เมื่อ “ลอตเตอรี่” เป็นการออมของคนจน

หลายคนรู้ดีว่าควรออมเงินให้ได้ 1 ใน 4 ของรายได้แต่ละเดือน แต่ก็ต้องยอมรับว่ารายจ่ายที่มีทุกเดือนนั้นมีพอ ๆ กับรายได้ แล้วจะเก็บออมได้อย่างไร ในเมื่อไม่เหลือเงินให้เก็บ หรือเหลือเก็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
.
ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2560 พบว่าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมักจะแบ่งรายได้ในแต่ละเดือนไปซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นสัดส่วนที่มากกว่าครัวเรือนรายได้สูง ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล
.
ในปี 2563 อีสานมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมากที่สุดในประเทศ เมื่อเทียบกับรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนทั้งหมด รองลงมาเป็น ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ตามลำดับ
.
การที่ผู้มีรายได้น้อย แต่ชอบเล่นลอตเตอรี่ กลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ มีหลายงานวิจัยพบว่า ลอตเตอรี่รัฐบาลมีลักษณะเป็นภาษีอัตราถดถอย กล่าวคือผู้มีรายได้น้อยจ่ายเงินให้กับรัฐบาลในสัดส่วนต่อรายได้ที่สูงกว่าผู้มีรายได้มากกว่า
.
ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนักจิตวิทยาต่างพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อจะนำไปสู่นโยบายที่สามารถลดการซื้อลอตเตอรี่ของคนจนได้
.
จากการศึกษาของหลายท่าน สรุปว่าการที่คนจนชอบเล่นลอตเตอรี่มากกว่าคนรวยนั้นอาจเกิดจากความรู้สึกด้อยกว่า และต้องการขยับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้หนีจากความยากจนได้ เนื่องจาก “ลอตเตอรี่” เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ “เกม” ที่คนจนจะมีโอกาสชนะพอ ๆ กับคนรวย
.
อย่างไรก็ตามการซื้อลอตเตอรี่ไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล หรือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเสมอไป แต่ยังเป็นเหมือนกับคนที่ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อความบันเทิงรูปแบบอื่น เพราะนอกจากจะได้ลุ้นว่า จะถูกรางวัลหรือไม่ ก็ยังมีความสุขที่ได้หวังว่าตนเองจะหลุดพ้นจากความยากจน แม้โอกาสที่ว่านั้นจะมีไม่มากในความเป็นจริงก็ตาม
.
ทำอย่างไร…? ให้ผู้บริโภคไม่ซื้อลอตเตอรี่มากเกินไปจนกระทบชีวิตความเป็นอยู่ ต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ
.
1. มีข้อมูลหรือความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคมีการประเมินโอกาสที่จะถูกลอตเตอรี่มากเกินไปจากความจริง (Overestimate) จนนำไปสู่พฤติกรรมซื้อมากเกินไป โดยข้อมูลความรู้ที่ควรมี เช่น หลักความน่าจะเป็น พร้อมความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการซื้อเลขเดิมซ้ำ ๆ กันในทุกงวดไม่ได้ทำให้โอกาสถูกรางวัลมีมากขึ้น เป็นต้น
.
2. มีทักษะในการควบคุมตนเอง หากขาดทักษะนี้เมื่อถูกล่อด้วยสิ่งเร้าอย่างลอตเตอรี่ ก็มีแนวโน้มที่จะไร้ซึ่งการคิดไตร่ตรองให้ดี ไม่นำความรู้ของตนมาใช้ในการตัดสินใจ และไม่ได้คำนึงทางเลือกอื่นอย่างครบถ้วน จึงพ่ายแพ้ต่อสิ่งล่อใจนั้นในที่สุด เกิดเป็นพฤติกรรมซื้อของโดยฉับพลัน (Impulse buying)
.
แนวทางในการแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวที่ควรทำคือ การส่งเสริมความรอบรู้ทางการเงิน (Financial literacy) พร้อมความรู้ที่อื่น ๆ อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลตอบแทนของลอตเตอรี่ที่ถูกต้อง ผลเสียของการติดลอตเตอรี่ แก้ไขความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง โดยอาจจะเป็นในรูปแบบของการอบรม การเข้าไปพูดคุย การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ
.
ส่วนในด้านทักษะการควบคุมตัวเองนั้น มีเครื่องมือที่เรียกว่า Commitment device หรือการชักชวนให้กลุ่มเป้าหมายตั้งเป้าหมายขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และอาจมีผลลัพธ์บางอย่างเกิดขึ้นหากทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่สามารถทำได้ตามที่ได้ตั้งใจไว้ เช่น จะไม่ซื้อลอตเตอรี่เกิน 160 บาทต่อเดือน หากทำไม่สำเร็จ จะบริจาคเงินให้กับวัด 50 บาท
.
อีกมาตรการคือ การทำให้ผู้ซื้อตระหนักถึงทางเลือกอื่นที่น่าจะคุ้มค่ากว่า เช่น การเขียนไว้ที่ใบสลากว่าเงินที่คุณกำลังจะจ่ายนั้นสามารถซื้อข้าวให้ลูกได้สองมื้อ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ผู้บริโภคมักไม่ได้คิดถึงทางเลือกอื่น ๆ ในขณะที่กำลังตัดสินใจซื้อนั่นเอง
.
นอกจากนี้ คนจนที่ซื้อลอตเตอรี่ส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึกด้อยกว่า และอยากมีฐานะดีขึ้น แต่ไม่มีช่องทางอื่นในการยกระดับฐานะได้ รัฐจึงควรส่งเสริมให้คนจนสามารถหารายได้เพิ่มมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส อย่างการส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การพัฒนาทักษะฝีมือ การช่วยจัดหางาน เพื่อให้คนเหล่านี้มีความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถที่จะหลุดพ้นจากความยากจนได้โดยไม่ต้องพึ่งลอตเตอรี่
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้ซื้อลอตเตอรี่น้อยลง แต่ก็อาจจะมีคนจำนวนมากที่ชอบเล่นลอตเตอรี่อยู่ รัฐสามารถเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส โดยใช้ความนิยมในลอตเตอรี่มาเป็นเครื่องมือช่วยให้คนจนมีเงินออมเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณผ่าน “สลากออมทรัพย์”
.
แต่สลากออมทรัพย์ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รัฐจึงอาจมีการปรับปรุง เช่น การลดจำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อ เพิ่มช่องทางจำหน่าย หรือสามารถเลือกเลขได้เอง เพื่อจูงใจกลุ่มคนเหล่านี้หันมาซื้อสลากออมทรัพย์มากกว่าการซื้อลอตเตอรี่นั่นเอง
.
.
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการวิจัย มาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
.
.
อ้างอิงจาก: TDRI และสำนักงานสถิติแห่งชาติ
.
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top