เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.67 มีเหตุการณ์น่าเศร้า ซึ่งเกิดเหตุการณ์เครื่องบินไถลออกออกนอกรันเวย์ก่อนชนเข้ากับรั้วที่สนามบินมูอัน ที่ประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากขณะจะลงจอดล้อของเครื่องบินไม่กางออกทำให้ตัวเครื่องบินไถลไปตามรันเวย์ เครื่องบินไฟไหม้ มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยยังพบว่ามีผู้โดยสารคนไทยเดินทางกลับจากสายการบินดังกล่าวจำนวน 2 ราย
“สนามบินนานาชาติมูอัน” ในจังหวัดชอลลาใต้ สนามบินที่เป็นประตูสู่ภาคใต้ของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะคนที่จะเดินทางไปเที่ยวเมืองมกโพ และยอซู เมืองเด่นๆ ในแถบภาคใต้ของเกาหลีใต้
โดยท่าอากาศยานนานาชาติมูอันของเกาหลีใต้ มีความยาวรันเวย์ 2,800 เมตร ขณะที่สนามบินทั้ง 8 แห่งของภาคอีสาน
มี 4 สนามบินที่ยาวกว่ามูอัน ได้แก่
– ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี มีความยาว 3,048 เมตร
– ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น มีความยาว 3,050 เมตร
– ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี มีความยาว 3,000 เมตร
– ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ มีความยาว 3,000 เมตร
และอีก 4 สนามบินที่สั้นกว่ามูอัน ได้แก่
– ท่าอากาศยานนครพนม มีความยาว 2,500 เมตร
– ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด มีความยาว 2,500 เมตร
– ท่าอากาศยานสกลนคร มีความยาว 2,600 เมตร
– ท่าอากาศยานเลย มีความยาว 2,100 เมตร
อย่างไรก็ตาม ทางการได้ปฏิเสธว่ารันเวย์ที่สั้นของสนามบินมูอันไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว โดยบอกว่าความยาวของรันเวย์ 2,800 เมตรนั้นสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใกล้เคียงกับลำที่เกิดเหตุได้อย่างไม่มีปัญหา อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความยาวของรันเวย์
ในส่วนของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารของสนามทั้ง 8 แห่งในภาคอีสานนั้น จะเห็นได้ว่าทั้งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เยอะจะกระจุกตัวอยู่ 3 สนามบินหลักของภาคอีสาน อย่างท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี, ท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น และท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารตลอดทั้งปี 2567 หลักล้านคนเลยทีเดียว
ทำไมท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ถึงมีจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินมากที่สุด?
เนื่องจากอุดรธานีตั้งอยู่ใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างจังหวัดหนองคาย และตั้งอยู่ใกล้เวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว โดยอยู่ห่างเพียง 50 กิโลเมตร ทำให้มีผู้โดยสารทั้งลาวและจีนมาใช้บริการ อีกทั้งยังมีเที่ยวบินในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก สามารถเลือกเวลาการเดินทางได้ แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายถูกกว่าที่จะใช้บริการสนามบินนานาชาติวัตไต ที่กรุงเวียงจันทน์
และยังมีปัจจัยเสริมที่สำคัญคือ มีคนจีนส่วนหนึ่งที่เดินทางมากับรถไฟจีน-ลาว มาถึงลาวแล้วต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจที่กรุงเทพฯหรือพื้นที่ภาคตะวันออก ก็จะมาใช้บริการ อีกส่วนที่เป็นชาวลาวที่เดินทางข้ามแม่น้ำโขงมาใช้บริการด้วย สังเกตได้จากป้ายทะเบียนรถยนต์ที่จอดค้างคืนที่สนามบินอุดรธานี
โดยท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนของภูมิภาคและประเทศไทย
อ้างอิงจาก:
– MGR Online
– Matichon
– กรมท่าอากาศยาน
– Thailand Convention & Exhibition Bureau
– ฐานเศรษฐกิจ
ติดตาม ISAN Insight & Outlook ทุกช่องทางได้ที่
https://linktr.ee/isan.insight
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #ISAN #อีสานอินไซต์ #Business #Economy #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ธุรกิจอีสาน #เศรษฐกิจอีสาน #สนามบิน #สนามบินในอีสาน #สนามบินอีสาน #ท่าอากาศยาน #สนามบินมูอัน #สนามบินนานาชาติมูอัน #เจจูแอร์