พามาฮู้จัก รอยเลื่อนสะกาย ยักษ์หลับกลางเมืองพม่า ต้นเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ สะเทือนแรงถึงไทย

รอยเลื่อนสะกาย ต้นเหตุของแผ่นดินไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ถือเป็นหนึ่งใน รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ที่สำคัญอันดับต้นๆ ในอาเซียนบ้านเรา ด้วยความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอกประเทศพม่า และพาดผ่านแทบทุกเมืองที่สำคัญ เช่น มิตจีนา, มัณฑะเลย์, เนปิดอว์, ย่างกุ้ง, และพะโค ทำให้รอยเลื่อนสะกายถือว่าเป็นรอยเลื่อนยักษ์ที่อยู่ใกล้คนมากเกินไปและไม่น่าไว้ใจในอนาคต

 

รอยเลื่อนสะกายมีลักษณะเป็นรอยเลื่อนที่เคลื่อนที่ได้ในลักษณะ แบบเฉือน (Strike-slip fault) ซึ่งแปลว่า แผ่นเปลือกโลกทั้งสองข้างของรอยเลื่อนจะเคลื่อนที่ขนานกันไปตามแนวรอยเลื่อน โดยไม่เกิดการหนีบหรือยกสูงของเปลือกโลก ในกรณีนี้ รอยเลื่อนสะกายจะเคลื่อนตัวในลักษณะ เลื่อนด้านซ้าย (Left-lateral fault) โดยที่แผ่นดินทั้งสองข้างจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางตรงข้ามกัน

 

รอยเลื่อนสะกายเป็นขอบหรือรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกย่อยโบราณ 2 แผ่น คือ แผ่นซุนดา (Sunda Plate) และ แผ่นพม่า (Burma Plate) ซึ่งปัจจุบันถือเป็นส่วนหนึ่งของ แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate)

 

สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย

แผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย เป็นผลมาจาก การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ซึ่งเกิดจาก แรงเครียด (Stress) ที่สะสมอยู่ตามแนวรอยเลื่อน เป็นการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก แผ่นอินเดีย (Indian Plate) เคลื่อนตัว ชนกับแผ่นยูเรเชีย (Eurasian Plate)

 

สะกายเคยทำอะไรมาบ้าง?

⭐ปี 1972-2534 (562 ปี) พบแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป ประมาณ 70 ครั้ง

⭐ปี 2507 – 2555 (48 ปี) พบแผ่นดินไหวขนาด 2.9-7.3 ประมาณ 276 ครั้ง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวในเชิงสถิติของ Pailoplee ประเมินว่ารอยเลื่อนสะกายนั้นมีศักยภาพพอที่จะเป็นแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ได้สูงถึง 8.6 โดยเฉพาะบริเวณเมืองมิตจีนา (Myitkyina) ทางตอนเหนือของรอยเลื่อนสะกาย

 

และจากการรวบรวมผลกระทบด้านแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกายบ่งชี้ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย “ประเทศไทย” มีโอกาสได้รับแรงสั่นสะเทือนในระดับ 4-5 ตามมาตราเมอร์คัลลี่แปลง 

 

ในอดีต แถบภาคเหนือลามไปถึงกรุงเทพฯ เคยได้รับแรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนสะกายนี้ในระดับ 3 (จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.0 เมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 และ 7.0 เมื่อ 3-4 ธันวาคม พ.ศ. 2473) 

 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เฉพาะประเทศเมียนมาเท่านั้นที่ควรจะใส่ใจรอยเลื่อนสะกาย แต่คนไทยอย่างพวกเราก็ควรที่จะจับตาและเฝ้าระวังรอยเลื่อนสะกายอย่างไม่ให้คลาดสายตาเช่นกัน เพราะในอนาคต เราอาจจะได้สัมผัสประสบการณ์ประมาณนี้ก็เป็นได้

 

โอกาสเกิดแผ่นดินไหว

ผลจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ซึ่งจากการสืบค้นเฉพาะฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัด (instrumental record) สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังษี (2557) ระบุว่าในช่วงปี พ.ศ. 2507-2555 (48 ปี) เคยเกิดแผ่นดินไหวบริเวณรอบๆ รัศมี 100 กิโลเมตรจากรอยเลื่อนสะกาย 276 เหตุการณ์ โดยมีขนาดแผ่นดินไหวระหว่าง 2.9-7.3 ซึ่งจากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละขนาดตามหลัก สมการความสัมพันธ์กูเต็นเบิร์ก-ริกเตอร์ ผลการศึกษาวิจัยพบว่ารอยเลื่อนสะกายมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ในทุกๆ 8 ปี ในขณะที่แผ่นดินไหวขนาด 7.0 และ 8.0 มีคาบอุบัติซ้ำโดยประมาณ 60 และ 500 ปี ตามลำดับ

 

 

แผ่นดินไหวเมียนมา 8.2 เขย่าไทย 57 จังหวัด อาคาร สตง. ถล่ม

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 13.20 น. ได้เกิดเหตุ “แผ่นดินไหวเมียนมา” ขนาด 8.2 โดยอยู่ใต้ดินลึกลงไป 10 กิโลเมตร และยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกลูกใหญ่ขนาด 6.4 และอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายลูกรวมกว่า 110 ครั้ง ข้อมูลอัปเดตวันที่ 29 มีนาคม 2568 เวลา 17.30 น.

 

โดยแผ่นดินไหวรุนแรงในครั้งนี้ สร้างความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้อาคารก่อสร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเป็นอาคารสูง 30 ชั้น มูลค่างานก่อสร้าง 2,136 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มลงมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกหลายราย

 

ความเสียหายไม่ได้เกิดเฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า เหตุแผ่นดินไหวศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ลึก 10 กิโลเมตร ในช่วงบ่ายของเมื่อวานนี้ ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง สามารถรับรู้แรงสั่นไหวได้ในพื้นที่ รวม 57 จังหวัด โดยเบื้องต้นได้รับรายงานความเสียหายใน 13 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร  

 

 

แผ่นดินไหวเมียนมาสะเทือนไทย ผลกระทบที่มากกว่าแค่แรงสั่นสะเทือน

แม้แผ่นดินไหวครั้งนี้จะมีศูนย์กลางในเมียนมา แต่ผลกระทบกลับแผ่ขยายมาถึงประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

โครงสร้างพื้นฐาน จุดอ่อนที่ถูกเปิดเผย

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งในประเทศไทย โดยเฉพาะอาคารพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย โรงงาน และสำนักงานที่ไม่แข็งแรงพอ ความเสียหายเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างภาระด้านงบประมาณในการซ่อมแซมและสร้างใหม่ แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาภูมิภาคโดยรวม

 

โลจิสติกส์ เส้นเลือดใหญ่ที่ถูกกระทบ

ผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานยังส่งผลต่อเนื่องไปยังระบบขนส่งและโลจิสติกส์ หากสะพาน ถนน ท่าเรือ หรือสนามบินได้รับความเสียหาย การขนส่งสินค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศจะเกิดความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ

 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รายได้ที่สั่นคลอน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้เช่นกัน หากสถานที่ท่องเที่ยวหรือโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวม

 

 

อ้างอิงจาก:

– มิตรเอิร์ธ – mitrearth 

– Verisk Analytics

– กรุงเทพธุรกิจ

– BBC NEWS

– กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่

https://linktr.ee/isan.insight

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสานอินไซต์ #แผ่นดินไหว #แผ่นดินไหมพม่า #รอยเลื่อนสะกาย #แผ่นดินไหวเมียนมา #เมืองมัณฑะเลย์

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top