ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่จะเปลี่ยนภาพจำอีสานในแง่ลบ ให้กลับมาทรงพลังด้วย “Soft Power”

ถึงแม้จะอยู่ในยุคที่ทุกคนต่างเรียกร้องถึงความเท่าเทียม แต่กลับปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนบางกลุ่มที่มีพฤติกรรมย่ำยีเหยียดหยามโดยเฉพาะในเรื่องของชาติพันธ์ุอื่น ๆ อยู่ และมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีโดยเฉพาะกับคนอีสาน
.
สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยบางส่วนยังมีปมที่ฝังลึกในระดับจิตสำนึก และยังไม่เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดีพอ ทำให้มองคนไม่เท่ากัน จึงไม่เป็นไปตามแนวความคิดตามระบอบประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์
.
“ความม่วนซื่น” หรือความสนุกสนานนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนอีสานมาโดยตลอด หากมองย้อนกลับไปดูอุตสาหกรรมบันเทิงอีสานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าอีสานมีทรัพยากรที่เอื้ออำนวยในการสร้าง Soft power ที่ทรงพลังสามารถที่จะต่อยอดทัดเทียมกับต่างประเทศได้ในอนาคต
.
.
ก่อนอื่น หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า “Soft power” ที่เอ่ยถึงนั้นคืออะไร
.
มันเป็นการขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงความคิด การทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น โดยไม่ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) อย่างอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางการทหาร เพื่อบีบบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ต้องยอมปฏิบัติตามสิ่งที่เราต้องการ
.
ยกตัวอย่าง Soft power ของเกาหลีใต้ เช่น วงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ป อย่าง BTS และ BLACKPINK ที่ได้สร้างชื่อเสียงโด่งดัง สร้างอิทธิพลต่อคนทั่วทั้งโลก รวมไปถึงวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกิน มาตรฐานความงามต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาทหรือมีอิทธิพลในสังคมไทยเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน
.
จะเห็นว่าวัฒนธรรมต่าง ๆ หรือหลายสิ่งหลายอย่างที่มีผลต่อพฤติกรรมของเราในการดำเนินชีวิตแต่ละวันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการถูกบังคับแต่อย่างใด แต่เกิดจากพลังของเจ้า Soft power ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเรานั่นเอง
.
.
กลับมาดูอุตสาหกรรมบันเทิงอีสานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2563) ที่มีทั้งผลงานเพลง ละคร และภาพยนตร์ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานออกมาอย่างต่อเนื่อง ในหลาย ๆ เรื่องก็มีความโดดเด่นและได้รับความนิยมจนสามารถสร้างกระแส “อีสานฟีเวอร์” พร้อมกับกวาดรายได้เข้าสู่อุตสาหกรรมหลักร้อยล้านบาทเลยทีเดียว
.
ปี 2553 เพลงคิดฮอด เป็นการร่วมร้องของวงร็อคระดับประเทศ “Bodyslam” กับนักร้องหมอลำระดับตำนาน “ศิริพร อำไพพงษ์” ถือเป็นการก้าวข้ามความแตกต่างของช่วงวัย และวัฒนธรรม ให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นที่เดิมไม่ได้ฟังเพลงลูกทุ่งให้อยากที่จะได้ยิน ถือเป็นอีกหนึ่งขั้นของการพัฒนาเพลงลูกทุ่งอีสาน
.
ปี 2554 ภาพยนตร์ ปัญญา เรณู หนังรักวัยเด็ก ที่ถ่ายทอดชีวิตของเด็กอีสานได้อย่างเป็นธรรมชาติเป็นที่พูดถึงอย่างมากในหมู่คนดู ก้าวข้ามโปรดักชันอลังการให้เป็นการฉายภาพชีวิตปกติธรรมดาของคนอีสาน จนทำรายได้ถึง 12.82 ล้านบาท
.
ปี 2555 ภาพยนตร์ ปัญญา เรณู 2 ทำรายได้ถึง 19 ล้านบาท กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนมอง “หนังอีสาน” ด้วยสายตาที่แตกต่างไป ทั้งยังช่วยตอกย้ำความปังว่าเรื่องเล่าของคนอีสานสามารถเป็นเส้นเรื่องหลัก และเป็นหนังที่ดีและน่าสนใจได้
.
เพลง ขอใจเธอแลกเบอร์โทร ด้วยท่อนฮุก (Hook) ที่ติดหูอย่าง “ท่านกำลังเข้าสู่บริการรับฝากหัวใจ” ของหญิงลี ศรีจุมพล นักร้องชาวบุรีรัมย์ ที่โด่งดังลากยาวจนถึงช่วงปีใหม่และสงกรานต์ในปีถัดไป จนเป็นเพลงที่ถูกเปิดในทุกที่ ตั้งแต่ร้านส้มตำ ปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงสนามแข่งวอลเลย์บอลระดับนานาชาติ
.
ปี 2556 ภาพยนตร์ แหยม ยโสธร 3 เริ่มต้นจากกระแสภาพยนตร์อีสาน ม่วน ๆ ฮา ๆ “แหยม ยโสธร” ในปี 2548 ที่มีโทนสีจัดจ้านทั้งฉากและคอสตูมที่โดดเด่น ในปีนี้ถือเป็นภาคสุดท้ายของมหากาพย์ “แหยม” ที่ทำรายได้ไปกว่า 64 ล้านบาท
.
ปี 2557 ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ 1 ภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ฉายภาพอีสานร่วมสมัย เริ่มมีคนรู้จักจากปากต่อปาก จนโด่งดังไปนอกวงคนอีสาน หลังจากนั้นจึงมีภาค 2 และ 3 ตามมาในปี 2559 และ 2561
.
ปี 2558 ภาพยนตร์ รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendour) หนังที่ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์จำนวนมาก ทั้งยังเข้าชิงรางวัล Un Certain Regard Award ใน Cannes Film Festival แต่กลับไม่ได้เข้าฉายที่เมืองไทย

เพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน เพลงแจ้งเกิดของ ก้อง ห้วยไร่ ศิลปินอีสานรุ่นใหม่ที่ผสมแนวเพลงลูกทุ่งเข้ากับดนตรีสากลได้อย่างน่าสนใจ เป็นหนึ่งในเพลงที่คนนำไปประกวดร้องเพลงมากที่สุด และถูกนำไปดัดแปลงอีกหลายเวอร์ชัน
.
ปี 2559 เพลง ผู้สาวขาเลาะ ด้วยดนตรีขึ้นต้นที่ม่วนชวนให้ลุกขึ้นเต้น พร้อมกับเสียงร้องแหบแห้งเป็นเอกลักษณ์ ของ ลำไย ไหทองคำ ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว

เพลง คำแพง ของแซ็ค ชุมแพ ที่โด่งดังถล่มทลาย กลายเป็นเพลงที่ใครได้ยินแล้วต้องร้องตาม แม้คนนอกภาคอีสานจะฟังไม่เข้าใจก็ตาม ถือเป็นช่วงเข้าสู่ปีทองของ ‘อีสานฟีเวอร์’

ละคร นาคี และเพลง คู่คอง ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในแง่จำนวนคนดูและรางวัลที่ได้รับ กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ที่ทุกคนต้องพูดถึงเมื่อละครออกอากาศ เช่นเดียวกับ “คู่คอง” เพลงประกอบละครของเรื่องที่มียอดคนฟังในยูทูบถล่มทลาย ส่งให้ก้อง ห้วยไร่โด่งดังขึ้นอีก
.
ปี 2560 ภาพยนตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์, ทดเวลาบาดเจ็บ และสเตตัสถืกถิ่ม หนังที่รวมเอาความฮา ความโรแมนติก และเรื่องเศร้ารันทดสุดใจรวมไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อม พร้อมเพลงประกอบภาพยนตร์ “ทดเวลาบาดเจ็บ” และ “สเตตัสถืกถิ่ม” ที่มีคนตามมาฟังจำนวนมาก จนถูกนำไปร้องประกวดในหลายรายการ และยังได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27 สาขาเพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เพลง ทดเวลาบาดเจ็บ) ซึ่งเป็นผลงานจากค่ายขนาดเล็กที่ได้รับการจับตามองและถูกพูดถึงในวงกว้าง

ภาพยนตร์ ส่มภัคเสี่ยน หนังโรแมนติกคอมเมดี้อีสานที่ทำรายได้กว่า 74.9 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับสองรองจากเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง (108.1 ล้านบาท) ในปี 2560 ถือเป็นภาพยนตร์ที่มาถูกที่ทันเวลาในช่วงที่อีสานกำลังได้รับความนิยม

เพลง เต่างอย หลังจากปล่อยให้นักร้องอีสานรุ่นใหม่ปล่อยเพลงดังออกมาจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา จินตหรา พูนลาภ ก็ปล่อยเพลง “เต่างอย” ด้วยดนตรีสนุกสนานติดหู และท่าเต้นที่เต้นตามได้ง่าย กลายเป็นเพลงฮิตทั้งบ้านทั้งเมือง
.
ปี 2561 ภาพยนตร์ ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2 และ 2.2 กลับมาอีกครั้ง ก็ยังสร้างแรงกระเพื่อมในแวดวงภาพยนตร์ไทย ทั้งเนื้อหาและเพลงประกอบที่ได้รับความนิยม จนส่งผลให้ทำรายได้ตอน 2.2 ทั่วประเทศกว่า 115.26 ล้านบาท โดยทำเงินรวมกันทั้ง 3 ภาคมากกว่า 200 ล้านบาท และเข้าชิงรางวัลในสาขาภาพยนตร์อีกหลายรางวัล

ภาพยนตร์ นาคี 2 และเพลง สายแนนหัวใจ ที่พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ได้หยิบเอาตำนานมาเล่าต่อในภาคปัจจุบัน กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดกว่า 161.19 ล้านบาท ในปี 2561 และเพลง “สายแนนหัวใจ” ของก้อง ห้วยไร่ ก็มียอดคนฟังกว่า 179 ล้านวิว (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2564)

เพลง ห่อหมกฮวกไปฝากป้า เพลงเนื้อหาเรียบง่ายแต่สนุกสนาน กลายเป็นความม่วนที่ทุกผู้ทุกคนฟังแล้วสัมผัสได้ เล่นล้อไปกับดนตรีพิณแคนที่ไม่มีกั๊ก ทำให้เกิดเป็นรสชาติใหม่ของเพลงอีสานที่มีความสนุกสนานตามมา

เพลง Hello Mama เพลงจากวงอินดี้ Taitosmith ที่ผสมผสานภาษาอังกฤษเข้ากับเนื้อร้องอีสาน ด้วย เสียงพิณที่ผสมกับเสียงกรีดกีตาร์ในท่อนโซโล ทำให้เพลงนี้มีทั้งรสของข้าวเหนียวและกลิ่นของสากล
.
ปี 2562 ภาพยนตร์ หน้าฮ่าน หนังที่ว่าด้วยวัฒนธรรมอีสานอันหลากหลาย การปะทะกันระหว่างอีสานสมัยใหม่กับอีสานแบบดั้งเดิม และเรื่องราวของคนหนุ่มสาวที่รื่นรมย์กับการดิ้นหน้าเวทีหมอลำ
.
ปี 2563 ภาพยนตร์ ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ และเพลง โดดดิด่ง หลังจากโด่งดังจนถึงขีดสุด วง BNK48 แฟรนไชส์จากญี่ปุ่น ก็หันมาจับมือกับไทบ้านทำภาพยนตร์ “ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้” รวมถึงเพลง “โดดดิด่ง” ที่นำสมาชิกวง BNK48 มาร้องเพลงหมอลำได้ม่วนซื่น นับเป็นส่วนผสมใหม่ ๆ ของการผลิตภาพยนตร์ไทย
.
และเมื่อไม่นานมานี้ในปี 2564 ภาพยนตร์ “ร่างทรง” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเชื่อ วิถีชีวิตของอีสาน
ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ทั้งยัง ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ (OSCARS) ครั้งที่ 94 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
.
ดูจากไทม์ไลน์ผลงานของอุตสาหกรรมบันเทิงอีสาน เราจะเห็นว่ากลุ่มศิลปินรุ่นใหม่หันกลับมาให้ความสนใจความเป็นอีสานมากขึ้น และมีความภาคภูมิใจที่จะเล่าเรื่องอีสานผ่านเรื่องราว หรือน้ำเสียงที่หลากหลายรูปแบบโดยไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิม ๆ
.
ทั้งหมดนี้ำให้เห็นว่าภาคอีสานของเรานั้นมี Soft Power ที่หลากหลายและทรงพลัง สามารถยกระดับส่งออกสู่ต่างประเทศที่เป็นกระแส Viral Global ได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างสร้างสรรค์ พร้อมก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม ๆ ที่หลายครั้งนักเล่าเรื่องไม่กล้านำเสนอวิถีชีวิตของคนอีสาน เพราะกลัวว่าการเล่าหรือการส่งเสียงของตนเองอาจทำให้พวกเขาโดนเหยียดหรือดูถูกอย่างไม่ตั้งใจ
.
การเล่าเรื่องอีสานออกมาได้อย่างลึกซึ้งนั้น จะต้องมีความเข้าใจ ความจริงใจ และไม่ให้ข้อมูลด้านเดียวเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมกับให้เหตุผลที่อยากเล่าสิ่งนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนดู
.
จึงควรผลักดันให้นำ Soft Power ที่มีอยู่แล้วมาเป็นเครื่องมือในการสะท้อนภาพความเป็นอยู่ ระบบการศึกษา สาธารณูปโภคและบริโภคขั้นพื้นฐาน ให้เห็นถึงปัญหาและข้อจำกัดที่แท้จริง ว่าเหตุใดอีสานและภูมิภาคอื่น ๆ ยังไม่ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี
.
เมื่อเรามองเห็นปัญหาที่แท้จริง เราก็จะสามารถเข้าไปแก้ปัญหา ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น ให้คนได้เข้าใจที่มาที่ไป และเห็นคุณค่าของความเป็นอีสาน ลบภาพจำเก่า ๆ ที่เคยดูถูกเหยียดหยามคนอีสานออกไป
.
สุดท้ายแล้วหากเรามีทรัพยากรที่สามารถสร้าง Soft Power ที่ทรงพลังอยู่ในมือ แต่ไม่ได้การสนับสนุนอย่างชาญฉลาดจากผู้ที่มีอำนาจ ก็อาจเป็นเพียง Soft Power ที่ไร้พลัง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะสร้างและสนับสนุน ด้วยนโยบายที่สร้างสรรค์ เข้าใจ และใส่ใจในศิลปะ วัฒนธรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างชื่อเสียง และเม็ดเงินจำนวนมหาศาลได้ในอนาคต
.
.
อ้างอิง :
https://www.brandthink.me/content/whatissoftpower
https://www.cea.or.th/en/single-statistic/ISAN-FEVER
https://urbancreature.co/chantana-tiprachart/

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top