พามาเบิ่ง🇻🇳ทำไมเวียดนามถึงน่าลงทุนในมุมมองของต่างชาติ

ISAN Insight สิพามาเบิ่ง ทำไมเวียดนามถึงน่าลงทุนในมุมมองของต่างชาติ

 

.

ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้นมีหลายข้อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ดี เสถียรภาพทางการเมือง การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนของกำลังแรงงาน จำนวน FTA ที่มี 16 ฉบับครอบคลุมมากถึง 56 ประเทศ อีกทั้งช่องว่างของโอกาสทางธุรกิจที่ผ่านการวางรากฐานที่ดีและพร้อมที่จะเติบโตในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนจากต่างชาติมองเห็นโอกาสที่เวียดนามจะสามารถเติบโตขึ้นได้อีก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนสนับสนุนให้เวียดนามสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศได้มาก

 

ประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเวียดนาม นับว่าเริ่มมีบทบาทโดดเด่นขึ้นมากจากอดีต จากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในปีค.ศ. 1986 ที่เปลี่ยนผันจากประเทศที่มีการพึ่งพารายได้จากภาคการเกษตร กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่สูง อีกทั้งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และปัจจัยสนับสนุนอื่นๆอีกมากมาย ยังช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเวียดนาม มีอัตราการเติบโตที่สูงเฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทยช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง 

รูปภาพ 1 : แสดงถึงอัตราการเติบโตของ GDP ในเวียดนามรายไตรมาส

ที่มา : Trading Economics

.

ภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนาม

อัตราการเติบโตของ GDP เวียดนามในไตรมาส 3 ของปีปัจจุบัน มีอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 2 ปี โดยอยู่ที่ 7.4% โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก ซึ่ง GDP ของเวียดนามในอดีตเคยน้อยกว่าไทยถึง 3 เท่า แต่ในปัจจุบัน GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้นจนกระทั่งเทียบเท่ากับ 85% ของ GDP ไทย บ่งบอกถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ที่เริ่มไล่ตามหลังไทยมาอย่างต่อเนื่อง 

รูปภาพ 2 : แสดงถึงมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ

ที่มา : Food and Agriculture Organization of the United Nation

 

.

การลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนาม

เมื่อมองในภาพรวมจะเห็นว่ามูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ อีกทั้งข้อได้เปรียบในด้าน FTA ของเวียดนามที่มีจำนวนมากและผ่านการวางรากฐานการพัฒนามาอย่างดี ยิ่งช่วยส่งเสริมให้การลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในเวียดนามมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีทั้งการลงทุนและร่วมทุนในเวียดนาม โดยมีบริษัทมากถึง 116 บริษัทไทยที่ได้เข้าไปลงทุน อีกทั้งภายในปีหน้าเวียดนามก็มีโอกาสที่จะได้เข้า FTSE ซึ่งสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้นไปอีกขั้น

 

.

การผลักดันเศรษฐกิจเวียดนามจากภาคอุตสาหกรรม

ภายหลังจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของเวียดนามที่ออกจากกรอบการพึ่งพารายได้จากภาคเกษตรกรรมที่สูง โดยสนับสนุนให้ประเทศมีการขยายตัวและมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งต้นทุนที่ถูกและแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ยังช่วยผลักดันให้ต่างชาติสนใจลงทุนในเวียดนามมากขึ้นอีกด้วย

 

.

การลงทุนจากไทยประเทศไทย

ข้อมูลในปี 2561 พบว่ามีบริษัทในประเทศไทยมากถึง 116 บริษัทที่มีการลงทุนและร่วมทุนในประเทศเวียดนาม โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต 59 บริษัท  กลุ่มการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรประมง 18 บริษัท และกลุ่มธุรกิจบริการ 39 บริษัท โดยมีบริษัทใหญ่ๆอย่าง SCG PTT และ CPall ที่ได้ลงทุนในเวียดนามอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีธุรกิจชื่อดังในไทยอย่าง Central Retail ที่ได้เข้าไปวางรากฐานของตลาดการค้าแบบโมเดิร์นเทรดในเวียดนาม จากความเป็นไปได้ในการเติบโตของตลาดที่ในสามารถขยายตัวได้อีกมาก

 

.

ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง

เมื่อเปรียบเทียบกับไทยในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีความคล้ายคลึงกันกับเวียดนามในปัจจุบัน 

.

เศรษฐกิจของเวียดนามในปัจจุบันที่กำลังเป็นดาวรุ่ง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับไทยในยุครุ่งเรือง หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสงสัยว่า เวียดนามจะสะดุดขาตัวเองเหมือนอย่างที่ไทยเคยเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้งหรือไม่ ซึ่งปัจจัยที่ควรเฝ้าระวังสำหรับเวียดนามมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางภาษีจากสหรัฐฯ ที่มีโอกาสสร้างผลกระทบต่อประเทศเวียดนามด้านต้นทุนการส่งออกได้ เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่เกินดุลสหรัฐฯเป็นอันดับที่ 3 รองจากจีนและเม็กซิโก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่มีราคาที่ค่อนข้างสูงและด้วยความร้อนแรงของเศรษฐกิจทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามจะกลายเป็นฟองสบู่หรือไม่ 

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, Trading economics, Food and Agriculture Organization of the United Nation

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top