ชวนมาเบิ่ง
ตัวอย่างสนามบินใหญ่ใน GMS
.
.
(1) การเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยที่มีศูนย์จัดงาน MICE ขนาดต่างๆ รองรับอยู่มากมาย นอกจากในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ก็ยังมีสถานที่จัดงาน MICE กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นในทุกการเดินทางเพื่อไปร่วมงานได้อย่างสะดวกรวดเร็วจากการโดยสารเครื่องบินจึงเป็นสิ่งสำคัญ
.
(2) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการมาเกือบ 20 ปี ให้บริการมาแล้วกว่า 5 ล้านเที่ยวบิน พร้อมทั้งต้อนรับผู้โดยสารจากทั่วโลกมากกว่า 815 ล้านคน และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมกว่า 22 ล้านตัน เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งตั้งเป้าที่จะผลักดันไทยเป็นฮับการบินของภูมิภาค โดยตั้งเป้าให้สนามบินสุวรรณภูมิติดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดติด 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดของโลก ซึ่งนอกจากการเพิ่มการลงทุนในสนามบิน ยังมีการวางแผนพัฒนาการให้บริการสนามบิน และจับมือกับพันธมิตรระดับโลก
.
ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เร่งรัดแผนการพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคนต่อปีในปี 2573 โดยปัจจุบัน ทอท.ได้เปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ควบคู่ไปกับโครงการขยายขีดความสามารถของสนามบินอย่างต่อเนื่อง
.
(3) ส่วนในภาคอีสานของเรา ปัจจุบันมีสนามบินอยู่ 9 แห่งด้วยกัน และมีสนามบินที่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการอยู่ทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่
ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3.5 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2568 (ม.ค. – ก.พ.) มีเที่ยวบิน 1,962 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสาร 301,987 คน
.
ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 5 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2568 (ม.ค. – ก.พ.) มีเที่ยวบิน 1,521 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสาร 241,921 คน
ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2.9 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2568 (ม.ค. – ก.พ.) มีเที่ยวบิน 1,262 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสาร 200,760 คน
.
ท่าอากาศยานสกลนคร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1.7 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2568 (ม.ค. – ก.พ.) มีเที่ยวบิน 384 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสาร 59,233 คน
.
ท่าอากาศยานนครพนม สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1.7 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2568 (ม.ค. – ก.พ.) มีเที่ยวบิน 342 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสาร 56,003 คน
.
ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1.2 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2568 (ม.ค. – ก.พ.) มีเที่ยวบิน 334 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสาร 53,235 คน
.
ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2.6 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2568 (ม.ค. – ก.พ.) มีเที่ยวบิน 248 เที่ยวบิน และผู้โดยสาร 37,046 คน
.
ท่าอากาศยานเลย สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6 แสนคนต่อปี โดยในปี 2568 (ม.ค. – ก.พ.) มีเที่ยวบิน 221 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสาร 34,426 คน
.
โดยสนามบินที่ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการ คือ ท่าอากาศยานนครราชสีมา
.
จะเห็นได้ว่าทั้งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เยอะจะกระจุกตัวอยู่ 3 สนามบินหลักของภาคอีสาน อย่างท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี, ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น และท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารตลอดทั้งปี 2567 หลักล้านคนเลยทีเดียว
.
ทำไมท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ถึงมีจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินมากที่สุด?
.
เนื่องจากอุดรธานีตั้งอยู่ใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างจังหวัดหนองคาย และตั้งอยู่ใกล้เวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว โดยอยู่ห่างเพียง 50 กิโลเมตร ทำให้มีผู้โดยสารทั้งลาวและจีนมาใช้บริการ อีกทั้งยังมีเที่ยวบินในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก สามารถเลือกเวลาการเดินทางได้ แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายถูกกว่าที่จะใช้บริการสนามบินนานาชาติวัตไต ที่กรุงเวียงจันทน์
.
และยังมีปัจจัยเสริมที่สำคัญคือ มีคนจีนส่วนหนึ่งที่เดินทางมากับรถไฟจีน-ลาว มาถึงลาวแล้วต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจที่กรุงเทพฯหรือพื้นที่ภาคตะวันออก ก็จะมาใช้บริการ อีกส่วนที่เป็นชาวลาวที่เดินทางข้ามแม่น้ำโขงมาใช้บริการด้วย สังเกตได้จากป้ายทะเบียนรถยนต์ที่จอดค้างคืนที่สนามบินอุดรธานี
.
โดยท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนของภูมิภาคและประเทศไทย
.
.
(4)🇲🇲ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้ง (Yangon International Airport) ซึ่งเป็นสนามบินแห่งสำคัญที่พลุกพล่านที่สุดของเมียนมา ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 6 ล้านคนต่อปี โดยนักเดินทางส่วนใหญ่มาจากไทยและจีน ส่วนมากใช้วีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่คนอื่นๆ เข้ามาด้วยวีซ่าธุรกิจหรือวีซ่านักท่องเที่ยว อีกทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยก็นิยมไปเยี่ยมชมย่างกุ้ง พะโค และพระธาตุอินทร์แขวนหรือพระธาตุไจทีโย ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาเพื่อทำธุรกิจและเยี่ยมชมย่างกุ้งและมัณฑะเลย์เช่นกัน
.
(5)🇱🇦ท่าอากาศยานนานาชาติวัตไต
(Wattay International Airport Airport) เป็นสนามบินหลักและใหญ่ที่สุดของประเทศลาว ตั้งอยู่ในกรุงเวียงจันทน์ ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร สนามบินแห่งนี้เป็นประตูสู่ประเทศลาวสำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นจุดสำคัญในการเดินทางเข้าและออกจากประเทศลาว และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ
.
และในตอนนี้ ลาวเปิดท่าอากาศยานนานาชาติบ่อแก้วที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแขวงบ่อแก้ว ซึ่งเป็นสนามบินใหญ่อันดับ 3 ในลาว รองจากท่าอากาศยานนานาชาติวัตไตในเวียงจันทน์ และท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบางในแขวงหลวงพระบางทางตอนเหนือของลาว คาดรองรับผู้โดยสาร 2 ล้านคนต่อปี
.
.
(6)🇰🇭 กัมพูชา กำลังจะมีสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ชื่อว่า “ท่าอากาศยานนานาชาติเตโช (Techo Takhmao International Airport)” คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเฟสแรกได้ในปี 2568 และรองรับผู้โดยสารในระยะแรกได้ 13 ล้านคนต่อปี และสูงสุด 50 ล้านคนต่อปีในอนาคต เมื่อเริ่มดำเนินการ สนามบินแห่งใหม่จะเข้ามาแทนที่สนามบินนานาชาติพนมเปญ (Phnom Penh International Airport) โดยในปัจจุบัน สนามบินนานาชาติพนมเปญ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4.1 ล้านคน
.
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกัมพูชาถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งสนามบินนานาชาติเตโช จะช่วยให้การเดินทางระหว่างผู้ประกอบธุรกิจไทยและผู้ประกอบธุรกิจกัมพูชาสะดวกมากขึ้น และเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญต่อการขยายตัวต่อเศรษฐกิจของกัมพูชา รวมทั้งยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกัมพูชา
.
.
(7)🇻🇳ท่าอากาศยานนานาชาติเตินเซินเญิ้ต (Tan Son Nhat International Airport) ปัจจุบันนับเป็นสนามบินหลักในการเดินทางไปตอนใต้ แต่ละปีมีผู้คนเดินทางเฉลี่ยกว่า 12 ล้านคน จำนวนเที่ยวบินเกิน 4 แสนเที่ยว สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 28 ล้านคนต่อปี หรือ 2 ใน 3 ของสนามบินทั้งหมดในเวียดนามกันเลยทีเดียว แต่มีจำนวนผู้โดยสารแตะที่ระดับ 136% ของขีดความจุสนามบิน ทำให้รัฐบาลต้องสร้างสนามบินแห่งใหม่ นั่นก็คือ สนามบินนานาชาติล็องถัญ (Long Thanh International Airport) ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2569 ซึ่งถือว่าเวียดนามทุ่มเม็ดเงินลงทุนอย่างสูงในโครงสร้างพื้นฐานสนามบินแห่งใหม่เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัด
.
.
อ้างอิงจาก:
– กรุงเทพธุรกิจ
– สวพ.FM91
– tourwow.com
– กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
– สำนักข่าวซินหัวเป็นองค์กรสื่อสารมวลชนระดับชาติ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #สนามบิน #สนามบินในอีสาน #สนามบินอีสาน #ท่าอากาศยาน #สนามบินสุวรรณภูมิ #สนามบินในGMS #สนามบินGMS #ท่าอากาศยานGMS