“ร้อยเอ็ด” กู้มากกว่าออมที่สุดในประเทศ ตามมาด้วย “จังหวัดกลุ่มราชธานีเจริญศรีโสธร”
เงินฝากและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในแง่หนึ่ง เงินฝากช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเก็บออมเงินได้อย่างปลอดภัยพร้อมได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน ธนาคารสามารถนำเงินฝากเหล่านี้ไปปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจ ในปี 2567 ปริมาณเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในภาคอีสานอยู่ที่ 11.2 ล้านล้านบาท และภาคอื่นๆ ได้แก่ ภาคกลาง 45.1 ภาคเหนือ 10.2 และ ภาคใต้ 10.5 (หน่วย: ล้านล้านบาท)
สินเชื่อธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนและการบริโภคในทุกระดับ ทั้งบุคคล ธุรกิจขนาดเล็ก และธุรกิจขนาดใหญ่ การเข้าถึงสินเชื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายกิจการ จ้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สินเชื่อยังช่วยให้ประชาชนสามารถซื้อสินทรัพย์มูลค่าสูง เช่น บ้านและรถยนต์ ผ่านระบบผ่อนชำระ
ในปี 2567 แนวโน้มปริมาณสินเชื่อรายเดือนลดลงต่อเนื่องทุกเกือบตลอดทั้งปี จากความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์และสัดส่วนหนี้เสียที่ยังสูง และจะพบได้ว่าหลังจากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจาก 2.50% เป็น 2.25% ส่งผลให้ปริมาณสินเชื่อรายเดือนในช่วงสิ้นปีสูงปรับขึ้นเล็กน้อย โดยปริมาณสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในภาคอีสานรวมตลอดทั้งปีอยู่ที่ 11.6 ล้านล้านบาท
พาสำรวจเบิ่ง เงินฝากในอีสานกว่า 9.5 แสนล้านบาท แต่ละจังหวัดเพิ่มขึ้นมากแค่ไหนในช่วง 10 ปี
สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก: ตัวชี้วัดความสมดุลทางการเงิน
โดยจังหวัดที่มีปริมาณเงินฝากและสินเชื่อมากในอีสานโดยปกติแล้วก็เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีเงินสะพัดมากเช่น นครราชสีมา ที่มีเงินฝากและสินเชื่อเกือบ 20% ของทั้งหมดในอีสาน แต่หากพิจารณาถึง ‘ความสมดุล’ ระหว่างการฝากออมและการกู้เงิน ความสัมพันธ์ระหว่างเงินฝากและสินเชื่อสะท้อนถึงการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินที่เกิดขึ้นผ่านธนาคารพาณิชย์ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan to Deposit Ratio: LDR) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยวิเคราะห์ความสมดุลของการพัฒนาทางการเงินในแต่ละพื้นที่ คำนวณได้จาก สินเชื่อทั้งหมด หารด้วย เงินฝากทั้งหมด
โดยในปี 2567 ภาคอีสานมี LDR อยู่ที่ 103% และภาคอื่นๆได้แก่ ภาคกลาง 60% ภาคเหนือ 75% และภาคใต้ 83% ซึ่งจากภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วน LDR สูงที่สุดในประเทศ และยังเป็นภูมิภาคเดียวที่มีสัดส่วน LDR เกิน 100% (หากไม่รวมกรุงเทพฯ) ซึ่งสะท้อนว่า ภาคอีสานมีความต้องการสินเชื่อ ที่สูงกว่า การเก็บออม
จังหวัดที่มี LDR สูงเกิน 100%
หากมองลึกลงไปในระดับจังหวัดของภาคอีสาน พบว่า มี 11 จังหวัดในภาคอีสานที่มีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากสูงกว่า 100% ได้แก่:
- ร้อยเอ็ด (150%)
- บึงกาฬ (121%)
- อุบลราชธานี (119%)
- สกลนคร (115%)
- ขอนแก่น (114%)
- อำนาจเจริญ (112%)
- สุรินทร์ (109%)
- ยโสธร (108%)
- กาฬสินธุ์ (107%)
- ศรีสะเกษ (107%)
- มุกดาหาร (100%)
จากข้อมูลข้างต้น พบว่าทุกจังหวัดในกลุ่ม “ราชธานีเจริญศรีโสธร” ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร มี LDR สูงทุกจังหวัด นอกจากนี้ 3 ใน 4 จังหวัดของกลุ่ม “ร้อยแก่นสารสินธุ์” ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ก็ติดอันดับดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะร้อยเอ็ดที่มี LDR สูงที่สุดในภาคอีสานที่ 150% ซึ่งสูงที่สุดในประเทศและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน
การตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกลุ่มจังหวัดที่มี LDR สูงเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาต่อเกี่ยวกับปัจจัยเชิงพื้นที่ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการออมและการกู้ยืม อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม ทำให้การวิเคราะห์เชิงพฤติกรรมในระดับพื้นที่ภาคอีสานยังมีข้อจำกัด
LDR สูงหรือต่ำ ดีหรือไม่?
การที่พื้นที่หนึ่ง ๆ มี LDR สูงหรือต่ำไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีหรือแย่เสมอไป เนื่องจากการออมและการกู้ยืมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเงิน หาก LDR สูงมาก อาจสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธนาคาร หรือภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ในขณะที่ LDR ต่ำมาก อาจหมายถึงการออมสูงเกินไปเมื่อเทียบกับการลงทุน ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าเกินควร ดังนั้น การวิเคราะห์ LDR ในแต่ละพื้นที่จึงควรพิจารณาควบคู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของระบบการเงินได้อย่างถูกต้อง
หาได้ไม่พอจ่าย เเถมเสี่ยงส่งต่อหนี้เป็นมรดก เผยเหตุปัจจัยฉุดกําลังซื้อคนอีสานตํ่าสุดในประเทศ
พามาเบิ่ง🤐 💸หนี้ครัวเรือนอีสานปี 2566 สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ
หมายเหตุ: เป็นข้อมูลการเงินของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ไม่รวมสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ หรือนอกระบบ
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย