จากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2564 ภาคอีสานมีสัดส่วนนักดื่มมากถึง 32.3% ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากภาคเหนือ และมีสัดส่วนของนักดื่มหนักมากถึง 37.2% ซึ่งมีสัดส่วนมากเป็นอันดับที่ 2 เช่นกัน
สำหรับประเทศไทยพบปัญหาอัตราการสูบบุหรี่ในวัยรุ่น มีแนวโน้มลดลงแต่การดื่มสุรากลับเพิ่มขึ้น แล้วเคยรู้ไหมว่า คนอีสานเริ่มดื่มกันอายุเฉลี่ยเท่าไหร่?
เมื่อไปดูก็พบว่า ภาคอีสานของเรามีนักดื่มที่เริ่มดื่มอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 22.8 ปีเท่านั้น ถือว่ามีอายุเฉลี่ยต่ำที่สุดในประเทศ
วัยรุ่นถือเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ วิถีชีวิต และความเป็นอิสระที่เพิ่มมากขึ้น จึงอาจมีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัยรุ่น
วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง ซึ่งมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสมองของวัยรุ่นในช่วงอายุ 20 ปี ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาของสมองนี้อาจช่วยอธิบายพฤติกรรมบางอย่างของวัยรุ่นได้ เช่น มีแนวโน้มที่จะต้องการพบเจอกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่อาจเป็นอันตราย อย่างการเลือกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ภาคอีสานโดยทั่วไปมีวัฒนธรรมการดื่มที่ผูกพันกับวิถีชีวิตและสังคมมาอย่างยาวนาน การดื่มมักเป็นส่วนหนึ่งของการพบปะสังสรรค์ ทั้งงานบุญเทศกาล งานรื่นเริง มักจะมีรถแห่ หมอลำ ที่เป็นจุดเด่นและสร้างความบันเทิงในทุกงาน ซึ่งงานบุญและเทศกาลเหล่านี้ ทั้งวัยรุ่นและประชาชนทั่วไปในชุมชนที่ศึกษามีความนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้วัยรุ่นมีการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย และดื่มในปริมาณที่มากขึ้นตามมา
ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งวัยรุ่นหญิงและชาย โดยวัยรุ่นตอนปลายจะมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็น 70% ของวัยรุ่นวัยเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดื่มในเทศกาลต่างๆ
ผลจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่นในชุมชนนั้นพบปัญหาการหนีเรียนในบางครั้ง แอบพกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาดื่มหลังโรงเรียน มีการรวมกลุ่มกันที่บ้านเพื่อนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน
ช่วงงานวันเกิด หรือหลังมีงานกิจกรรมของโรงเรียน หลังงานกีฬา กลับบ้านหลังเที่ยงคืนทำให้ผู้ปกครองต้องเป็นห่วง พบว่า วัยรุ่นที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการสูบบุหรี่ร่วมด้วยเป็นบางราย มีการทะเลาะวิวาทกับวัยรุ่นหมู่บ้านใกล้เคียง ช่วงเทศกาลที่มีหมอลำทุกงาน นอกจากนี้ผลการเรียนของ นักเรียนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มที่ลดลง
อ้างอิงจาก:
– BrandThink
– Hello Health
– วารสารการพยาบาลและการดูแลสุขภาพ เรื่อง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่นชุมชนเขตชานเมืองจังหวัดแห่งหนึ่ง
ในภาคอีสานของประเทศไทย
– ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)
– สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อีสานอินไซต์ #Business #ธุรกิจ #ธุรกิจอีสาน #นักดื่ม #สุราก้าวหน้า #เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ #นักดื่ม #ดื่มหนัก