตร.กม. หรือ 30,706,169 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.56 ของพื้นที่ทั้ง ประเทศ ลุ่มน้ำชียังมีลุ่มน้ำสาขาย่อยที่กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน หล่อเลี้ยงชุมชน ทำให้เกิดวีถีชีวิตการดำรงชีพการใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำชี
โดยสาขาย่อยของลุ่มน้ำชี ประกอบไปด้วย
- ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำชีตอนบน มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 2,551 ตร.กม. หรือ 1,594,250 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาลำสะพุง มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 742 ตร.กม. หรือ 463,944 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาลำกระจวน มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 893 ตร.กม. หรือ 558,556 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาลำคันฉู มีพื้นที่ลุ่มน้ำ1,733 ตร.กม. หรือ 1,082,906 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำชีส่วนที่ 2 มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,795 ตร.กม. หรือ 2,372,100 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาห้วยสามหมอ มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 765 ตร.กม. หรือ 478,056
- ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำชีส่วนที่ 3 มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,3276 ตร.กม. หรือ 2,047,650 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำพองตอนบน มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 4,130 ตร.กม. หรือ 2,581,094
- ลุ่มน้ำสาขาน้ำพวย มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 922 ตร.กม. หรือ 576,469 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาล้าพะเนียง มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 1,890 ตร.กม. หรือ 1,181,513 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาน้ำพรหม มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 2,211 ตร.กม. หรือ 1,382,163
- ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำเชิญ มีพื้นที่ 2,904 ตร.กม. หรือ 1,814,719 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำพองตอนล่าง มีพื้นที่ 2,316 ตร.กม. หรือ 1,447,644 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาห้วยสายบาตร มีพื้นที่ 678 ตร.กม. หรือ 423,519 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาลำปาวตอนบน มีพื้นที่ 3,265 ตร.กม. หรือ 2,040,781 ไร่
- ลุ่มน้ำลำพันชาด มีพื้นที่ 698 ตร.กม. หรือ 435,956 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาลำปาวตอนล่าง มีพื้นที่ 4,345 ตร.กม. หรือ 2,715,531 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำยัง มีพื้นที่ 4,204 ตร.กม. หรือ 2,627,688 ไร่
- ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำชีตอนล่าง มีพื้นที่ 2,718 ตร.กม. หรือ 1,698,813 ไร่
ลำน้ำสายหลัก คือ แม่น้ำชี ลำน้ำสาขาที่สำคัญ คือ น้ำพรม น้ำพอง น้ำเชิญ ลำปาว และน้ำยัง
ลุ่มน้ำชี มีสถานีวัดน้ำฝนคัดเลือกในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง จำนวน 82 สถานี ปริมาณฝนตกในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมเฉลี่ย 179.25 มม./เดือน ส่วนช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือน เมษายน จะมีปริมาณฝนตกค่อนข้างน้อยประมาณ 24.80 มม./เดือน โดยปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,075.52 มม. คิดเป็นร้อยละ 87.85 ของปริมาณฝนทั้งปี
ลุ่มน้ำชีมีบทบาทสำคัญในด้านเกษตรกรรม การประมง และวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ น้ำจากลุ่มน้ำนี้ใช้ในการเพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะพื้นที่นาที่ชุ่มน้ำ ที่ทางภาคอีสาน เรียกว่า นาทาม ถือเป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจหลักของภาคอีสาน รวมถึงการปลูกพืชอื่น ๆ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และผักต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญ ซึ่งมีปลาและสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ลุ่มน้ำชียังเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการใช้ในครัวเรือน และการผลิตน้ำประปาของชุมชนในพื้นที่ อีกทั้งยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นที่อยู่อาศัยของนก และสัตว์ป่าหลายชนิด
แม่น้ำชีมีเขื่อน กั้นลำน้ำ ถึง 6 แห่ง
เพื่อบริหารจัดการเรื่องน้ำ ตลอดความยาว 765 กิโลเมตร จากต้นน้ำ ที่อำเภอหนองบัวแดงจังหวัดชัยภูมิ ถึงอำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่
- เขื่อนชนบท
- เขื่อนมหาสารคาม
- เขื่อนวังยาง
- เขื่อนร้อยเอ็ด
- เขื่อนยโสธร-พนมไพร
- เขื่อนธาตุน้อย
“ภาวะน้ำท่วม” ถือว่าเป็นปกติวิสัยและเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะลักษณะการท่วมขังของน้ำไม่ยาวนานและน้ำท่วมในอดีตยัง หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งคนในชุมชนเรียนรู้ที่จะปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ลำน้ำชีมีความสำคัญต่อวิถีการผลิตของชุมชน โดยพื้นที่ริมชี กุด ห้วย หนองน้ำต่างๆ ในบริเวณระบบนิเวศลุ่มน้ำชีสามารถใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำชีมาอย่างยาวนาน ปัญหาสำคัญภายหลังการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีแล้วเสร็จคือ สภาพปัญหาน้ำท่วมขังอย่างยาวนานในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตรไร่นา พื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนพื้นที่ป่าทาม ผลจากการท่วมขังยาวนานต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต และระบบนิเวศลุ่มน้ำชี จนเกิดความเสียหาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึง การตัดสินใจในการพัฒนาโครงการโดยไม่ได้ศึกษาถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน จึงเป็นการทำลายภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในการจัดการน้ำแบบดั้งเดิมของคนในพื้นที่ ทั้งยังส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สมัยใหม่ก็ทำให้ไม่เหมาะกับการปรับตัวกับน้ำท่วม ทั้งยังได้รับผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ทั้งต่อภาคการเกษตร และครัวเรือนของประชาชน
ที่มา:
- https://thecitizen.plus/node/81661
- https://thecitizen.plus/node/84991
- https://www.livingriversiam.org/th/?option=com_sppagebuilder&view=page&id=604
- https://www.thaipost.net/articles-news/26013/
พามาเบิ่ง โขง สงคราม ชี มูล 4 แม่น้ำสำคัญของอีสานไหลผ่านจังหวัดใดบ้าง
พามาเบิ่ง🧐ระดับความสูงของระดับน้ำทะเลของภาคอีสาน ทำไม อีสาน ถึงถูกเรียกว่า ดินแดนแห่งที่ราบสูง?