🇹🇭🌏Soft Power แบบไทยๆ แข็งก่อน ค่อยอ่อนไหม?
📃โดย นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
ผมเข้าใจว่ากระแส #softpower ในประเทศไทยได้ถูกปลุกขึ้นเมื่อสัก 2 ปีก่อน โดยนักร้องมิลลิได้โชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงในงานแสดงคอนเสิร์ตจนกลายเป็นไวรัลไปทั่ว จนปัจจุบันคำว่า “soft power” กลายเป็นคำฮิต ติดเทรนด์ การผลักดัน soft power เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลแสดงความตั้งใจถึงกับตั้งคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนด้านนี้โดยเฉพาะ ด้วยความเชื่อที่ว่าการเผยแพร่คุณค่าแบบไทยให้รู้จักในสากล จะช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกและความน่าดึงดูดใจให้แก่ประเทศ จนสุดท้ายการผลักดัน soft power ให้กระจายไปทั่วโลกจะเป็นเครื่องจักรช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง หลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาต่างตอบรับนโยบายนี้ มีการจัดอีเว้นท์ภายใต้ชื่อ soft power มากมาย ซึ่งแรงจูงใจในการร่วมขบวนนโยบายนี้คงมีหลากหลาย บางคนอาจร่วมด้วยความชอบพอทางการเมืองหรือมีผลประโยชน์ได้เกาะเกี่ยวกับผู้มีอำนาจกันไป บางคนอาจร่วมด้วยเพราะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจบางอย่าง บางคนก็ร่วมด้วยความจำเป็นเพราะถูกบังคับให้ทำ บางคนอาจร่วมด้วยอย่างน้ำใสใจจริงเพราะเชื่ออย่างใจจริงว่า soft power มีความจำเป็นจริงๆในการขับเคลื่อนประเทศ
ภาพ MILLI ศิลปินหญิงเดี่ยวไทยรายแรกบนเวที เทศกาลโคเชลลา กับการกิน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ แซะรัฐบาล
.
ใครจะร่วมแบบไหน ด้วยแรงจูงใจอย่างไรผมคงไม่พูดถึงเพราะยากที่จะหยั่งถึงใจคน แต่ประเด็นที่อยากชวนให้คิดในวันนี้คือ ท่ามกลางกระแส #softpower ที่เอ่อล้นไปทางเดียว ราวกับว่าทุกๆคนเห็นดีเห็นงามกับมันไปด้วยนี้ พวกเราได้ลืมฉุกคิดถึงอะไรบางอย่างไปหรือไม่ ข้อเขียนตรงนี้จึงเหมือนเป็นการรวบรวมข้อสังเกตบางประการที่ผมได้เฝ้ามองความเป็นไปของ soft power มาจนถึงตอนนี้
.
📌ประเด็นแรก soft power ตามความหมายตั้งต้นที่น่าจะทราบทั่วกันคือ “ความสามารถสร้างอิทธิพลต่อผู้อื่นและทำให้ได้รับผลลัพธ์ที่ต้องการ ด้วยการดึงดูดและจูงใจ ไม่ใช่ด้วยกำลังบังคับหรือใช้เงินซื้อ” ดังนั้นปฏิบัติการ soft power จึงต้องตั้งอยู่บินการใช้ “อำนาจยินยอม” (consent power) และหนึ่งในอำนาจยินยอมก็คือการชักจูงด้วยวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เข้าใจผิดและพบเห็นมากคือ เรามักพูดถึง “สินค้าวัฒนธรรม” ราวกับว่ามันเป็น soft power ในตัวเอง ซึ่งไม่จริง สินค้าวัฒนธรรมอาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ soft power ได้ แต่ตัวมันเองไม่ได้เป็น soft power เสมอไป บางสินค้าทางวัฒนธรรมที่ฮิตก็อาจจะมีความ exotic บางอย่างทำให้คนตื่นตา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสร้างพลัง soft power ได้
ภาพ : ลำดับขั้นสู่การผลักดันจากสินค้าในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่การเป็น Soft Power
.
📌ประเด็นที่สอง คณะทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการอ้าง Joseph Nye เรื่ององค์ประกอบที่จำเป็น และความหมายที่เปลี่ยนแปลงและเติบโตได้ของ soft power (จำได้ว่าคุณแพรทองธารก็เคยพูดถึง) ตรงนี้ไม่ผิด แต่สิ่งที่ Nye เน้นตลอดคือ soft power มันไม่ใช่ normative concept ที่เลื่อนไหลไปเรื่อย หรือเป็นการใช้เพื่อแสดงถึงอุดมคติว่าแบบนั้นดี แบบนั้นงาม มันควรเป็นแบบนี้หรือแบบนั้น ฯลฯ คุณสมบัติของแก่นแกน soft power ผูกโยงกับการใช้อำนาจ ดังนั้นจึงไม่ได้เกี่ยวกับด้านที่น่าปรารถนาอย่างเดียว เพราะอีกด้านหนึ่ง คนมั่วๆชั่วๆ ก็สามารถใช้ soft power ได้เช่นกันเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายและผลลัพธ์บางอย่าง ผมจึงไม่แน่ใจว่าการใช้ soft power โดยโยงใยไปสู่เป้าหมายอุดมคติเรื่องเศรษฐกิจก้าวหน้าและสร้างสรรค์โดยฝ่ายการเมือง โดยมีเหล่านักธุรกิจและนักวิชาการตอบรับอย่างล้นหลาม มันดูเหมือนเป็นการป้ายด้านความปรารถนาที่เกินจริงไป และไม่ช่วยให้เกิดความรู้เท่าทัน soft power อย่างที่ควรเป็น
.
📌ประเด็นที่สาม Nye ยอมรับว่า soft power ไม่ใช่แนวคิดใหม่เอี่ยมอ่อง เพราะสามารถเชื่อมโยงกับความคิดของนักปรัชญาการเมืองรุ่นก่อน เท่าที่ผมลองค้นๆก็มีงานวิชาการออกมาเรื่อยที่แสดงความเข้ากันของ soft-power กับแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองอื่นๆ เช่น แนวคิดของ Antonio Gramsci ในเรื่องอำนาจยิมยอม จนมาถูกใช้ในการวิเคราะห์การแสวงอำนาจนำ (hegemony) ในระดับของการเมืองระหว่างประเทศโดย Robert Cox ดังนั้นหากจริงจังเสียหน่อยในทางแนวคิด soft power จึงไม่ใช่แค่การสร้างคุณค่าและภาพลักษณ์ให้คนชื่นชมและยอมรับลอยๆ กลไกของ soft power ที่ไปจนตลอดรอดฝั่งต้องมีผลให้เกิดการเปลี่ยนสถานะหรือตำแหน่งทางการเมือง หรือการเปลี่ยนแปลงอันดับของผู้ใช้ในสนามทางวัฒนธรรม (field) ที่ผู้ใช้ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง การผลักดัน soft power ต้องเป็นการใช้อำนาจอ่อนบนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง และการระหว่างประเทศบน domain หนึ่งๆ เพื่อชักจูงให้ สมาชิกใน domain นั้นๆ เกิดการยอมรับ และนำไปสู่การจัดระเบียบของตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองของผู้ใช่อำนาจในกิจกรรมนั้นๆอย่างเจาะจง ตัวอย่าง เช่น เมื่อก่อนประเทศญี่ปุ่นฟุตบอลแย่มาก แต่ต่อมาก็พัฒนาวงการฟุตบอลอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งก็เป็นพลังของมังงะ (manga) ในการสร้างสรรค์จินตนาการ ผลักดันให้ผู้คนกล้าใฝ่ฝันจน ปัจจุบันกลายเป็นขาประจำในฟุตบอลโลก
.
📌ตรงนี้มันโยงมาประเด็นที่สี่อีก คือ soft power ไม่อาจทำได้ถ้าไม่มี hardware ที่ดี การที่ญี่ปุ่นมีวงการฟุตบอลพัฒนาอย่างมาก ใช่ มันเป็นเรื่อง soft power แต่มันก็เป็นเรื่องของ hardware ที่แข็งแรงด้วย คือ ประเทศต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมให้ภาคส่วนที่ต้องการเกิดความก้าวหน้า ฟุตบอลดีได้ไม่ใช่แค่เพราะมีคนเขียนการ์ตูนให้คนอ่านแล้วคึกแล้วจะเตะบอลเก่งขึ้นเอง แต่ ecosystem การสร้างระบบความเป็นมืออาชีพ การสร้างมาตรฐานเรื่องโค้ช ทีม สนามแข่ง โครงการอคาเดมี่ต่างๆที่เสาะหาเด็กๆมาสู่ลีคอาชีพ สร้างโค้ชขึ้นทั่วประเทศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มันต้องไปพร้อมกับกระบวนการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม จริงๆผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องฟุตบอลนัก แต่เชื่อว่ามันต้องมีพื้นฐาน hardware พวกนี้เป็นที่ตั้งนั่นล่ะ เพื่อให้เกิดการปรับเส้นทางการพัฒนาบน domain ที่ผู้ใช้ต้องการ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับในวงการที่ผู้ใช้เกี่ยวข้อง ซึ่งตัวอย่างที่พูดมานี้ก็เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงอันดับในฟีฟ่าของญี่ปุ่น และสถานภาพของวัฒนธรรมมังงะ (manga culture) ที่พูดได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้น เข้มแข็ง ประเทศที่มี soft power โดดเด่น มักจะมี hardware แข็งแรงประกอบเสมอ (หรือถ้าไม่มีตรงนี้ก็จะมีปัจจัยอื่นๆ มาประกอบ เพื่อชดเชย เช่น แบบจีนและอินเดียที่มีมรดกประวัติศาสตร์ยาวนาน หรือ พลังประชากรอันมากล้นช่วย) ซึ่งคำอธิบายตรงนี้ก็เป็นการช่วยขยายความประเด็นแรกที่ว่าลำพังแค่การโปรโมทสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง หมอลำ ผ้าไทย เยาวราชลิซ่า อาหารไทย หรือ เหล้าพื้นบ้านไทย มันก็ไม่อาจไปบรรลุเป้าหมายของ soft power ได้ หากเงื่อนไขที่เป็น หรือ hardware ต่างๆ ไม่อำนวยที่จะส่งเสริมการแข่งขันในระดับโลก (กฎระเบียบทางเศรษฐกิจ การส่งเสริมเทคโนโลยี การส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ) ซึ่งสุดท้ายมันก็ไม่ได้ทำให้ประเทศเราเปลี่ยนแปลงสถานะในวงการนั้นๆ
บทความจาก WABIZ รู้รอบทิศ ธุรกิจญี่ปุ่น เจาะตลาดคาแรคเตอร์ญี่ปุ่น ซอฟพาวเวอร์เขย่าโลก
.
📌ประการสุดท้าย ผมคิดว่านโยบาย 1 ครัวเรือน 1 soft power นี่ตลกมาก เพราะมันเป็นการทำให้ soft power เป็นเรื่องเชิงปัจเจก ทั้งๆที่การสร้างมูลค่าให้งานสร้างสรรค์และวัฒนธรรมนั้น มันเป็นเรื่องที่ผู้คนในชุมชนต้องมีปฏิสัมพันธ์และกิจกรรมร่วมกัน นโยบายนี้ดูไปก็คล้ายรายการไมค์ทองคำ ไมค์ปลดหนี้ กลายเป็นเรื่องของการแสดงโชว์ทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการหลุดพ้นเชิงปัจเจก ไม่ใช่การยกระดับโครงสร้างการสร้างสรรค์ของภาคส่วนนั้นทั้งระบบ
.
ภายใต้เงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ Soft Power จึงเป็นนโยบายที่ต้องใช้เวลา ประเทศที่มีความสำเร็จในการส่งผ่านวัฒนธรรมไปทั่วโลกอย่างกลมกลืน ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี หรือ อังกฤษ ใช้เวลาเป็นหลายสิบปีกว่าจะเกิดผล ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประกายไฟให้ตื่นตาเพียงชั่วครู่ จนอาจเป็นได้เพียงแค่ Buzzword ตามยุคสมัยทางการเมือง แต่ไม่ได้เกิดเพื่อเป็นการพัฒนาระยะยาวอย่างแท้จริง
.
บทความ: โดย นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบทความ และได้มีการตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2567
ภาพประกอบ: กองบรรณาธิการ ISAN Insight and Outlook
.
.
#SoftPower #IsanSoftPower #อีสานซอฟต์พาวเวอร์ #ซอฟต์พาวเวอร์ #ISANInsight