การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเส้นทางที่เต็มไปด้วยโอกาสและอุปสรรค ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่เกิดจากความมุ่งมั่น อดทน และการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาด การเดินทางจากจุดเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ไปจนถึงการสร้างธุรกิจที่มีมูลค่าหลักพันล้านนั้น ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน กลยุทธ์ที่แข็งแกร่ง และการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
วันนี้ ISAN Insight & Outlook จะพามาเบิ่ง บริษัทในอีสานที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด สามารถสร้างรายได้พันล้านในเวลาไม่ถึงทศวรรษ โดยแบ่งตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (TSIC) ทั้งนี้ ทางทีมงานจะไม่ได้นำทุกธุรกิจมาแสดง เพียงแต่นำธุรกิจที่ดูน่าสนใจและหลายคนอาจจะคุ้นชินมานำเสนอเท่านั้น
-
บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)
- ผู้ก่อตั้งบริษัท: นาย ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์
- ปีที่จดทะเบียน: พ.ศ. 2549
- ปีที่รายได้แตะหมื่นล้าน: พ.ศ. 2561
- รายได้ปีที่แตะหมื่นล้าน: 10,084 ล้านบาท
- ระยะเวลาที่ใช้: 12 ปี
- สัดส่วนแบ่งรายได้ทั่วประเทศ: 11.7%
- จังหวัดที่ตั้ง: บุรีรัมย์
-
บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
- ผู้ก่อตั้งบริษัท: นาย วิทูร สุริยวนากุล
- ปีที่จดทะเบียน: พ.ศ. 2538
- ปีที่รายได้แตะหมื่นล้าน: พ.ศ. 2555
- รายได้ปีที่แตะหมื่นล้าน: 11,099 ล้านบาท
- ระยะเวลาที่ใช้: 17 ปี
- สัดส่วนแบ่งรายได้ทั่วประเทศ: 9.2%
- จังหวัดที่ตั้ง: ร้อยเอ็ด
-
บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน)
- ผู้ก่อตั้งบริษัท: นาย อดิศักดิ์ ตั้งมิตรประชา และ นาง นาตยา ตั้งมิตรประชา
- ปีที่จดทะเบียน: พ.ศ. 2536
- ปีที่รายได้แตะหมื่นล้าน: พ.ศ. 2554
- รายได้ปีที่แตะหมื่นล้าน: 10,544 ล้านบาท
- ระยะเวลาที่ใช้: 18 ปี
- สัดส่วนแบ่งรายได้ทั่วประเทศ: 39.2%
- จังหวัดที่ตั้ง: อุบลราชธานี
-
บริษัท ห้างทองทองสวย จำกัด
- ผู้ก่อตั้งบริษัท: นาย อุดม ตติเวชกุล
- ปีที่จดทะเบียน: พ.ศ. 2539
- ปีที่รายได้แตะหมื่นล้าน: พ.ศ. 2563
- รายได้ปีที่แตะหมื่นล้าน: 17,193 ล้านบาท
- ระยะเวลาที่ใช้: 24 ปี
- สัดส่วนแบ่งรายได้ทั่วประเทศ: 0.8%
- จังหวัดที่ตั้ง: ขอนแก่น
เริ่มต้นด้วยธุรกิจในภาคการเกษตรเป็นรากฐานสำคัญของภาคอีสาน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่คุ้นชินกับการทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง หรืออุตสาหกรรมป่าไม้ เมื่อมองในเชิงธุรกิจจะพบว่ามีเพียงสองบริษัทเท่านั้นที่สามารถเติบโตจนมีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจฟาร์มไก่และมีรายได้ 4,339 ล้านบาท และ บริษัท ทองอุไรพัฒนา จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจเลี้ยงหมูและมีรายได้ 1,163 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเลี้ยงสัตว์เติบโตเหนือธุรกิจเกษตรประเภทอื่น ได้แก่ มูลค่าของสินค้า ซึ่งสูงกว่าพืชผลเกษตรบางชนิด อุปสงค์ที่มั่นคง เนื่องจากผู้บริโภคยังคงนิยมบริโภคเนื้อสัตว์อย่างต่อเนื่อง และราคาที่ปรับตัวตามกลไกตลาด ซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการราคาเพื่อเพิ่มผลกำไรได้ ส่งผลให้บริษัทที่เน้นการเลี้ยงสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากกว่าธุรกิจเกษตรประเภทอื่นในภาคการเกษตร
ธุรกิจภาคการผลิตเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งมีบริษัทที่มีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทเกือบ 100 แห่ง สะท้อนถึงความเข้มข้นของการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ หากพิจารณาโครงสร้างของภาคการผลิตในอีสาน จะพบว่ากลุ่มบริษัทที่มีรายได้สูงสุดส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำตาล เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออก 4,506 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรองเพียงบราซิลซึ่งครองตำแหน่งผู้นำในตลาดนี้มาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากน้ำตาลแล้ว ยางพารายังเป็นผลผลิตสำคัญของภาคอีสาน แม้ว่าโดยทั่วไปจะมีความเชื่อว่าน้ำยางจากภาคใต้มีคุณภาพดีกว่าเนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยกว่า อย่างไรก็ตาม ภาคอีสานมีพื้นที่เพาะปลูกกว้างขวาง แม้จะเผชิญกับสภาพอากาศแห้งแล้งในบางช่วง ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณน้ำยางที่กรีดได้ แต่ด้วยข้อได้เปรียบด้านพื้นที่และสภาพแวดล้อม ทำให้อ้อยและยางพารายังคงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภูมิภาค นอกจากนี้ ภาคอีสานยังเป็นศูนย์กลางการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะโรงงานจากญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานการผลิต ส่งผลให้การแข่งขันในภาคธุรกิจการผลิตยังคงดุเดือดและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
อีกหนึ่งภาคธุรกิจที่การแข่งขันสูงไม่แพ้กันคือธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจที่พบเห็นได้ทั่วไปในทุกพื้นที่ หากนับเฉพาะในภาคอีสานธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทก็จะมีจำนวนรวมกันมากกว่า 100 ราย ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกในภาคอีสานมีทั้งศูนย์กระจายสินค้า ตลาดค้าส่ง และโมเดิร์นเทรด ขณะที่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ส่วนธุรกิจการซ่อมและจำหน่ายอะไหล่ยานยนต์เติบโตตามจำนวนรถยนต์และจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์เป็นสิ่งหนึ่งในสิ่งที่จำเป็นและเข้าถึงได้ง่ายกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล ขณะที่อู่ซ่อมอิสระและร้านซ่อมจักรยานยนต์ยังคงเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายจากการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจากอีคอมเมิร์ซ และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ราคาน้ำมันที่ผันผวนและภาวะเศรษฐกิจยังส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน
ธุรกิจก่อสร้างธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการในทุกพื้นที่ทั้งการก่อสร้างอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย หรือแม้กระทั่งระบบสาธารณูประโภคพื้นฐานต่างๆไม่ว่าจะจากทั้งภาครัฐหรือเอกชนก็ตามล้วนแล้วจำเป็นต้องอาศัยธุรกิจในกลุ่มนี้ทั้งนั้น ความต้องการที่มีอยู่ตลอดและหลากหลายนี้ทำให้ธุรกิจก่อสร้างมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเติบโตของภาคธุรกิจอื่น ๆ นอกจากนี้ ธุรกิจก่อสร้างยังสร้างการจ้างงานจำนวนมาก ตั้งแต่แรงงานทั่วไปไปจนถึงวิศวกร ผู้รับเหมา และนักพัฒนาโครงการ แม้ว่าธุรกิจนี้จะมีโอกาสเติบโตสูง แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น ความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้าง การเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐ และการแข่งขันที่รุนแรง
และธุรกิจสุดท้ายคือธุรกิจในกลุ่มการผลิตไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบปรับอากาศเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและภาคการผลิต โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง หากพิจารณาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในกลุ่มนี้ จะพบว่าหลายบริษัทมาจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก เช่น โรงงานแปรรูปอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น บริษัทเหล่านี้มักลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเป็นของตนเองเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ บางบริษัทอาจเลือกขายไฟฟ้าส่วนเกินให้กับภาครัฐหรือเอกชนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม ส่งผลให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้ากลายเป็นแหล่งรายได้เสริมที่สำคัญ นอกจากนั้น การมีระบบผลิตพลังงานของตนเองยังช่วยให้บริษัทมีเสถียรภาพในการดำเนินงาน ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาพลังงาน และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในภาพรวม
ที่มา: เว็บไซต์ของบริษัท, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์