หนองบัวลำภู ความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม ความเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในภาคอีสาน

หนองบัวลำภู ความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม ความเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในภาคอีสาน

หากพูดถึงเศรษฐกิจ ย่อมมีทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ดี และไม่ดีแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมา อีสาน อินไซต์ นำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่ดีในหลายด้านของแต่ละจังหวัด แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ว่ายังมีคนจน กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย โดย รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 เปิดเผย จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน พัทลุง สตูล หนองบัวลำภู ตาก ประจวบครีรีขันธ์ ยะลา และตรัง

วันนี้ ISAN Insight and Outlook สิพามาวิเคราะห์เบิ่ง สถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวของประชากร หนองบัวลำภู ดังนี้

1. หนองบัวลำภู จังหวัดเล็กๆแห่งอีสานตอนบน มีประชากร 507,021 คน มีขนาดพื้นที่ ประมาณ 3,859 ตารางกิโลเมตร (2.4 ล้านไร่) ประกอบด้วย 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู อำเภอนากลาง อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอสุวรรคูหา อำเภอโนนสัง และอำเภอนาวัง มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่น ดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดอุดรธานี
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดขอนแก่น
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดเลย

2. แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดหนองบัวลำภูมีความโดดเด่นในเชิงธรรมะที่ผสานกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว ยกตัวอย่างเช่น ถ้ำเอราวัณ เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่อันเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อพระพุทธชัยศรีมุนีศรีโลกนาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง อีกหนึ่งสถานที่เชิงธรรมมะที่ถือว่าเป็น unseen ของจังหวัดที่ควรค่าแก่การไปเยือนเมื่อไปหนองบัวลำภูคือ ถ้ำผาเจาะ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่
โดยถ้ำแห่งนี้มีทิวทัศน์ที่งดงามทั้งในถ้ำและนอกถ้ำ

3. ในด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ในปี 2565 จังหวัดหนองบัวลำภูมีขนาดเศรษฐกิจของจังหวัด(GPP) อยู่ที่ 31,696 ล้านบาท และรายได้ต่อหัวของจังหวัดอยู่ที่ 67,363 บาท โดยโครงสร้างเศรษฐกิจของหนองบัวลำภู เป็นดังนี้
– ภาคการบริการ คิดเป็น 42% ของ GPP
– ภาคการผลิต คิดเป็น 22% ของ GPP
– ภาคการเกษตร คิดเป็น 21% ของ GPP
– ภาคการค้า คิดเป็น 15% ของ GPP

ภาคการเกษตรเป็นส่วนที่สำคัญของหนองบัวลำภู จากการที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น 1,686,938 ล้านไร่ หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของพื้นที่ทั้งหมด ตัวอย่างพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เช่น ข้าวนาปี ที่มีพื้นที่เพาะปลูก 43% ของพื้นที่ทำการเกษตร และมีจำนวนเกษตรกรมากกว่า 75,000 ครัวเรือน รองลงมาคือ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลังโรงงาน ยางพารา

ด้านธุรกิจ ในปี 2566 หนองบัวลำภูมีจำนวนผู้ประกอบการทั้งสิ้น 16,938 ล้านราย มีรายได้รวม 34,435.4 ล้านบาท โดยหนองบัวลำภู โดดเด่นในเรื่องการผลิตน้ำตาลไม่แพ้จังหวัดใกล้เคียง มีโรงงานน้ำตาลที่มีรายได้รวมสูงที่สุดในภาคอย่าง “บจก. น้ำตาล เอราวัณ” ซึ่งมีรายได้รวมในปี 2565 จำนวน 7,441 ล้านบาท และกำไร 599 ล้านบาท

4. หนึ่งในจุดเด่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้ของหนองบัวลำภูคือ สโมสรฟุตบอลอย่าง “หนองบัวพิชญ เอฟซี” สโมสรฟุตบอลประจำจังหวัดที่โดดเด่นระดับประเทศ โดยสโมสรตั้งอยู่ที่ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดยมีนายสุเทพ ภู่มงคลสุริยา เป็นประธานสโมสร ในด้านของความสำเร็จ สโมสรหนองบัวพิชญ เคยเป็นแชมป์ไทยลีก 2 จำนวน 1 สมัย ในฤดูกาล 2020-2021 ซึ่งปัจจุบัน หนองบัวพิชญ เอฟซีเป็น 1 ใน 4 สโมสรฟุตบอลจากภาคอีสานที่โลดแล่นในลีกสูงสุดของประเทศอย่างไทยลีก

5. แม้จะมีพื้นที่ติดกับจังหวัดใหญ่อย่าง ขอนแก่น และอุดรธานี และเลย แต่หากมาดูในด้านของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หนองบัวลำภูก็ถือว่าด้อยกว่าจังหวัดเหล่าอื่นๆพอสมควร โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่มูลค่า GRP ของจังหวัดเป็นอันดับ 18 จาก 20 ของภาคอีสาน และรายได้ต่อหัวของคนหนองบัวลำภูต่ำก็ต่ำที่สุดของภาคและรั้งท้ายมาตลอด 20 ปี และจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและครัวเรือน (SES) ได้เปิดเผยว่าหนองบัวลำภูเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนมากที่สุดในจังหวัดติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี โดยในปี 2566 อยู่ที่ลำดับที่ 6 ของประเทศและอันดับที่ 1 ของภาค ซึ่งมีสัดส่วนคนจน 9.61%ต่อทั้งจังหวัด นอกจากนั้น หนี้สินของครัวเรือนของหนองบัวลำภูก็สูงเป็นอันดับ 4 ของภาค ดังนั้น มาลองดูกันว่าอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจจังหวัดนี้เติบโตต่ำ

เหตุผลแรกคือ หนองบัวลำภูเป็นจังหวัดที่เพิ่งได้รับการก่อตั้งในปี พ.ศ. 2536 มีอายุ 31 ปีในปี 2567 ซึ่งถือว่าอายุน้อยกว่าจังหวัดข้างเคียงมาก ทำให้ขนาดเศรษฐกิจยังไม่ใหญ่ รายได้ต่อหัวคนในจังหวัดจึงไม่สูง รวมไปถึงปัจจัยขนาดพื้นที่ที่ไม่ใหญ่ และภูมิศาสตร์จังหวัดที่มีลักษณะเป็น “Landlocked” หรือมีพื้นที่ที่ถูกล้อมรอบด้วยถูกล้อมรอบด้วยพื้นดิน ซึ่งหนองบัวลำภูถูกล้อมรอบด้วยจังหวัดใหญ่ๆและโดดเด่น คือ ขอนแก่น อุดรธานี และเลย ส่งผลให้หนองบัวลำภูดูน่าดึงดูดในการท่องเที่ยวและลงทุนน้อยกว่าจังหวัดโดยรอบ นอกจากนั้นหนองบัวลำภูยังไม่เป็น “ทางผ่าน” ที่เมื่อเดินทางจากจังหวัดหลักอย่างขอนแก่น ไม่ว่าจากขอนแก่นไปอุดรธานี หรือขอนแก่นไปภาคกลางตอนบนอย่างเพชรบูรณ์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านหนองบัวลำภูเลย ด้วยเหตุนี้ ส่งผลทำให้หนองบัวลำภูขาดโอกาสในการลงทุนภาครัฐภาคการคมนาคม

อีกเหตุผลสำคัญคือความไม่สมดุลของรายได้ภาคการเกษตร โดยพื้นที่กว่า 70% ของจังหวัด ถูกใช้ไปเพื่อการทำการเกษตร อย่างไรก็ตามมูลค่าภาคเกษตรกลับคิดเป็นเพียง 21% ของขนาดเศรษฐกิจ รองจากภาคการบริการและภาคการผลิต แสดงให้เห็นว่าการทำการเกษตรของหนองบัวลำภูอาจจะขาดความคุ้มค่า  โดยพืชเกษตรที่ปลูกส่วนใหญ่คือ ข้าว และ อ้อยโรงงาน ซึ่งเป็นพืชล้มลุกที่ราคาต่ำกว่าพืชเกษตรชนิดอื่น เช่น ยางพารา จากการที่ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่งผลทำให้รายได้ต่อหัวของคนต่ำและหนี้ครัวเรือนที่สูง ส่งผลโดยตรงทำให้อุปสงค์และการบริโภคต่ำ และก็ส่งผลทางอ้อมต่อการเข้ามาลงทุนในจังหวัดที่น้อยจากทั้งภาครัฐและเอกชน

แม้ว่าหนองบัวลำภูจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นในเชิงธรรมะและธรรมชาติ อย่างไรก็ตามจากสถิติผู้เยี่ยมเยือนปี 2567 (ม.ค.- ก.ย.) หนองบัวลำภูมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือน 272,205 คน หรืออันดับ 19 จาก 20 จังหวัดในอีสาน คิดเป็นรายได้เพียงประมาณ 305 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดไม่เป็นที่นิยมอาจจะมาจากการที่แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอื่นโดยรอบ เช่น เลย หรือ อุดรฯ ที่โดดเด่นมากกว่า ทำให้คนเลือกที่จะไปมากกว่าหนองบัวลำภู นอกจากนั้นหนองบัวลำภูยังขาดความเป็น “หมุดหมายของการเดินทาง” ของผู้คน ผนวกกับที่จังหวัดไม่ได้เป็นทางผ่านอยู่แล้ว จึงส่งผลให้อัตราการเยี่ยมเยือนต่ำ ซึ่งการที่การท่องเที่ยวของหนองบัวลำภูที่ไม่เป็นที่นิยมย่อมส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยตรง โดยเฉพาะรายได้ภาคการค้าและบริการ ทำให้ภาคการค้าและบริการต้องพึ่งพาอุปสงค์ภายในจังหวัด ที่ไม่ได้สูงมากอยู่แล้ว

6. แม้หนองบัวลำภู จะมีความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม แต่หนองบัวลำภู ก็ยังมีโอกาสจะหลุดออกจากกับดักความจนและหนี้สูง โดย ISAN Insight and Outlook สรุปข้อเสนอแนะ ไว้ดังนี้
– สัดส่วนประชากรเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ที่มากหากเทียบกับจังหวัดอื่น ด้วยเหตุนี้ในอนาคต การบริโภคของจังหวัดยังคงดูมีประสิทธิภาพอยู่
– การปรับเปลี่ยนแนวทางในการทำเกษตร จากเกษตรเชิงเดี่ยวให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องให้ความร่วมมือมาก ทั้งในด้านการส่งเสริม พัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำการตลาด หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนหรือมอบโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงานหรือแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม
– ด้วยเหตุที่ หนองบัวลำภู ไม่ใช่ทางผ่านของถนนเส้นหลักของอีสาน จึงต้องทำให้จังหวัดกลายเป็น “หมุดหมายของการเดินทาง” ไม่ใช่เพียงแค่ผ่าน แต่ต้องเป็นจุดหมายของการเดินทางของผู้คน การทำให้จังหวัดมีจุดหมายสำคัญที่จะไปเยือนเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการค้าและบริการ ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของภาครัฐและการร่วมมือจากภาคเอกชน โดยอาจจะทำได้โดยการเชิดชูประเพณีในจังหวัดที่ “แตกต่าง” จากจังหวัดใกล้เคียง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและธรรมชาติอันเป็นจุดแข็ง นอกจากนั้นยังส่งเสริมสิ่งที่เป็นกระแส เช่น สนับสนุนให้มีการจัดคอนเสิร์ตใหญ่ระดับประเทศในพื้นที่จังหวัด

ถึงกระนั้นแล้วการลงทุนจากภาครัฐที่ให้ความสำคัญแก่จังหวัดอื่นๆ มากกว่า ก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายการพัฒนาจังหวัดหนองบัวลำภูต่อไป

 

-สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-สำนักงานสถิติแห่งชาติ
-สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองบัวลำภู
-สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-ballthai.com
-True ID

 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top