อุบลราชธานี ยืนหนึ่งเรื่อง ‘ปลานิล’ แห่งอีสาน จากแหล่งน้ำที่ดี สู่ฟาร์มประมงคุณภาพสูง

ในขณะที่จังหวัดขอนแก่นครองตำแหน่งผู้นำด้านจำนวนฟาร์มเลี้ยงปลานิลในภาคอีสาน ด้วยจำนวนฟาร์มนับหมื่น แต่เมื่อมองลึกลงไปในแง่ของผลผลิต กลับกลายเป็นว่า อุบลราชธานี ต่างหากที่ขึ้นแท่นเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตปลานิลมากที่สุดในภูมิภาคนี้

 

ปี 2566 จังหวัดอุบลราชธานีมีจำนวนฟาร์มเลี้ยงปลานิลเพียง 8,820 แห่ง คิดเป็นลำดับที่ 13 ของภาค แต่กลับผลิตได้มากถึง 10,744 ตัน หรือ คิดเป็น 15% ของทั้งภาคอีสาน สร้างมูลค่าสูงถึง 644 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความโดดเด่นที่ไม่อาจมองข้ามได้

 

ฟาร์มน้อย…แต่ผลิตได้มาก เพราะอะไร?

เบื้องหลังตัวเลขอันน่าทึ่งนี้ สะท้อนถึงความจริงข้อหนึ่งที่มักถูกมองข้ามในวงการเกษตรน้ำจืด  “จำนวนฟาร์มไม่ได้สะท้อนศักยภาพการผลิตเสมอไป” เพราะปริมาณนั้นอาจน้อยกว่า แต่คุณภาพของระบบเลี้ยงต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ

 

ภูมิประเทศของอุบลราชธานีเอื้ออำนวยอย่างยิ่งต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลานิล เพราะเป็นพื้นที่ “ปลายน้ำ” ของแม่แม่น้ำสำคัญของภาคอีสานไหลผ่านหลายสาย ทั้งแม่น้ำโขง ชี และมูล รวมไปถึงลำน้ำสายย่อยอีกมากมาย ทำให้มีแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมากและคุณภาพน้ำดีเหมาะแก่การเลี้ยงปลาในกระชัง

 

และนี่คือหัวใจสำคัญ  อุบลราชธานีมีการเลี้ยงปลานิลในกระชังมากที่สุดในอีสาน ด้วยจำนวน 493 ฟาร์ม ซึ่งระบบกระชังในแหล่งน้ำไหลผ่านเหล่านี้ ช่วยให้ปลานิลมีสุขภาพแข็งแรง โตไว เนื้อแน่น รสชาติดี และได้ราคาสูงกว่าการเลี้ยงในบ่อ

 

แหล่งผลิตหลักอยู่ที่ไหน?

หากมองลึกลงไปในระดับพื้นที่ พบว่าอำเภอที่มีฟาร์มเลี้ยงปลานิลมากที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอเดชอุดม อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอนาจะหลวย

พื้นที่เหล่านี้ล้วนมีลำน้ำสายย่อยจำนวนมากเชื่อมกับแม่น้ำหลัก ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันยังมีการรวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

 

รายได้เฉลี่ยต่อฟาร์มสูงกว่าจังหวัดอื่น

แม้จำนวนฟาร์มปลานิลจะไม่มากเท่าจังหวัดอื่น แต่ รายได้เฉลี่ยต่อฟาร์มของเกษตรกรในอุบลฯ กลับสูงถึง 73,043 บาท/ฟาร์ม แสดงให้เห็นว่าระบบการเลี้ยงมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงกับตลาดได้ดี

 

ในส่วนของการเลี้ยงปลานิลในกระชังเพียงอย่างเดียว ยังสร้างมูลค่าถึง 517 ล้านบาท จากทั้งหมด 644 ล้านบาท หรือมากกว่า 80% ของมูลค่ารวมจากปลานิลทั้งจังหวัด

 

ปริมาณและมูลค่าผลผลิตสัตว์น้ำจืด

นอกจากปลานิลอุบลฯ จะยืนหนึ่งในอีสานแล้วนั้น การเลี้ยงสัตว์น้ำจืดชนิดอื่นๆ ก็มีการเลี้ยงมากและสร้างมูลค่ามากเช่นเดียวกัน โดยอุบลฯ ,uปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำจืดรวมทั้งสิ้น 13,474 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2.93 ของปริมาณผลผลิตทั้งประเทศ

มูลค่าผลผลิตรวมทั้งสิ้น 814,052 พันบาทผลผลิตส่วนใหญ่มาจากการเลี้ยงในกระชัง ซึ่งมีปริมาณ 8,883 ตัน และมูลค่า 532,589 พันบาท

ชนิดสัตว์น้ำจืดที่ผลิตได้และมูลค่า (บางส่วน):

  • ปลานิล: ปริมาณ 10,744 ตัน มูลค่า 644,236 พันบาท 
  • ปลาดุก: ปริมาณ 1,604 ตัน มูลค่า 89,544 พันบาท 
  • กุ้งก้ามกราม: ปริมาณ 6 ตัน มูลค่า 1,438 พันบาท 
  • ปลาตะเพียน: ปริมาณ 729 ตัน มูลค่า 45,990 พันบาท
  • ปลาสวาย: ปริมาณ 35 ตัน มูลค่า 1,540 พันบาท
  • ปลาสลิด: ปริมาณ 3 ตัน มูลค่า 273 พันบาท 
  • ปลากด: ปริมาณ 92 ตัน มูลค่า 11,538 พันบาท 
  • กบ: ปริมาณ 13 ตัน มูลค่า 1,079 พันบาท 
  • ปลาช่อน: ปริมาณ 44 ตัน มูลค่า 3,610 พันบาท

 

ไม่ใช่แค่ปลา…แต่คือระบบที่ทำงานร่วมกัน

ความสำเร็จของอุบลราชธานีไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลจากการวางระบบและสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและท้องถิ่น เช่น

  • กรมประมง
  • สำนักงานประมงจังหวัด
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ
  • เครือข่ายเกษตรกรและเทคโนโลยีชาวบ้าน

 

เมื่อ ภูมิประเทศเอื้ออำนวย ผนวกกับ องค์ความรู้และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดระบบการผลิตปลานิลที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นแบบอย่างได้สำหรับจังหวัดอื่นในภาคอีสาน

 

ข้อเสนอ: โอกาสต่อยอดและขยายผล จาปลานิลอุบลสู่สินค้า GI

จากข้อมูลทั้งหมด อุบลราชธานีมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปอีกขั้น โดยเฉพาะการสร้าง “แบรนด์ปลานิลอุบล” หรือ “ปลานิลกระชังแม่น้ำมูล” ที่อาจนำไปสู่การยื่นขอ GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) เพื่อเพิ่มมูลค่า และแยกตัวจากปลานิลทั่วไปในตลาด

อีกทางหนึ่งคือการพัฒนาแพลตฟอร์มการขายออนไลน์เฉพาะสำหรับสินค้าประมงของอุบลฯ เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้บริโภคเมืองใหญ่ และผลักดันให้เกษตรกรฟาร์มเล็กสามารถเข้าถึงตลาดระดับภูมิภาคได้โดยตรง

 

ที่มา

  • กรมประมง
  • สำนักงานประมงจังหวัดอุบลราชธานี
  • สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี

พามาเบิ่ง🐟ทำไม? อุบล มีถึงผลผลิต ‘ปลานิล’ มากสุดในอีสาน แม้ไม่ได้มีจำนวนฟาร์มเยอะสุด🧐

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top