หนี้สินกับความกังวลของคนอีสานเป็นจั้งใด๋ ?
มาเบิ่งคำตอบได้ใน
งานวิจัยความสัมพันธ์ของระบบเศรษฐกิจชุมชนกับทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวาพร ฟองทอง และคณะ
สำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 4 พื้นที่ โดยใช้กลุ่มตัวแทน
ครัวเรือนใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบตามสะดวก จำนวนทั้งสิ้น 1,067 ครัวเรือน ประกอบด้วย
จ.ขอนแก่น จำนวน 406 ครัวเรือน
จ.มหาสารคาม จำนวน 113 ครัวเรือน
จ.อุดรธานี จำนวน 277 ครัวเรือน
จ.นครราชสีมา จำนวน 271 ครัวเรือน
จากการสำรวจพบว่า สัดส่วนรายจ่ายของครัวเรือนหมุนเวียนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะรายจ่าย ด้านค่าอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคในครัวเรือน กิจกรรมทางศาสนา (เงินทำบุญ/ซองผ้าป่า) รวมไปถึงค่าซื้อสลากกินแบ่ง/หวย/การพนันอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มากกว่า 90 % โดยในพื้นที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ รวมไปถึง โรงพยาบาล
ซึ่งทางด้านค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษาเกิดขึ้นทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ไม่ต่างกันมาก ในบางครัวเรือน จะให้บุตรหลานเข้าเรียนระดับประถมศึกษาโรงเรียนในพื้นที่ และเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาในตัวอำเภอหรือโรงเรียนนอกพื้นที่ เนื่องจากโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษามักกระจุกตัวในตัวอำเภอและเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเขตพื้นที่นั้น ๆ
ทางด้านหนี้สินกับความกังวลของครัวเรือนในพื้นที่ จ.อุดรธานี และ จ.นครราชสีมา ที่มีความกังวลหนี้สินที่นำมาลงทุนด้านการเกษตร จากการสัมภาษณ์บางครัวเรือนให้เหตุผลว่า ที่มีความกังวลเนื่องจาก “ผลผลิตไม่เป็นไปตามคาด ไหนจะแล้งบ้าง น้ำท่วมข้าวบ้าง” “ราคาผลผลิตตกต่ำ” “ต้นทุนพวกน้ำมัน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงแพง ขายข้าวได้ก็ไม่พอที่จะใช้หนี้”
ในขณะที่ครัวเรือนที่มีความกังวลด้านหนี้สินที่กู้ยืมเพื่อมาใช้จ่ายในครัวเรือนทั่วไป ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.มหาสารคาม ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว หลายครัวเรือนให้เหตุผลว่า “บางช่วงที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายทำให้ต้องกู้ยืมมาเพื่อมาใช้จ่ายในแต่ละวัน” บางครัวเรือนกู้นอกระบบทำให้มีความกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนอกระบบสูงกว่าในระบบมาก แต่ด้วยความจำเป็นทำให้ต้องกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อวัน
อ้างอิงจาก:
งานวิจัยความสัมพันธ์ของระบบเศรษฐกิจชุมชนกับทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวาพร ฟองทอง และคณะ
สนับสนุนโดย
สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
#ISANInsightAndOutlook #อีสาน #อีสานอินไซต์ #ขอนแก่น #มหาสารคาม #อุดรธานี #นครราชสีมา#มข #เศรษฐศาสตร์มข #สสส