ในปี 2566 พบว่า ครัวเรือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีหนี้สินกว่า 60.8% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีหนี้สินเฉลี่ย 200,540 บาทต่อครัวเรือน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน 133,700 บาท ประกอบด้วยหนี้เพื่อใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค 88,101 บาท หนี้เพื่อซื้อ/เช่าซื้อบ้านและ/หรือที่ดิน 42,690 บาท และหนี้เพื่อใช้ในการศึกษามีเพียง 2,909 บาทเท่านั้น
ในขณะที่หนี้เพื่อใช้ในการลงทุนและอื่น ๆ มีจำนวน 66,840 บาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ใช้ทำการเกษตร 50,754 บาท รองลงมาเป็นหนี้ใช้ทำธุรกิจ 15,439 บาท และหนี้อื่น ๆ เช่น หนี้จากการค้ำประกัน หนี้ค่าปรับ/จ่ายค่าเสียหายอีก 647 บาท
โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่าเป็นภาคที่มีสัดส่วนครัวเรือนมีหนี้สูงกว่าทุกภาค และหนี้สินประเภทเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนถือเป็นวัตถุประสงค์การก่อหนี้ที่ครองอันดับ 1 ซึ่งสอดรับไปกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าคนอีสานมีกำลังใช้จ่ายที่จำกัด ทำให้ต้องมีการกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งการกู้มาเพื่อใช้ในการบริโภค ไม่ได้เป็นการกู้มาเพื่อสร้างสินทรัพย์หรือซื้อสินทรัพย์อย่างอสังหาริมทรัพย์หรือรถยนต์ ซึ่งหมายถึงลูกหนี้ที่กู้มามีรายได้น้อยหรือรายได้ไม่เพียงพอ จนต้องใช้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งจะส่งผลตามมาคือความสามารถในการชำระหนี้ก็น้อยลงด้วยเช่นกัน และมีโอกาสทำให้เกิดหนี้เสีย(NPL) มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ครัวเรือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้สินในระบบ โดยเป็นครัวเรือนที่มีหนี้สินในระบบอย่างเดียว 96% และเป็นครัวเรือนที่มีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ 1.9% สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้สินนอกระบบอย่างเดียวมีเพียง 2.1% และพบว่าจำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้สินในระบบสูงกว่านอกระบบถึง 118 เท่า (198,855 บาท และ 1,684 บาทตามลำดับ)
จากผลการสำรวจครัวเรือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2566 พบว่า ครัวเรือนที่มีหนี้สินในระบบ
ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค 43.8% รองลงมา คือ เพื่อใช้ทำการเกษตร 25.5% ใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและ/หรือที่ดิน 21.3%ใช้ทำธุรกิจ 7.7% และใช้ในการศึกษามีเพียง 1.5% เท่านั้น
สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้สินนอกระบบ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค 56.3%
รองลงมา คือ เพื่อใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและ/หรือที่ดิน 24.5% ใช้ทำธุรกิจ 12.8% ใช้ทำการเกษตร 4.0% เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ 1.8% และใช้ในการศึกษามีเพียง 0.7% เท่านั้น
หากไปดูแต่ละจังหวัด พบว่า 5 อันดับจังหวัดที่มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนมากที่สุด ไดเแก่
– อำนาจเจริญ 337,610 บาท/ครัวเรือน
– นครราชสีมา 303,257 บาท/ครัวเรือน
– สุรินทร์ 290,152 บาท/ครัวเรือน
– มุกดาหาร 285,176 บาท/ครัวเรือน
– หนองบัวลำภู 260,061 บาท/ครัวเรือน
สาเหตุที่จังหวัดอำนาจเจริญมีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยต่อครัวเรือนมากที่สุดนั้น สะท้อนถึงเศรษฐกิจในจังหวัดที่ฟื้นตัวช้า ถึงแม้อำนาจเจริญจะมรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมากที่สุดในอีสาน แต่อย่างไรก็ตามรายได้ก็ยังไม่พอกับรายจ่าย ทำให้ครัวเรือนต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อทดแทนรายได้ที่หายไป
อีกทั้งภาคการเกษตรจะเป็นอาชีพหลักของคนในจังหวัด เนื่องด้วยสภาพอากาศที่ผันผวนและราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรต้องกู้เงินเพื่อลงทุนในฤดูกาลผลิต หรือเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
อ้างอิงจาก:
– สำนักงานสถิติแห่งชาติ
– ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #หนี้ #หนี้ครัวเรือน #หนี้ครัวเรือนอีสาน