ทศวรรษแห่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจขอนแก่นและการทิ้งห่างของเศรษฐกิจโคราช
หากพูดถึงจังหวัดใหญ่ๆ ในภาคอีสาน แน่นอนว่าทุกคนต้องนึกถึง ‘นครราชสีมา’ และ ‘ขอนแก่น’ 2 ยักษ์ใหญ่แห่งอีสาน ที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด(GPP) สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เศรษฐกิจของทั้ง 2 จังหวัดเรียกได้ว่าตีคู่กันมาตลอด 30 ปี ซึ่งด้วยความที่นครราชสีมาเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม มีประชากรและพื้นที่มากกว่าขอนแก่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นครราชสีมาจะมีขนาดเศรษฐกิจที่มากกว่าขอนแก่นอยู่ระดับหนึ่ง โดยปี 2565 นครราชสีมามี GPP เท่ากับ 335,472 ล้านบาท และฝั่งขอนแก่น เท่ากับ 216,367 ล้านบาท
เมื่อมามองที่ค่าผลต่างระหว่างมูลค่าของ GPP ทั้ง 2 จังหวัด (GPP นครราชสีมา ลบ GPP ขอนแก่น) ตั้งแต่ปี 2538 จนถึง ปี 2565 ที่แสดงในกราฟที่ 1 จะพบจุดสังเกตุสำคัญคือมูลค่าความต่างของGPP นครราชสีมาที่มากกว่าขอนแก่น เริ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะตั้งแต่ช่วงปี 2556 เป็นต้นมา
และหากนำ GPP ของทั้ง 2 จังหวัดตลอด 27 ปีนี้มาเปรียบเทียบดูเทรนด์โดยใช้กราฟเส้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 เส้นมีลักษณะ ‘บาน’ ออกจากกันมากในช่วงประมาณ 10 ปีหลัง และหากมองอย่างเจาะจงมากกว่านั้น จะเห็นว่า GPP ของนครราชสีมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปกติ แต่ที่ทำให้เส้น GPP ทั้งสองมีลักษณะ ‘บาน’ ออกจากกันหรือทิ้งห่างกันมากขึ้น คือ GPP ของขอนแก่น ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง
นอกเหนือจากนั้น หากมาดูที่ค่าเฉลี่ยการเติบโตของ GPP 4 จังหวัด Big 4 อีสานตลอด 20 ปี โดยแบ่งช่วงเป็น 10 ปีแรก 2546 – 2555 และ 10 ปีหลัง 2556 – 2565 จะพบว่า ช่วง 10 ปีแรก GPP ขอนแก่นเติบโตเฉลี่ย 10% นครราชสีมา อุดรธานี และอุบลราชธานี เติบโตเฉลี่ยประมาณ 9% ซึ่งในช่วง 10 ปีหลัง ทั้ง 4 จังหวัดมีการเติบโตเฉลี่ยที่ลดลง ผลจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งประเทศหดตัว แต่หากเปรียบเทียบระหว่าง 4 จังหวัดกลับพบว่า ขอนแก่น มีการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยที่ต่ำกว่าอีก 3 จังหวัด ทั้งที่ช่วงแรกมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า
โดยจุดที่ชัดเจนที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจขอนแก่น คือ รายได้ต่อหัวของคนในจังหวัดที่ลดลง จากกราฟที่ 4 จะเห็นได้ว่าก่อนช่วงโควิด-19 รายได้ต่อหัวของขอนแก่นสูงกว่านครราชสีมามาตลอด กระทั่งเข้าสู่ช่วงโควิดในปี 2563 รายได้ต่อหัวของนครราชสีมาเพิ่มขึ้นมาแซงขอนแก่นแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีก
ทำไมเศรษฐกิจขอนแก่นจึงชะลอตัว?
Isan Insight & Outlook จะพามาวิเคราะห์ดูในเนื้อหาต่อจากนี้
ภาคอุตสาหกรรมหดตัว ตลอด 10 ปี
หากมาดูที่พลวัตโครงสร้างเศรษฐกิจของขอนแก่นตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาจะพบว่ามูลค่าภาคอุตสาหกรรมของขอนแก่นมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณช่วงปี 2546 ถึง 2555 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 13% ซึ่งในปี 2550 ภาคอุตสาหกรรมขอนแก่นมีสัดส่วน 40% ของ GDP แต่หากมามองในช่วงทศวรรษล่าสุด ภาคอุตสาหกรรมของขอนแก่น เรียกได้ว่าหดตัวด้วยอัตราการเติบโต -0.3% โดยจะเห็นได้ชัดในกราฟที่ 5 ช่วงปี 2556 – 2565 มูลภาคอุตสาหกรรมของขอนแก่นแทบจะไม่เติบโตขึ้นเลย ปัจจัยบางส่วนเป็นผลจากจากการทำเหมือง (Mining and quarrying) ที่มีมูลค่าลดลงอย่างมาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านทรัพยากรและข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน และก็พบอีกว่าขอนแก่นมีสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมลดลงเหลือ 34% ของ GPP โดยภาคเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นมาคือภาคบริการที่มีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนจาก 49% ในปี2550 เป็น 56% ในปี 2565
ซึ่งหากมองเปรียบเทียบกับนครราชสีมาจะพบว่า พลวัตของสัดส่วนค่อนข้างที่จะตรงข้ามกับขอนแก่น เมื่อเทียบระหว่างปี 2550 และ 2565 คือ สัดส่วนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 36% และสัดส่วนภาคบริการลดลงจาก 52% เป็น 50% จากภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของนครราชสีมา ส่งผลดีต่อการจ้างงาน รายได้ และธุรกิจในจังหวัด เศรษฐกิจจังหวัดจึงฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้เร็วกว่าขอนแก่น และส่งผลให้รายได้ต่อหัวของคนในจังหวัดพุ่งแซงขอนแก่นเป็นอันดับ 1 ของภาคอีสานในที่สุด
จากการวิเคราะห์มาถึง ณ จุดนี้ สามารถสรุปได้คร่าวๆว่า การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมขอนแก่น เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดชะลอตัว โดยแน่นอนว่ายังคงมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของขอนแก่นที่ยังคงต้องทำการศึกษาต่อไป
ทำไมจังหวัดในภาคอีสาน ถึงมี GPP per Capita อยู่ท้ายตารางเรื่อยมา
ที่มา
- สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม