สิพามาเจาะลึก ศูนย์รวมผ้าไหม จ.ขอนแก่น ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท และ ผ้าลายแคนแก่นคูน

สิพามาเจาะลึก ศูนย์รวมผ้าไหม จ.ขอนแก่น

ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท และ ผ้าลายแคนแก่นคูน

 

ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท ประวัติ   “ชนบท” เป็นเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน มีการตั้งเป็นเมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2326 โดยกวนเมืองแสน สมุหกลาโหมแห่งเมืองสุวรรณภูมิ พาสมัครพรรคพวกอพยพหนีออกจากเมือง สุวรรณภูมิ แคว้นจำปาสัก ในประเทศลาว มาตั้งเมืองที่บ้านหนองกองแก้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2335 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหนองกองแก้วขึ้นเป็นเมือง พระราชทานนามว่า “ชลบถพิบูลย์” ซึ่งแปลว่าทางน้ำหรือเมืองที่มีน้ำล้อมรอบ และตั้งท้าวคำพาวเป็นเจ้าเมือง ตำแหน่งพระจันตะประเทศ จากนั้นได้มีการจัดเขตการปกครองและเมืองชนบทได้ถูกยุบรวมหลายครั้ง จากอำเภอเป็นตำบล ขึ้นกับอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2509 ทางราชการจึงได้ตั้งเมืองชนบทขึ้นเป็นอำเภออีกครั้งหนึ่ง ในชื่อ “ชนบท” จนถึงปัจจุบัน

 

ชาวชนบทมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทุกครัวเรือนจะมีที่ดินทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ นอกจากอาชีพทำนาแล้ว ก็มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย เพื่อนำเส้นไหมและฝ้ายมาทอเป็นผืนผ้า ดังคำกล่าวที่ว่า “ยามว่างจากนา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน” ในอดีตที่ผ่านมา การทอผ้าถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้หญิงชาวอีสาน เพราะจะต้องทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน ผู้หญิงอีสานต้องเรียนรู้และฝึกหัดการทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ดังคำผญาที่สอนสตรีชาวอีสานว่า “ทอหูกบ่เป็นแจ ทอแพรบ่เป็นฝาต้อน เลี้ยงม่อนบ่ฮู้โตลุกโตนอน อย่าฟ้าววอนเอาผัว” การทอผ้าเพื่อใช้ในครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงอีสานจะต้องเรียนรู้และฝึกหัด โดยเริ่มจากผู้เป็นแม่ได้ถ่ายทอดความรู้และเทคนิควิธีการทอผ้าให้ลูกหลาน สืบทอดกันมาไม่ขาดสาย ผ้าไหมที่ทอได้ นิยมสวมใส่ไปทำบุญที่วัด หรือในงานพิธีและงานมงคลต่างๆ รวมทั้งเก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน

 

อำเภอชนบท เริ่มมีการทอผ้ามาตั้งแต่เมื่อไร ไม่สามารถสืบประวัติได้ แต่มีหลักฐานสำคัญคือ ผ้าไหมมัดหมี่หน้านาง หรือผ้าปูม อายุ กว่า 220 ปี ที่เจ้าเมืองชนบทคนแรกได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โดยทายาทของเจ้าเมืองเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งต่อมา คนชนบทได้นำมาเป็นต้นแบบในการทอผ้าไหมมัดหมี่หน้านาง ที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผ้าไหมชนบทในปัจจุบัน จึงสันนิษฐานว่าการทอผ้าของอำเภอชนบทน่าจะมีมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี หรืออาจจะมีมาตั้งแต่เริ่มตั้งเมืองชนบท คือ ประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว

 

ผ้าที่ทอด้วยมือที่มีชื่อเสียงที่สุดของอำเภอชนบท ได้แก่ “ผ้าไหมมัดหมี่” โดยมีขั้นตอนเริ่มจากการคัดเลือกเส้นไหม การออกแบบลายหมี่ การให้สี การทอเป็นผืนผ้า ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ผ้าไหมชนบทมีจุดเด่นคือ มีความสวยงาม ลวดลายละเอียดแตกต่างจากที่อื่น

 

เอกลักษณ์ของผ้าไหมชนบท คือ “ลาย”และ “เทคนิคการทอผ้า” ลายเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาและถือว่าเป็นลายต้นแบบและเป็นลายเก่าแก่ของผ้าเมืองขอนแก่น คือ ลายหมี่กง ลายขันหมากเบ็ง ลายขอพระเทพหรือลายเชิงเทียน โดยส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะเป็นการทอผ้าแบบ 3 ตะกอ ทำให้เนื้อผ้าแน่น สม่ำเสมอ มีลักษณะสีและลวดลายของผ้าด้านหนึ่งสีทึบกว่าอีกด้าน สีที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมคือ สีม่วง สีแดง สีเขียว สีเม็ดมะขาม

 

 ลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ชนบทลวดลายดั้งเดิม เป็นลวดลายที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ใช้วิธีการมัดหมี่และทอแบบดั้งเดิม อาจเปลี่ยนแปลงสีสันได้ตามความต้องการ ลายดั้งเดิมลายขนาดเล็ก ได้แก่ ลายกง ลายโคม ลายหมากจับ ลายปลาซิว ลายดอกแก้วน้อย ลายดั้งเดิมลายขนาดกลาง ได้แก่ ลายแมงมุม ลายกนกเชิงเทียน ลายขอพระเทพ ลายขันหมากเบ็ง ลายต้นสน ลายขาเปียน้อย ลายตำลึงเครือ ลายดั้งเดิมลายใหญ่ ได้แก่ ลายนาคเกี้ยว ลายขอเกี้ยว ลายสำเภาหลงเกาะ ลายต้นสนใหญ่ ลายนกยูง เป็นต้น

 

ผ้าลายแคนแก่นคูน

ลาย “แคน” หมายถึง สัญลักษณ์แทนความเจริญและสนุกสนาน เมืองแห่งหมอแคน ความสุขของชาวขอนแก่น

ลาย “ดอกคูน” หมายถึง สัญลักษณ์ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำ จังหวัดขอนแก่น 

ลาย “พานบายศรี” หมายถึง ความมีมิตรภาพ ประเพณีการผูกเสี่ยว และการยินดีต้อนรับผู้มาเยือนของประชาชนชาวขอนแก่น

ลาย “ขอ” หมายถึง สัญลักษณ์แทนความอยู่ดีกินดีความอุดมสมบูรณ์ของประชาชนชาวขอนแก่น

ลาย “โคม” หมายถึง การสืบทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรมของชาวขอนแก่น

ลาย “กง” หมายถึง อาณาเขต บริเวณที่ได้รับการอารักขาให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจตลอดไป

ลาย “บักจับหรือหมากจับ” หมายถึง ความรัก ความสามัคคีความเป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกันของประชาชนชาวขอนแก่น

 

ลักษณะเฉพาะของผ้ามัดหมี่อยู่ที่รอยซึมของสีที่วิ่งไปตามบริเวณของลวดลายที่ถูกมัด โดยผ้ามัดหมี่แต่ละชิ้นนั้นจะไม่มีการซํ้ากัน ถึงแม้ว่าจะมีสีสันลวดลายเดิมวางไว้เป็นตัวอย่างก็ตาม ทั้งนี้เพราะว่าทุกขั้นตอนล้วนเกิดจากนํ้ามือของคนทั้งสิ้น เสน่ห์ของผ้ามัดหมี่ในแต่ละชิ้นก็คือ “ความเป็นชิ้นเดียวในโลก” นั่นเอง โดยช่างทอจะใช้เวลาว่างจากการทำ นาและการเก็บเกี่ยวมาทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน หรือทอผ้าเอาไว้ใช้ในงานประเพณีต่าง ๆ ลวดลายส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

 

กระบวนการทำผ้ามัดหมี่นั้น ในขั้นตอนการสร้างลวดลายต้องนำ เส้นไหมมาย้อมสีตามที่ออกแบบไว้ จากนั้นใช้เชือกฟางมัดเก็บสีที่ต้องการไว้ แล้วย้อมทับด้วยสีอื่น ๆ ต่อไปจนครบทุกสีตามลวดลายที่ต้องการ ถ้าสีที่จะย้อมทับเป็นสีคนละโทนกับสีเดิมต้องล้างหรือฟอกขาวให้สีเดิมหลุดออกก่อน เมื่อย้อมสีตามลวดลายที่ต้องการจนครบ จึงย้อมสีพื้นเป็นสีสุดท้าย แล้วจึงแกะเชือกฟางทั้งหมดออก นำ เส้นไหมไปกรอเข้าหลอดโดยต้องระมัดระวังเรียงลำดับให้ถูกต้องเพื่อเตรียมเป็นเส้นพุ่งในการทอ การทอเริ่มจากกระสวยเส้นพุ่งหลอดแรกเรียงตามลำ ดับจนถึงหลอดสุดท้าย ซึ่งต้องใช้ความละเอียดลออและพิถีพิถันมากเพื่อให้ลวดลายที่กำ หนดตรงกับดอกลายที่มัดไว้ จึงจะได้ผ้าไหมที่มีลวดลายและสีสันสวยงามตามที่ต้องการ กลวิธีการทอผ้ามัดหมี่เป็นภูมิปัญญาด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิมที่ต้องอาศัยทักษะเชิงช่างชั้นสูงนับว่าเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่ายิ่ง

 

อ้างอิงจาก:

สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย

 

ติดตาม ISAN Insight & Outlook ได้ที่

Instagram : https://www.instagram.com/isan.insight.and.outlook/

Website : https://isaninsight.kku.ac.th

Youtube : https://youtube.com/@ISANInsightOutlook

 

#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อีสานอินไซต์ #ขอนแก่น #ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท #ผ้าลายแคนแก่นคูน

Leave a Comment

Your email address will not be published.

Scroll to Top