อุดรธานี กับบทบาทสำคัญในยุคสงครามเย็นที่ส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน

อุดรธานี กับบทบาทสำคัญในยุคสงครามเย็นที่ส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน

สงครามเย็น (พ.ศ. 2490-2534) เป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา (นำโดยฝ่ายประชาธิปไตยและทุนนิยม) และสหภาพโซเวียต (นำโดยฝ่ายคอมมิวนิสต์) เป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ การเมือง และการแย่งชิงอิทธิพลในระดับโลก โดยประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในฐานะพันธมิตรของสหรัฐฯ และพื้นที่ยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จังหวัดอุดรธานี มีความสำคัญมากในช่วงสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม เนื่องจากเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศซึ่งสหรัฐฯ ใช้เป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติการทางทหารในอินโดจีน โดยสามารถสรุปเหตุการณ์สำคัญช่วงสงครามเย็นในอุดรธานี ได้ดังต่อไปนี้

  • พ.ศ. 2488-2489 : การอพยพครั้งใหญ่ของชาวเวียดนาม

หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสและเวียดนามภายใต้การนำของโฮจิมินท์ประทุขึ้น คนเวียดนามหลายชีวิต หลบหนีการปราบจากฝรั่งเศส ข้ามฝั่งมายังชายแดนฝั่งโขงของไทย ในพื้นที่ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร(ในขณะนั้นยังคงเป็นอำเภอ) และขยายถิ่นฐานมาตั้งรกรากยังอุดรธานีและขอนแก่น

  • พ.ศ. 2497 : การเข้ามามีบทบาทของสหรัฐฯ ในอีสาน

สหรัฐฯ ภายใต้การนำของปธน. จอห์น เอฟ เคนเนดี เริ่มเข้ามามีบทบาทในการป้องกันการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งเป็นการเปิดฉากสงครามเวียดนาม ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าประเทศไทยเป็น “แนวหน้า” ของการต่อสู้กับการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายพื้นที่ในอีสาน รวมถึงอุดรธานี กลายเป็นพื้นที่สำคัญแก่กองทัพสหรัฐฯ ในการตั้งฐานทัพ

  • พ.ศ. 2497-2505: เศรษฐกิจอุดรฯ ถูกพลิกโฉม

สหรัฐฯ ได้มีการสนับสนุนงบประมาณ ในการก่อสร้างถนนมิตรภาพที่ตัดผ่านใจกลางเมืองอุดรจนแล้วเสร็จ รวมไปถึงเส้นทางรถไฟ และขยายถนนในแถบอีสานตอนบน ซึ่งวลีที่ว่า “ถนนไปที่ไหน ความเจริญไปที่นั่น” คงชัดเจนในกรณีของอุดรฯ ซึ่งเมืองอุดรในช่วงสงครามเวียดนามได้กลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพืชเศรษฐกิจ การค้า การบริการ มีคนจีนอพยพเข้ามาค้าขายมาก ส่งผลเศรษฐกิจของอุดรธานีได้เจริญเติบโตในช่วงนี้

  • พ.ศ. 2507: กำเนิด “ค่ายรามสูร”

เมืองอุดร ถูกเลือกเป็น 1 ใน 9 ที่ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในไทยเพื่อการสนับสนุนกำลังรบ และได้สร้าง “ค่ายรามสูร” เพื่อเป็นสถานีตรวจจับสัญญาณวิทยุ ฐานทัพมีทหารประจำการกว่า 8,500 คน ก่อให้เกิดการจ้างงานคนท้องที่กว่า 10,000 คนเพื่อเป็นลูกจ้างและเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ คนอุดรฯ มีการค้าขายและให้บริการกับทหารสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้เศรษฐกิจอุดรธานี ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

  • พ.ศ. 2519: สิ้นสุดสงคราม อุดรซบเซา

หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และได้ถอนกำลังทหารออกจากไทย รวมถึงในอุดรฯ ส่งผลคนท้องที่สูญเสียแหล่งรายได้จากการจ้างงานและการค้าขายกับทหารสหรัฐฯ เศรษฐกิจของจังหวัดจึงได้ซบเซาลงอย่างรวดเร็ว เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

  • พ.ศ. 2531: จาก “ฐานทัพ” สู่ “ศูนย์กลางการค้าแห่งอีสาน”

เศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานีได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง ในยุคสมัยของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ที่ได้ประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ส่งผลให้อุดรฯ ที่ใกล้กับเวียงจันทร์ กลับมาเป็นศูนย์กลางการค้าของอีสานและได้พัฒนามาจวบจนปัจจุบัน

ผลจากช่วงสงครามเย็นต่อเมืองอุดรฯในปัจุบัน

  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

โครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งในอุดรธานียังคงเป็นมรดกจากช่วงสงครามเย็น ยกตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ ถนนมิตรภาพและถนนอื่นๆ ท่าอากาศยานอุดรธานี กองบิน 23 และสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ถูกวางรากฐานมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น การได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่เนิ่นๆ ส่งผลบวกต่อการพัฒนาจังหวัดในระยะยาว

  • การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

จากเรื่องราวในอดีตที่มีการเข้ามาของกองทัพสหรัฐฯ ก็ได้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างอีสานกับชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น เพลง อาหาร และเมืองอุดรก็มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งรกราก ไม่ว่าจะเป็น จีน หรือ เวียดนาม ที่เป็นชุมชนใหญ่ในจังหวัด ก็ส่งผลให้ปัจจุบันอุดรธานี กลายเป็น “เมืองแห่งพหุวัฒนธรรม” มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา รวมไปถึงทัศนคติของคนท้องที่ที่เปิดกว้างกับชาวต่างชาติ

  • การพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดในระยะยาว

จากสภาพสังคมในอดีตของอุดรธานี นำมาสู่วิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เด่นชัด สังคมที่คุ้นเคยกับชาวต่างชาติเป็นทุนเดิม ตำแหน่งที่ตั้งของจังหวัดที่เหมาะสม ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ ส่งผลให้อุดรธานีพัฒนากลายเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งอีสาน จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่มากมายที่เข้ามา และทั้งจากชาวต่างชาติที่มาเยี่ยมเยือนมากสุดในอีสานกว่า 8 แสนคนในปี 2566 ส่งผลให้อุดรธานีได้พัฒนาสู่การเป็น 1 ใน MICE city แห่งประเทศไทย และอุดรธานีก็ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของอีสาน ดึงดูดการค้าทั้งจากลาว จีน(ยูนนาน) และเวียดนาม

 

จะเห็นได้ว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สำคัญในช่วงสงครามเย็น ส่งผลต่อการพัฒนาทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจจังหวัดอุดรธานี และทำให้อุดรธานีได้กลายมาเป็น 1 ใน Big4 แห่งอีสาน และจังหวัดสำคัญของไทย

 

หมายเหตุ: เป็นเพียงการเรียบเรียงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น มิได้เป็นการสนับสนุนการทำสงคราม เชิดชูหรือฝักใฝ่ฝ่ายใด

ที่มา:

  • บทความวิจัยเรื่อง “ความเปราะบางของครัวเรือนในเมืองอุดรธานีภายใต้บริบทการขยายตัวของเมือง”
  • The 101 World
  • True ID
  • กองบิน 23
  • Matichon Online
  • กองทุนเพื่อความเสนอมภาคทางการศึกษา
  • กรมท่าอากาศยาน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top