พามาเบิ่ง🧐ระดับความสูงของระดับน้ำทะเลของภาคอีสาน ทำไม อีสาน ถึงถูกเรียกว่า ดินแดนแห่งที่ราบสูง?

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ภาคอีสาน” มีลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นและแตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศ หนึ่งในคำเรียกขานที่คุ้นหูคือ “ดินแดนที่ราบสูง” ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคนี้
.

ภาคอีสานมีลักษณะเป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 168,854 ตารางกิโลเมตร ลักษณะเด่นคือมีแอ่งขนาดใหญ่ 2 แอ่ง ได้แก่

  1. 🏞️แอ่งโคราช ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนล่างของอีสาน เช่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น และมหาสารคาม
  2. 🏞️แอ่งสกลนคร ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนบนของอีสาน เช่น อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์
    .

⛰️ จุดสูงสุดของภาคอีสาน

หากพูดถึงพื้นที่ที่สูงที่สุดของภาคอีสาน มีสองจุดที่น่าสนใจ ได้แก่

📍“ภูหมันขาว” (1,820 เมตร)
ตั้งอยู่ในจังหวัดเลย เป็นจุดสูงสุดของภูมิภาค มีทัศนียภาพที่งดงามและเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาเพชรบูรณ์

📍“ภูลมโล” (1,664 เมตร)
ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดเลยและพิษณุโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่เต็มไปด้วยต้นนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทย

📌ยอดภูขวาง ป่าภูหลวง จังหวัดเลย
ความสูง 1,571 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

📌เนิน 1408 จังหวัดเลย
ความสูง 1,408 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
.

🏞จุดต่ำสุดของอีสาน

📌อำเภอเขื่องใน และอำเภอเมืองอุบลราชธานี
ความสูงประมาณ 110-130 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

📌ทุ่งกุลาร้องไห้
ความสูงประมาณ 110-140 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
ซึ่งพื้นที่ ลุ่มแม่น้ำมูล หรือ ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งกว้างใหญ่ของภาคอีสาน มีเนื้อที่ประมาณ 847,000 ไร่ มีอาณาเขตครอบคลุมถึง 5 จังหวัด คือ ในแนวทิศเหนือนั้นครอบคลุมอำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอโพนทราย ของจังหวัดร้อยเอ็ด
.

.

🌏ภูมิศาสตร์กายภาพ

ภาคอีสานเป็นที่ราบสูงแบบแอ่งแผ่นดินตื้น (Shallow Basin) เรียกกันโดยรวมว่า ที่ราบสูงโคราช(Khorat Plateau) มีรูปร่างคล้ายถ้วยเป็นแอ่งอยู่ตรงกลาง ลาดเอียงจากทางตะวันตกไปทางตะวันออก บริเวณชายขอบเป็นภูเขาสูง พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหิน มีชั้นหินกรวดมน หินดินดาน และเกลือหิน แทรกอยู่เป็นตอนๆ จากลักษณะทางธรณีวิทยาและอายุของหิน ทำให้ทราบว่าแผ่นดินอีสานอยู่ในช่วงตอนปลายของมหายุคเมโสโซอิก ที่ราบสูงแห่งนี้เป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ของทวีปเป็นแอ่งทีมีการทับถมของตะกอน บางช่วงได้ยุบจมลง เป็นทะเลตื้น ๆ และเมื่อน้ำทะเลระเหย จึงตกตะกอนเป็นชั้นของเกลือหินแทรกอยู่ทั่วทั้งบริเวณที่ราบ
ต่อมาในมหายุคซีโนโซอิก เกิดการบีบตัวของเปลือกโลกทำให้เกิดรอยเลื่อนของเปลือกโลกขึ้นทางด้านตะวันตกและด้านใต้ของภาค เป็นเทือกเขาเพชรบูรณ์ ดงพญาเย็น สันกำแพง และพนมดงรัก ขณะเดียวกันตอนกลางของที่ราบก็เกิดการโค้งตัวขึ้นเป็นสัน จากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทือกเขาภูพานแบ่งแอ่งที่ราบต่ำตอนกลางของภาคออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่อยู่ตอนเหนือเรียกว่า “แอ่งสกลนคร” ส่วนที่อยู่ทางใต้เรียกว่า “แอ่งโคราช”
.

🏞1.แอ่งโคราช

พื้นที่ราบเป็นแอ่งแผ่นดินขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ใน 4 ส่วนของภาคอีสานทั้งหมด ถือว่าเป็นที่ราบกว้างที่สุดของประเทศไทยมีความสูงโดยเฉลี่ย 120-170 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ตรงกลางแอ่งเป็นที่ราบลุ่มต่ำ มีแม่น้ำมูล แม่น้ำชี เป็นแม่น้ำสายหลักที่ระบายน้ำออกจากขอบที่ราบของแอ่ง ที่ราบแอ่งโคราชนี้ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร อำนาจเจริญ ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานีทางด้านตะวันออก ล้อมรอบด้วยเทือกเขาเพชรบูรณ์ ดงพญาเย็น สันกำแพง พนมดงรัก และเทือกเขาภูพาน
.

🏞2.แอ่งสกลนคร

พื้นที่เป็นแอ่งที่ราบที่อยู่ทางตอนเหนือของภาค มีขนาดเล็กกว่าแอ่งโคราชมาก โดยมีความสูงเฉลี่ยอยู่ในระดับ 140 – 180 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แม่น้ำที่สำคัญที่สุดคือ แม่น้ำสงคราม ที่ราบแอ่งสกลนครนี้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดอุดรธานี หนองคาย สกลนครนครพนม ลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญของแอ่งสกลนคร คือ มีหลุมแอ่งที่มีลักษณะเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ เช่น หนองหานหลวง สกลนคร และหนองหาน กุมภวาปี อุดรธานี เป็นต้น
.
.

🌏ภูมิประเทศของแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช

📌ภูมิประเทศแบบโคกสูงสลับแอ่ง ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปจะมีเนินเขาเตี้ย ๆซึ่งในภาษาถิ่นเรียกว่า โคก หรือ โพน สลับกับแอ่งที่ลุ่มซึ่งอาจมีน้ำขังอยู่เป็นหนอง บึง ขนาดต่าง ๆ กันไปลักษณะเช่นนี้เกิดจาก การพังทลายของหินอันเนื่องมาจากลมฟ้าอากาศ การกระทำของน้ำ และเกิดจากการละลายของเกลือหินใต้ดินโดยการกระทำของน้ำใต้ดิน ทำให้พื้นดินยุบตัวเป็นแอ่งใต้ดินของภาคอีสานมีชั้นของเกลือหินอยู่ถึง 3 ชั้น ตั้งแต่ระดับตื้น 30-40 เมตรจนถึงระดับลึก 800 เมตรขึ้นไป ในบางแห้งมีชั้นหินเกลือไปอัดแน่นทำให้พื้นผิวดินปูดสูงขึ้นกลายเป็นเนินดิน จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นโคกสลับแอ่งนั้น ทำให้เกิดผลสำคัญ 2 ประการต่อภาคอีสาน คือจะมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไปจำนวนมากแต่ในขณะเดียวกันการมีชั้นของหินเกลือจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาภาวะดินเค็มก่อให้เกิดผลเสียทางการเกษตรและเป็นอุปสรรคต่อการใช้น้ำทั้งบนดินและน้ำใต้ดิน
📌ภูมิประเทศแบบที่ราบลุ่มน้ำ เป็นลักษณะภูมิประเทศซึ่งเกิดจาก การกระทำของลำน้ำที่กัดเซาะทางด้าน ข้างและเกิดการทับถมในแนวดิ่งจนทำให้ที่ราบในแอ่งทั้งสองมีลักษณะราบเรียบมากแทบไม่มีความลาดชันจึงเกิดอุทกภัยในพื้นที่เขตนี้เสมอ บริเวณที่ราบลุ่มน้ำในแอ่งโคราชประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำชี ในเขตจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และยโสธร กับที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ในเขตจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ และ อุบลราชธานี เป็นที่ราบลุ่ม แบบน้ำท่วมถึงและแบบลานตะพักน้ำ ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล – ชี จะเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ เป็นแอ่งกระทะ มีเนื้อที่กว้างขวาง ลักษณะแม่น้ำจะไหลโค้งตวัดไปมาและมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแม่น้ำลัดทางเดินเกิดเป็นทะเลสาบขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไปในเขตที่ราบลุ่ม และในฤดูฝนจะมีน้ำท่วมทั่วทั้งบริเวณที่ราบ สำหรับที่ราบลุ่มน้ำในแอ่งสกลนครเป็นที่ราบลุ่มน้ำเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไปตามลำน้ำต่าง ๆ เช่น ที่ราบแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นที่ราบที่สุดในเขตแอ่งสกลนคร เป็นต้น เขตแอ่งสกลนครนี้มีลักษณะภูมิประเทศพิเศษ คือ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่วมถึง ซึ่งมีทางระบายน้ำติดต่อกับทะเลสาบเล็ก ๆ มากมาย ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณแอ่งสกลนคร ในช่วงฤดูแล้งและจะกลายเป็นทะเลสาปขนาดใหญ่ ในช่วงฤดูฝนกลายเป็นแหล่งการประมงที่สำคัญอย่างยิ่งในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
.
⛰ที่ราบสูง คือ พื้นที่ที่มีความสูง กว่าบริเวณโดยรอบ 150 เมตร (บางตำราถือว่าที่ราบสูงต้องอยู่สูงจากพื้นผิวโดยรอบ 300 เมตรขึ้นไป จึง ถือว่าประเทศไทยไม่มีที่ราบสูง เพราะมีความสูงเพียง 150-180 เมตรเท่านั้น)
.

“พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสูงน้อยกว่าบริเวณที่ราบในภาคเหนือซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-500 เมตร แต่โครงสร้างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีขอบผาชัน จึงทำให้ดูเหมือนว่าเป็นที่ราบสูง แต่เมื่อพิจารณาลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้ว ไม่จัดว่าเป็นที่ราบสูงอย่างที่เข้าใจกัน…”(จากหน้า 293 หนังสือ ภูมิศาสตร์กายภาพประเทศไทย โดยศาตราจารย์ ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐ)

ดังนั้น ทางธรณีวิทยา ❎อีสานไม่ถือเป็นที่ราบสูง (อังกฤษ: plateau) ยังสามารถเรียกได้ว่า ที่ราบระดับสูง (high plain) หรือ ที่ราบสูงรูปโต๊ะ (tableland)
แต่เป็นเพียงที่✅ราบสูงแผ่นดินตื้น(Shallow Basin) แต่หากเปรียบเทียบกับภาคกลางที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ก็จะเห็นได้ว่าภาคอีสาน ที่ยกตัวสูงขึ้นมาเมื่อเทียบกับภาคกลางอย่างเห็นได้ชัด เรียกได้ว่า เป็น “ที่ราบสูง” ของไทย
.

อาจเป็นรูปภาพของ แผนที่, ปล่องภูเขาไฟ และ ข้อความพูดว่า "ลพบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ ชัยภมิ ชัยภูมิ ลพบุรี วัดกุดตาเพชร พชร ชัยฎูมิ ชียกูมิ அீ ลพ"
🌏จุดสังเกตสันฐานพื้นที่ของภาคอีสาน อธิบายง่ายๆคือ 🎂เหมือนก้อนขนมเค้ก โดยพื้นที่บนเค้กเปรียบเสมือนที่ตั้งของภาคอีสาน

  • เวลาขับรถขึ้นเขาตะโก จาก อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว จะไป จ.บุรีรัมย์
  • เวลาขับรถขึ้นเขาพังเหย แถวชัยภูมิ หรือ ไปยืนแถวผาหด จะเห็นแผ่นดินภาคกลางอยู่เบื้องล่างชัดเจน ( น่าจะเป็นพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ )
  • หรือ ไปยืนที่หน้าผามออีแดง หรือ เขาพระวิหาร จะเห็นแผ่นดินเขมรที่ต่ำกว่าแผ่นดินไทยชัดเจน ( ชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่า เขมรต่ำ )

อาจเป็นรูปภาพของ แผนที่ และ ข้อความ
.

 

อ้างอิง:

  • ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม: ฐานข้อมูล ภูมิศาสตร์กายภาพและวัฒนธรรม
  • หนังสือ ภูมิศาสตร์กายภาพประเทศไทย โดยศาตราจารย์ ดร.ประเสริฐ วิทยารัฐ
  • มิตรเอิร์ธ – mitrearth
  • สังคมศึกษาเพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย : ภูมิศาสตร์, อาจารย์กนก จันทรา

.
.
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
.
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #ภูมิศาสตร์อีสาน #ที่ราบสูง #ที่ราบสูงอีสาน #แอ่งโคราช #แอ่งสกลนคร #ทุ่งกุลาร้องไห้ #เนิน1408 #ภูหลวง #ภูขวาง

พาเปิดเบิ่ง “ทุ่งกุลาร้องไห้” มีอะไรบ้าง🌾🍚✈️

พามาเบิ่ง 5  แนวเทือกเขาในภาคอีสาน

พามาฮู้จัก รอยเลื่อนสะกาย ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า ต้นเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ สะเทือนแรงถึงไทย

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top