ยโสธรเมืองพญาแถน แดนบั้งไฟ ผลักดันเทศกาลไทย ไปนานาชาติ

ยโสธร จังหวัดที่ถือได้ว่าได้กลายเป็น “ภาพจำแห่งวิถีชีวิตอีสาน” ในสายตาคนทั่วไป ซึ่งหากพูดถึงยโสธร หลายคนคงนึกถึงนากว้างใหญ่เขียวขจีและวัฒนธรรมอีสานดั้งเดิม ซึ่งได้ถูกสะท้อนออกมาจากภาพยนต์ไทยระดับตำนานอย่าง “แหยม ยโสธร” จนกลายเป็นภาพจำ โดยบทความนี้ อีสาน อินไซต์ สิพามาสำรวจถึง เศรษฐกิจ สังคม และประเด็นที่น่าสนใจว่า “บั้งไฟเมืองยโส” ถึงได้ดังไกลระดับนานาชาติจริงหรือ?

 

  1. จังหวัดยโสธร เป็นจังหวัดเล็กๆอยู่ในอีสานตอนกลาง มีเนื้อที่ 4,161.664 ไร่ หรือ 2,601,040.0 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 17 ของภาค ประกอบด้วย 9 อำเภอ 78 ตำบล และ 885 หมู่บ้าน ซึ่งลักษณะพื้นที่ของจังหวัดจะมีลักษณะโดดเด่นคล้ายกับรูปพระจันทร์เสี้ยว โดยยโสธรมีอาณาเขตติดกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
  • ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดร้อยเอ็ดและมุกดาหาร
  • ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานี
  • ทิศใต้ ติดกับจังหวัดศรีสะเกษ
  • ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดร้อยเอ็ด

ที่มารูปภาพ:https://www2.yasothon.go.th/general-information/

 

ด้านประชากร ในปี 2566 จังหวัดยโสธรมีประชากรประมาณ 528,878 คน ซึ่งประชากรในจังหวัดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกๆปี และมีประชากรผู้สูงอายุ 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งปัญหาด้านการลดลงของประชากรและสังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับจังหวัดยโสธร

  1. ในด้านเศรษฐกิจ จังหวัดยโสธรมีมูลค่าผลิตมวลรวมจังหวัด (GPP) ปี 2565 เท่ากับ 32,468 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจที่ไม่ใหญ่มาก อยู่ที่อันดับ 16 ของภาค มีรายได้ต่อหัวของคนในจังหวัดเท่ากับ 72,523 บาท โดยมีมูลค่าและสัดส่วนภาคเศรษฐกิจหลักๆ ดังนี้
  • สาขาเกษตรกรรม 8,218 ล้านบาท (25%)
  • สาขาการศึกษา 4,654 ล้านบาท (14%)
  • สาขาการผลิตอุตสาหกรรม 4,381 ล้านบาท (13%)
  • สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์และจักรยานยนต์ 3,588 ล้านบาท (11%)

 

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจังหวัดยโสธรพึ่งพาการทำการเกษตรเป็นหลัก โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 1,824,765 ไร่ หรือประมาณ 70% ของพื้นที่จังหวัด โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ซึ่งมีพื้นที่นาข้าวเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของพื้นที่จังหวัด โดยปี 2566 มีผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังรวมกันกว่า 622,232 ตัน พืชเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน เป็นต้น ในด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ยโสธร มีการเลี้ยง โคเนื้อ กระบือ สุกร ไก่ เป็ดและแพะ เป็นต้น โดยในปี 2565 เกษตรกรมีการเลี้ยง โคเนื้อ ที่เพิ่มขึ้นกว่า 52% เนื่องจากสิ้นสุดช่วงโควิด และตลาดโคเนื้อ มีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศ 

 

ด้านธุรกิจ ในปี 2566 จังหวัดยโสธรมีจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยรวม 20,675 ราย และรายใหญ่ 20 ราย โดยมีจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในปี 2567 ทั้งสิ้น 1,862 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2566 5.32% มีรายได้ของนิติบุคคลที่ส่งงบการเงินทั้งสิ้น 28,866 ล้านบาท โดยตัวอย่างธุรกิจใหญ่ในจังหวัดยโสธร ที่มีรายได้รวมมากกว่าพันล้านในปี 2566 ได้แก่

 

  • บริษัท แคทวัน ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด : ประเภทธุรกิจ 47190 การขายปลีกสินค้าอื่นๆในร้านค้าทั่วไป มีรายได้รวม 1,635,539,904 บาท
  • บริษัท บิ๊กแคท มาร์ท จำกัด : ประเภทธุรกิจ 46319 การขายส่งผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น มีรายได้รวม 1,335,577,713 บาท
  1. การท่องเที่ยวของยโสธรมีความโดดเด่นในเรื่องวัฒนธธรรมและวิถีชีวิต ซึ่งหากพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดยโสธร ที่แรกที่หลายคนคงจะนึกถึงก็คือ “อุทยานสวรรค์วิมานพญาแถน” ตั้งอยู่ถนนแจ้งสนิท บริเวณอ่างเก็บน้ำลำทวน อ.เมืองยโสธร เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ก่อตั้งขึ้นมาจากความเชื่อความศรัทธาของชาวยโส ที่มีต่อ “พญาแถน” เทวดาที่ชาวอีสานนับถือ เชื่อว่าพญาแถนมีอิทธิพลต่อ ฝน ฟ้า ลม การบูชาพญาแถนจึงเป็นการแสดงความเคารพและขอพรให้ฝนตกตามฤดูกาลเพื่อทำการเกษตร ผ่านการจุดบั้งไฟ โดยบริเวณวิมานพญาแถนเป็นที่ตั้งของ “พญาคันคาก” อาคารรูปคางคกขนาดยักษ์ที่สูงกว่า 19 เมตร ดูโดดเด่นดึงดูดทุกสายตา งภายในตัวพญาคันคากเป็นอาคารประกอบด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการจำนวน 4 ชั้น โดยพญาคันคากหรือพญาคางคกมีที่มาจากเรื่องราวตำนานพระพุทธศาสนาและพญาแถน กลายเป็นต้นแบบของอาคารรูปคางคกของยโสธรแห่งนี้

null

ที่มารูปภาพ: https://thai.tourismthailand.org

 

นอกจากนั้นหากใครไปจังหวัดยโสธร ก็อย่าพลาดที่จะแวะไปสักการะ “วัดมหาธาตุ” วัดคู่บ้านคู่เมืองยโสธรมาตั้งแต่แรกสร้างเมือง ซึ่งมีโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาภายในวัด เช่น พระพุทธบุษยรัตน์ เป็นพระบูชาคู่บ้านคู่เมือง และ พระธาตุอานนท์ พระธาตุเก่าแก่แห่งอีสานซึ่งภายในบรรจุออัฐิธาตุของพระอานนท์

 

  1. ประเพณีบุญบั้งไฟเมืองยโส ไปไกลระดับนานาชาติ

ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่มีการจัดทั่วพื้นที่ภาคอีสาน มีจุดประสงค์เพื่อบูชาขอฝนจากพญาแถนตามความเชื่อของชาวอีสาน ซึ่งหากหลายคนที่ไม่ใช่คนอีสานเมื่อนึกถึงบั้งไฟ ต้องคิดถึงจังหวัดยโสธรเป็นจังหวัดแรกๆอย่างแน่นอน โดยยโสธร เป็นจังหวัดที่มีบุญบั้งไฟยิ่งใหญ่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด ดั่งในคำขวัญจังหวัดว่า “เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ” บุญบั้งไฟเมืองยโสจัดขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคมในทุกปี ซึ่งเป็นการขอฝนช่วงก่อนการดำนาปลูกข้าว ความยิ่งใหญ่ของบุญบั้งไฟยโสธรที่เป็นเอกลักษณ์คือ ขบวนแห่บั้งไฟ อันยิ่งใหญ่ที่มีทั้งบั้งไฟสวยงาม นางรำเซิ้งบั้งไฟ รถแห่คอนเสิร์ตแสงสีเสียง มีการแข่งขันจุดบั้งไฟ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วอีสานและประเทศเดินทางเข้ามาร่วมงาน โดยเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ ยโสธรมีตำนวนผู้เยี่ยมเยือนประมาณ 64,000 คน แม้จะดูไม่มาก แต่หากเทียบกับเดือนเมษายนจะพบว่ามีการเพิ่มขึ้นกว่า 21% บ่งบอกถึงประเพณีสำคัญของยโสธรนี้ยังคงเป็นสิ่งที่กระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดให้วูบวาบขึ้นมาได้ นอกจากที่ประเพณีจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยแล้ว ยังเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคีและความภูมิใจที่มีต่อวัฒนธรรมของชาวเมืองยโสธร

ที่มารูปภาพ:https://yst-pao.go.th/public/list/data/showdetail/id/1672/menu/1619

 

หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ว่าประเพณีบุญบั้งไฟของยโสธรดังไกลระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองชิชิบุ จังหวัดไซตะมะ ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากที่เมืองชิชิบุก็มีประเพณีบุญบั้งไฟเหมือนกัน? ซึ่งเป็นเทศกาลที่ชื่อว่า “เทศกาลริวเซ” โดยเป็นการจุดจรวดดอกไม้ไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเช่นเดียวกับบั้งไฟ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างเมืองยโสธร กับ เมืองชิชิบุ เป็นระยะเวลากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งในประเพณีบุญบั้งไฟยโสธรปี 2567 นี้ ก็มีการเชิญประเทศอื่นๆมาเข้าร่วมกว่า 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน กัมพูชา ลาว เวียดนาม และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการผลักดันวัฒนธรรมของจังหวัดสู่ระดับนานาชาติ

 

ยโสธรถือได้ว่าเป็นจังหวัดเล็กๆแห่งอีสาน ที่ไม่ได้มีเศรษฐกิจที่ใหญ่อะไรมากมาย แต่สามารถเชิดชูประเพณีวัฒธรรมท้องถิ่นให้มีความโดดเด่นและเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง หวังว่าการพัฒนาจังหวัดจะทำให้เศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ที่ดีของคน พุ่งไกลดังเช่น “บั้งไฟเมืองยโส” 

 

อ้างอิงจาก:

  • สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
  • เว็บไซต์จังหวัดยโสธร
  • VisitYasothon
  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
  • มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • Namjai Blog Portal
  • สยามรัฐ

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top